อีคิวกับวัยรุ่น


สื่อการเรียนรู้...มศว มศวกับสังคม เปิดโอกาศให้คนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

อีคิวกับวัยรุ่น ที่มาจาก มศว โลกทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ตุลาคม - พฤศจิกายน 2546 

 อีคิว เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นความฉลาดทางอารมณ์ คนที่มีอีคิวสูงจะเป็นคนที่รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง ดูแลอารมณ์ตนเองได้ดี เข้าใจอารมณ์ผู้อื่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น อีกทั้งสามารถจูงใจตนให้ทำงานจนสำเร็จได้ ทำให้คนมีอีคิวสูงเป็นคนที่ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ คบหากับผู้อื่นได้ดีและทำงานได้สำเร็จ
           เมื่อความหมายของอีคิวเป็นดังที่กล่าวมา จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า แล้วเรื่องอีคิวจะไม่ขัดกับลักษณะของวัยรุ่นหรือที่เรามักเชื่อกันว่า วัยรุ่นมีอารมณ์ที่รุนแรงเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ยับยั้งอารมณ์ตนเองได้ยาก ซึ่ง อดคล้องกับผลการสำรวจที่ว่า ในบรรดากลุ่มชนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในเกือบทุกประเทศอยู่ในวัย 15-24 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้น วัยรุ่นก็จะเป็นกลุ่มที่มีอีคิวต่ำใช่หรือไม่ จากการศึกษาวัยรุ่นในหลายด้าน พบว่า วัยรุ่นไม่ใช่วัยที่ใช้แต่อารมณ์ ขาดเหตุผลดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นวัยที่สามารถคิดอย่างผู้ใหญ่ คิดอย่างมีเหตุผลและคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ ถ้าเช่นนั้นเราน่าจะมาทำความเข้าใจในตัววัยรุ่นกันอย่างถ่องแท้ตามหลักวิชาการ แทนที่จะเป็นความเชื่อสืบเนื่องกันมา ซึ่งบางส่วนก็ถูก แต่บางส่วนก็อาจเกินความเป็นจริงได้ และทำความรู้จักกับเรื่องของอีคิวมากขึ้น ความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตนเองได้มากขึ้น และพ่อแม่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าใจ และช่วยเหลือแนะนำวัยรุ่นได้ นอกจากนี้จะช่วยให้ได้คำตอบว่า อีคิวกับวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ขัดกันจริงหรือ หรือเป็นเรื่องที่เสริมกันและต้องส่งเสริม ด้วยเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัยรุ่น

คนที่มีอีคิวสูงจะเป็นอย่างไร

          ลองพิจารณาจากตัวอย่างบุคคลต่อไปนี้
          ณิชาภัทร เป็นคนที่เรียนเก่ง สมองไว ชอบตอบคำถามของครู เมื่อจะต้องทำกิจกรรมอะไรก็ชอบเป็นหัวหน้า มักเป็นคนสั่งการให้คนนั้นคนนี้ แต่ไม่ค่อยรอฟังความคิดเห็นของเพื่อนที่ต่างไปจากของตน เพราะเห็นว่าความคิดเห็นของตนดีกว่าเพื่อนๆ ที่ต้องการมีสิทธิมีเสียงในการทำงานก็มักไม่ชอบทำงานกับณิชาภัทร บางครั้งณิชาภัทรตัดสินใจไม่เหมาะสม ก็ไม่มีใครกล้าทักท้วง เพราะนอกจากณิชาภัทรไม่ฟังใครแล้ว ณิชาภัทรก็ชอบว่าความคิดของเพื่อนไม่เข้าท่าด้วย
          เพียงตะวัน เป็นคนเรียนดี ทำอะไรก็ตั้งใจทำจริง เป็นคนร่าเริง ไม่เคร่งเครียด เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็สามารถทำจิตใจให้สงบได้ เพราะเข้าใจธรรมชาติของคน ไม่ผิดหวังรุนแรง จะพูดจาหรือทำอะไรจะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น
          จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนเป็นคนที่มีสติปัญญาดี คือ มีไอคิวสูง แต่คนที่สองมีอีคิวสูงกว่าคนแรก

