มุ่ยฮวง
นาง ศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ

วิจัยเชิงปฏิบัติการในระดับไร่นา ตอนที่2


จากประสบการณ์การทำงานของกลุ่มและการสังเกตปัจจัยธรรมชาติ ทำให้กลุ่มเรียนรู้ถึงการวางแผนการผลิต

ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้เขียนการเตรียมการก่อนทำการศึกษาวิจัยในระดับไร่นา ซึ่งกำหนดสถานที่คือศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านคลองอ้อม ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเตรียมทีมงานเพื่อกำหนดหัวข้อตลอดจนวัตถุประสงค์การวิจัย และกำหนดแผนการดำเนินงาน

สำหรับครั้งนี้ ผู้เขียนจะนำกระบวนการจัดเวทีเรียนรู้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านคลองอ้อมจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงแห่งนี้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทีมวิจัยจากอำเภอปราณบุรีและจังหวัดฯ เริ่มจาก

การจัดเวทีเรียนรู้ ครั้งที่1

1) สร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  โดยชี้แจงถึงที่มาและแผนการทำการวิจัยครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มทุกคนมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการร่วมเรียนรู้ครั้งนี้

เกษตรกรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่

2) วิเคราะห์สถานการณ์ของกลุ่ม เพื่อได้ทราบสถานการณ์การดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง ตลอดจนปัญหาที่พบและความคาดหวังของกลุ่ม ซึ่งผลจากการวิเคราะห์สถานการณ์ สรุปได้ดังนี้

    ในอดีต  ประชาชนในหมู่บ้านคลองอ้อม ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกผักเนื่องจากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เพราะมีลำคลองไหลผ่าน ดินดี การคมนาคมสะดวก และอยู่ไม่ไกลจากตลาดมากนัก  แต่เกษตรกรไม่มีการรวมกลุ่ม ต่างคนต่างทำ ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาก มีแม่ค้าประจำรับซื้อผัก โดยเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้

     ปัจจุบัน  เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม โดยเริ่มจากเป็นกลุ่มธรรมชาติก่อน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรกรให้ความรู้ และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านคลองอ้อม เมื่อปี 2550 สมาชิก 17 คน มีนางวาสนา  สีพิน เป็นผู้มีอำนาจแทนกลุ่ม  จากการส่งเสริมให้ความรู้ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ประกอบกับการมีผู้นำกลุ่มอย่างนางวาสนา  สีพิณ ที่มีการขวนขวยหาความรู้และพร้อมต่อการถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิก ทำให้สมาชิกกลุ่มเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกผักแบบใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ และเข้าสู่ระบบการจัดการพืช GAP ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกบางรายได้ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว  นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังได้รับเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป

ผู้เขียนใช้ mind map ในการถอดบทเรียน

               จากประสบการณ์ทำงานของกลุ่ม และจากการสังเกตปัจจัยธรรมชาติ ทำให้กลุ่มเรียนรู้ถึงการวางแผนการผลิตผัก โดยหลีกเลี่ยงการปลูกผักในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม ของทุกปี และมีการหมุนเวียนชนิดผักให้มีความหลากหลายและไม่ซ้ำกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาผลผลิตเสียหายหรือล้นตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มยังพบกับปัญหาเดิมคือ ราคาผลผลิตขึ้นอยู่กับแม่ค้า เกษตรกรไม่มีอำนาจการต่อรองราคา

เกษตรกรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

      ความหวังของกลุ่ม  กลุ่มนี้มีความคาดหวังใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่องก็คือ

      (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยการลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ ใช้เอง และมีการดัดแปลงอุปกรณ์การเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์ม

      (2) จำหน่ายผักเอง โดยลดการพึ่งพาแม่ค้าคนกลาง เพราะกลุ่มสามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้ตามความเหมาะสมและคุ้มค่าคุ้มราคากับคุณภาพของผลผลิต

      (3) พัฒนารูปแบบการถ่ายทอดความรู้ในศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง ให้มีประสิทธิภาพ

3) กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน  กลุ่มนำความคาดหวังมากำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้

      (1) รักษาคุณภาพผลผลิตให้ปลอดภัยจากสารพิษ โดยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งต้องอาศัยการประยุกต์ดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการเกษตรให้เหมาะสมด้วย

      (2) กลุ่มขอความร่วมมือส่วนราชการ ในการใช้สถานที่จำหน่ายผักปลอดภัยจากสารพิษ โดยต่อแผงข้างรถจักรยานยนต์ (ซาเล้ง) เพื่อบรรจุผักไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ

      (3) ศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบที่ดี เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศูนย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          และสิ่งเหล่านี้