          นักวิชาการยอมรับว่า สติปัญญาไม่ได้มีเฉพาะไอคิว (IQ) ซึ่งเป็นความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ แต่สติปัญญามีได้หลายด้าน เช่น ด้านการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านการเข้าใจตนเอง ด้านการเข้าใจผู้อื่น อีคิวเป็นสติปัญญาด้านอารมณ์ ซึ่งจะใกล้เคียงกับสติปัญญาด้านการ เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น คำว่า อีคิว (EQ) เป็นคำย่อจาก "Emotional Quotient" ซึ่งหมายถึง "Emotional Intelligence" อีคิวมีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายคำ ตั้งแต่ ความฉลาดทางอารมณ์ สติปัญญาทางอารมณ์ เชาวน์อารมณ์ วุฒิภาวะทางอารมณ์ และปรีชาเชิงอารมณ์
          อีคิวเริ่มต้นจากนักวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปีเตอร์ ซาโลเวย์ (Peter Salovey) และจอห์น เมเยอร์ (John Mayer) รวมทั้งแดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ที่ใช้คำว่า "Emotional Intelligene" ส่วนรูเวน บาร์ออน (Reuven Bar-On) ผู้ใช้คำว่า "Emotional Quotient" นักวิชาการเหล่านี้ให้ความหมายของอีคิวที่ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ในความหลากหลายก็มีความคล้ายกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คนที่มีอีคิวสูงจะเป็นคนที่มีลักษณะดังนี้

  • เข้าใจอารมณ์ตนเอง รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีอารมณ์อะไร ทำไมจึงมีอารมณ์เช่นนั้น
  • จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ในทางสร้างสรรค์ โดยไม่เก็บกด ไม่เป็นทุกข์ต่อตนเอง และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
  • มีการผสมผสานการใช้เหตุผลและอารมณ์ในการคิด ตัดสินใจ หรือแก้ปัญหาต่างๆ ของตน ไม่ให้อารมณ์อย่างเดียวมาชี้นำการตัดสินใจ หรือใช้แต่เหตุผลอย่างเดียว ไม่ฟังเสียงความรู้สึกของตน
  • ใช้อารมณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการคิด และการทำงาน สามารถสร้างสรรค์และรักษาอารมณ์ เพื่อให้ตนทำงานได้จนประสบความสำเร็จ
  • เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น เข้าใจว่าเขากำลังมีอารมณ์อย่างไร ทำไมเขาจึงมีอารมณ์เช่นนั้น
  • สามารถที่จะสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้

          นอกจากนี้ก็มีความหมายของอีคิวเพิ่มเติมที่นักวิชาการให้แตกต่างกันไป เช่น

  • การมองโลกในแง่ดี
  • เห็นคุณค่าในตนเอง
  • เชื่อมั่นในตนเอง
  • มีความรับผิดชอบ
  • มีความสุข

          มีผู้พยายามให้ความหมายของอีคิวในแบบไทยๆ เช่น อีคิวในแนวพุทธศาสนา ซึ่งจะหมายถึงความสามารถของบุคคลที่จะใช้ปัญญาในการรักษาและพัฒนาสภาพจิตที่ดีงาม หลังจากรับรู้สิ่งใดแล้ว และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์ ส่วนอีคิวของกรมสุขภาพจิตจะหมายถึง ความดี ความเก่ง ความสุข

ลักษณะของวัยรุ่นกับอีคิว

          วัยรุ่นเคยถูกระบุว่า เป็นวัยพายุบุแคมที่มีอารมณ์แปรปรวนมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันนักจิตวิทยาศึกษา พบว่า ในชีวิตประจำวันโดยทั่วๆ ไป วัยรุ่นไม่ได้มีอารมณ์ที่แกว่งขึ้นๆ ลงๆ มากไปกว่าวัยเด็ก แม้ว่าวัยรุ่นจะมีอารมณ์ทางลบในระดับอ่อนๆ บ่อยกว่าเด็ก วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงเรื่องความสามารถในการคิด ข้อเรียกร้องของครอบครัวและสังคมที่ให้วัยรุ่นมีความรับผิดชอบมากขึ้นและมีบทบาทแบบผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งวัยรุ่นส่วนมากสามารถจัดการกับข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถ้าวัยรุ่นจะรู้สึกเศร้า วิตกกังวล และหงุดหงิดบ้างเป็นบางครั้ง ดังนั้นวัยรุ่นจึงสมควรต้องพัฒนาอีคิวของตน เพื่อให้สามารถจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างมีสภาพจิตใจที่เป็นสุข และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้
          เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทีสำคัญของวัยรุ่นในเรื่องความสามารถทางการคิดหรือสติปัญญา วัยรุ่นมีพัฒนา การทางการคิดถึงขั้นสูงสุด (Formal Operations Stage) คือสามารถคิดในเชิงนามธรรม คิดแก้ปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ สามารถตั้งสมมติฐานที่เกินกว่าสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาได้ และสามารถแก้ปัญหาในลักษณะที่มีการวางแผน และดำเนินทดสอบสมมติฐานอย่างเป็นระบบ ลักษณะเช่นนี้เป็นการเตรียมพร้อมให้วัยรุ่นคิดหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ ให้วัยรุ่นคิดอย่างซับซ้อนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางสังคม และเข้าใจผู้อื่นได้ จากความสามารถทางการคิดที่เพิ่มขึ้น ทำให้วัยรุ่นตั้งคำถามเกี่ยวกับทุกๆ สิ่ง ตั้งแต่ว่าทำไมพ่อแม่จึงตั้งกฎต่างๆ ให้เขาทำ จนกระทั่งว่าทำไมจึงมีความไม่ยุติธรรมในโลกนี้ คำถามเหล่านี้ อาจนำไปสู่ความสับสน และบางครั้งก็เกิดการต่อต้านในความคิดที่เขาเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ จะเห็นได้ว่า วัยรุ่นจะถามหาเหตุผลจากพ่อแม่มากกว่าในวัยเด็กๆ เขาจะเห็นคล้อยตามเมื่อเขารู้สึกว่าพ่อแม่ใช้เหตุผลกับเขา ซึ่งก็เป็นเวลาที่ดีที่วัยรุ่นจะเรียนรู้โลกอย่างใช้เหตุผล แต่การที่วัยรุ่นพยายามสร้างโลกที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ลืมความเป็นไปได้ในชีวิตจริง หรือความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ตอนนี้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่เห็นโลกมามากกว่าจะอธิบายโลกในความเป็นจริงให้แก่วัยรุ่น แต่ต้องทำในลักษณะที่ไม่ชี้นำมากไป เพราะวัยรุ่นต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง
          นักจิตวิทยาท่านหนึ่งกล่าวว่า ความสามารถในการคิดถึงขั้นสูงสุดของวัยรุ่นดังที่กล่าวมานำไปสู่ "การยึดตนเอง เป็นศูนย์กลางของวัยรุ่น" (Adolescent egocentrism) โดยปกติการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจะมีสูงในวัยเด็ก แต่มีในลักษณะที่ว่าเด็กเล็กไม่สามารถหรือสามารถน้อยที่จะเข้าใจมุมมองของผู้อื่นว่าอาจแตกต่างไปจากของตนได้ ต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้น ลักษณะการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจะลดลง เนื่องด้วยเด็กมีพัฒนาการทางการคิดสูงขึ้น เด็กเข้าใจได้ว่า คนอื่นสามารถคิดแตกต่างไปจากตน แต่การยึดตนเองเป็น ศูนย์กลางในวัยรุ่นนี้มีสองลักษณะที่ต่างออกไป
          ประการแรก วัยรุ่นจะรู้สึกว่าคนอื่นๆ สนใจเรื่องของเขา คอยดูการกระทำของเขาอยู่ เหมือนกับเขาเป็นผู้แสดงที่มีผู้ชมคอยดูอยู่ เช่น เมื่อเขามีสิวเม็ดโตที่ใบหน้าสักหนึ่งเม็ด เขาก็คิดว่าทุกคนในห้อง หรือคนที่เดินผ่านไปมาจะมองที่สิวเม็ดนี้ของเขา เขาก็จะก้มหน้าก้มตาเพราะความอาย แต่ในความเป็นจริง ถ้าเป็นวัยรุ่นด้วยกัน เขาก็จะสนใจตนเองเป็นส่วนมากเช่นเดียวกัน หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ เขาก็มักสนใจในเรื่องของตนเอง สนใจว่าจะทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้แฟนรัก จะทำอย่างไรให้พอกิน ตอนนี้ลูกอยู่ บายดีหรือไม่ เขาจะไม่ใส่ใจเรื่องของคนอื่น หรือสนใจก็เพียงชั่วขณะ วัยรุ่นจึงไม่จำเป็นต้องระแวงว่าใครจะมาสนใจหรือจับผิดตน นอกจากนี้การที่วัยรุ่นคิดว่าคนอื่นสนใจเรื่องของตน ก็ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเรียกความสนใจของคนอื่น ต้องการให้เป็นที่สังเกตเห็นของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวหรือการแสดงออก
          การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางอีกลักษณะหนึ่งคือ การเห็นว่าตนเองมีลักษณะเฉพาะ มีเรื่องราวในชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดที่เป็นเฉพาะของตนแตกต่างไปจากคนอื่น วัยรุ่นจึงมักคิดว่าคนอื่นไม่เข้าใจตน พ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกของตน การกระทำของพ่อแม่บางประการ ก็อาจช่วยตอกย้ำให้วัยรุ่นคิดทำนองนี้ได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วพ่อแม่หรือผู้อาวุโสกว่าก็ได้ผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับวัยรุ่นมาก่อน เคยคิดอย่างเดียว กับที่วัยรุ่นคิด เพียงแต่การกระทำด้วยความหวังดีของพ่อแม่อาจไม่สอดคล้องกับลักษณะของวัยรุ่นที่ต้องการความอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ได้ จึงทำให้วัยรุ่นคิดว่าคนอื่นไม่เข้าใจตน นอกจากนี้วัยรุ่นพยายามคงความคิดว่า ตนมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยการจินตนาการเรื่องราวเพ้อฝันของตัวเองที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ซึ่งเห็นได้จากการเขียนไดอารี่ของวัยรุ่น
          นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของพฤติกรรมไม่ไตร่ตรอง เช่น การใช้ยาเสพติด การคิดฆ่าตัวตาย การไม่คุมกำเนิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จากการศึกษานักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายของต่างประเทศที่มีลักษณะการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางสูง จะประมาณการณ์การตั้งครรภ์ของตนเองถ้าไม่คุมกำเนิดไว้ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยกว่า จากงานวิจัยนี้อาจเป็นไปได้ที่ว่า วัยรุ่นคิดว่าสิ่งที่เกิดกับคนอื่น อาจไม่เกิดกับตน ชีวิตตนไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ตนจะไม่โชคร้ายเหมือนคนอื่น การคิดในลักษณะว่าเรื่องราวของตนเองจะไม่เหมือนใคร การคิดทำนองนี้ของวัยรุ่นทำให้วัยรุ่นหลงไปกับจินตนาการของตนเองได้ ถ้าวัยรุ่นเข้าใจลักษณะของวัยและตระหนักว่า เมื่อผ่านพ้นวัยรุ่นไปแล้ว การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางแบบนี้จะลดความสำคัญลงไป วัยรุ่นควรพยายามไตร่ตรองเวลาคิดหรือทำให้รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตน ทำให้วัยรุ่นอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากขึ้น
          วัยรุ่นเป็นวัยเชื่อมต่อระหว่างความเป็นเด็กกับวัยผู้ใหญ่ เป็นวัยแห่งการค้นหาเอกลักษณ์ของตน การค้นหาส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอาชีพ วัยรุ่นบางคนอาจจินตนาการว่า ตนเป็นนักกีฬามีชื่อเสียง เป็นศิลปินที่เก่ง เป็นนักเขียนมีชื่อ ผู้มีอีคิวจะสามารถใช้อารมณ์ของตนช่วยเสริมการคิด การทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ วัยรุ่นสามารถใช้พลังแห่งความทะเยอทะยาน พลังแห่งอารมณ์ และความพยายามที่จะค้นหาเอกลักษณ์ของตนที่มีมากในวัยนี้ให้ไปในทิศทางที่จะเกิดประโยชน์เพื่อไปสู่ฝันในชีวิตได้ วัยรุ่นควรผันพลังแห่งจินตนาการและอารมณ์ของตนไปสู่การกระทำ โดยการเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยทดสอบความถนัด และความสนใจของตนในเรื่องอาชีพ หรือแม้แต่สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาด้วยตนเอง ถ้าครูหรือพ่อแม่เข้าใจลักษณะวัยรุ่นในเรื่องนี้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมให้วัยรุ่นใช้พลังของตนไปเพื่อแสวงหาอาชีพที่เขาถนัดและสนใจ โดยสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรม หรือแม้แต่ทำงานเพื่อหาประสบการณ์เพื่อฝึกทักษะ เพื่อให้มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน และยังได้รายได้เสริมอีกด้วย
          วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความสนใจในเพศตรงข้าม วัยรุ่นอาจหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตา การแต่งกายของตน ต้องการให้ดูดี และอาจย้ำคิดเรื่องของคนที่ตนพอใจ ทำให้ต้องใช้เวลาไปกับเรื่องนี้มาก และอาจกินเวลาของการเรียนได้ ถ้าเกิดความผิดหวังในเรื่องความรัก วัยรุ่นซึ่งมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งรุนแรงในความรักของตนอยู่แล้ว ก็อาจกระทำการลงไปโดยขาดการไตร่ตรอง เช่น ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นได้ การให้วัยรุ่นเรียนรู้เรื่องความเป็นจริงของชีวิตและโลก จะเป็นการเพิ่มปัญญาให้วัยรุ่นได้ใช้พิจารณา และควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ที่มีอีคิว วัยรุ่นต้องการการชี้แนะโดยวิธีการที่วัยรุ่นยอมรับได้ อาจไม่ใช่การสอนกันโดยตรง แต่สอนเป็นนัยๆ จากพ่อแม่และอาจเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการได้ฟังได้เห็นจากแบบอย่างเรื่องที่ใกล้เคียงกับตน จากการอ่านหนังสือ จากการดูภาพยนตร์ ก็อาจทำให้วัยรุ่นได้กลับมาคิดคำนึงถึงเรื่องของตัวเองได้
          ในช่วงวัยรุ่นเพื่อนจะมีความหมายต่อเขามาก เขาจะใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าในวัยเด็ก วัยรุ่นอาจทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่างเนื่องจากอิทธิพลของเพื่อน เช่น การใช้สารเสพติด การเที่ยวกลางคืน การซื้อสินค้าราคาแพง วัยรุ่นที่มีอีคิวย่อมเข้ากับเพื่อนได้ดี เพราะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ยินดีช่วยเหลือผู้อื่น แต่ผู้ที่มีอีคิวดีจะต้องเข้ากับตนเองได้ด้วย ไม่ทำอะไรที่สนองความต้องการของเพื่อน โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของตนเองหรือทำให้ตนเองเดือดร้อน กลุ่มเพื่อนมีได้หลายแบบ แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มเพื่อนจะมีอิทธิพลทางลบเสมอไป กลุ่มเพื่อนที่แนะนำในสิ่งดี กลุ่มองค์กรวัยรุ่น เพื่อทำประโยชน์ เช่น กลุ่มสร้างสรรค์ทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นอิทธิพลของเพื่อนจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์หรือทำลาย ขึ้นกับว่าวัยรุ่นไปเข้ากับกลุ่มใด แม้ว่าวัยรุ่นจะเชื่อพ่อแม่น้อยลงและเชื่อเพื่อนมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ๆ แต่ต่อมาวัยรุ่นก็จะเชื่อเพื่อนน้อยลง เขาจะลดการพึ่งพาทั้งพ่อแม่และเพื่อน และสามารถตัดสินใจเลือกด้วยตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตามพ่อแม่ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นมากกว่า ที่เราเคยคิดกัน เพื่อนมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นในเรื่องกิจกรรมทางสังคมและเรื่องรสนิยม แต่พ่อแม่ก็ยังคงเป็นผู้ช่วยปรับแต่งแผนการศึกษาและอาชีพ ตลอดจนค่านิยมที่สำคัญๆ และถ้าวัยรุ่นมีความผูกพันใกล้ชิดกับพ่อแม่ที่อบอุ่น รัก สนับสนุน สร้างมาตรฐานและควบคุมพฤติกรรมของลูก วัยรุ่นคนนั้นก็มักจะเป็นคนที่มีความสามารถในเชิงวิชาการ ในทางสังคม และซึมซับค่านิยมที่ดีของพ่อแม่ไว้

วัยรุ่นจะพัฒนาอีคิวของตนอย่างไร

          สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็มีส่วนเสนอแนะว่า วัยรุ่นควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อเป็นผู้มีอีคิวต่อไปจะได้กล่าวเพิ่มเติม รวมทั้งการย้ำในบางประเด็นถึงการปฏิบัติของวัยรุ่น เพื่อการพัฒนาอีคิวของตน

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ทำความเข้าใจว่าวัยรุ่นมักมีลักษณะอย่างไร จะได้เข้าใจตนเองและเข้าใจเพื่อน คนอื่นๆ ด้วย
  • ศึกษาวิทยาการต่างๆ รวมทั้งความเป็นไปของโลก ธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ทำให้เข้าใจโลกอย่างที่เป็นจริง ไม่หลุดไปกับจินตนาการของตนเองมากไป และเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการเผชิญและการก้าวไปข้างหน้า
  • ดำเนินชีวิตไม่ให้ตึง หรือสุดโต่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวก็ไม่ให้หย่อน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ชีวิตจึงจะก้าวหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้อย่างพอเหมาะ
  • ถ้ามีสิ่งที่ไม่สบอารมณ์มากระทบ แล้วเกิดอารมณ์ที่ไม่ดี ให้หาทางผ่อนคลายอย่างสร้างสรรค์ เช่น พูดกับตัวเองว่า กำลังรู้สึกอย่างไร ถ้ากำลังโกรธก็ให้บอกตัวเองว่า เรากำลังโกรธอยู่นะ เป็นการเตือน ติตนเอง อาจใช้การหายใจช่วยคลายอารมณ์ เวลาหายใจเข้าให้บอกตนเองว่า "กำลังโกรธอยู่นะ" หายใจออกให้บอกว่า "เอาความโกรธออกไป" ถ้าความโกรธลดลงก็รู้ตัวให้บอกว่า "โกรธน้อยลงแล้วนะ" เวลาหายใจออกให้บอกว่า "เอาความโกรธออกไป" แล้วความโกรธจะค่อยๆ ลดลง หรือให้เปลี่ยนกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ไปสนใจเรื่องอื่นในทันที อาจไปหากิจกรรมนันทนาการ เช่น การเล่นกีฬา หรือไปทำกิจการงานต่างๆ อารมณ์โกรธก็จะหายไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งกีฬาและงานเป็นยาวิเศษในชีวิต
  • การฝึกสติให้รู้ทันการคิด ความรู้สึก และการกระทำของตน รวมทั้งการฝึกสมาธิ จะช่วยให้วัยรุ่นจัดระบบระเบียบความคิดและจิตใจของตนเองได้ จิตมีพลังทำอะไรก็จะสำเร็จได้ง่าย
  • ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ให้มีท่าทีที่เป็นมิตร ใช้มธุรสวาจาและวาจาที่ไม่ยึดตนเอง เช่น แทนที่จะพูดว่า "ฉันว่าสิ่งที่เธอคิดยังไม่ถูกต้อง" เป็นว่า "เธอคงมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่เสนอแบบนี้ เธอบอกพวกเราได้ไหม" และให้คิดในทำนอง "เธอชนะ ฉันชนะ" (Think win-win) ให้ทุกคนมีส่วนได้รับประโยชน์ ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นผู้ที่ได้ เป็นผู้ที่ถูก และอีกฝ่ายเป็นผู้เสียหรือเป็นผู้ผิด

พ่อแม่จะมีส่วนช่วยพัฒนาอีคิววัยรุ่นอย่างไร

          มีข้อเสนอแนะที่พ่อแม่ของวัยรุ่นสามารถปฏิบัติได้ เพื่อการส่งเสริมอีคิวของลูกและอยู่ร่วมกับลูกวัยรุ่นอย่างมีความสุข ดังนี้

  • พ่อแม่เองเป็นแบบอย่างของผู้มีอีคิวสูง คำพูดของพ่อแม่ที่ขัดกับการกระทำของตน ย่อมไม่เป็นที่เชื่อฟัง ลูกจะค่อยๆ ซึมซับแบบอย่างของพ่อแม่ไปเอง
  • รักลูกโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข แต่รักอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กในแต่ละวัยด้วย อย่าให้ความรักในแบบที่ลูกไม่ต้องการ พ่อแม่มักคิดว่าให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกเสมอ แต่ถ้าลูกไม่ต้องการสิ่งนั้น จะกลายเป็นความรักในแบบที่ลูกไม่ต้องการไป
  • พ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติต่อลูกตามวัยที่เปลี่ยนไปของลูก ในบางครอบครัวลูกเปลี่ยนไปแล้ว แต่พ่อแม่ไม่เคยเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติต่อลูกเลย ซึ่งอาจทำให้ลูกวัยรุ่นอึดอัดได้
  • ทำให้บ้านเป็นที่ที่อบอุ่นที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น ให้เป็นที่ที่วัยรุ่นต้องการกลับมาเสมอ มาหาไออุ่น กลับมาเยียวยาเมื่อผิดพลาดหรือเมื่อมีบาดแผลทางใจ ไม่ใช่ที่ที่จะถูกซ้ำเติม พร้อมเสมอที่จะเข้าใจและให้อภัย เมื่อลูกมีพ่อแม่อยู่ในใจ เขาจะไม่กล้าทำตัวไม่ดี แต่ถ้าเขาผิดพลาดไปอย่างไร คำสอนของพ่อแม่ ความรักของพ่อแม่ที่อยู่ในใจเขา จะทำให้เขากลับคืนสู่ความดีได้ในที่สุด
  • แนะโดยไม่จำเป็นต้องชี้นำ ใช้การเฝ้าระวังอย่างไม่จงใจแทนการแทรกแซง เป็นเพื่อนเมื่อลูกต้องการ ยอมให้ลูกมีอิสระที่จะคิดและตัดสินใจ

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแสดงถึงว่า อีคิวกับลักษณะของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างมาก การพัฒนาอีคิวในวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ และการพัฒนาควรเป็นไปโดยความพยายามของตัววัยรุ่นเองและของพ่อแม่ ซึ่งอย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของวัยรุ่นเสมอ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27642เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขาด EQ จะเป็นอย่างไรบ้างครับ
  • เขียนมาอีกนะครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท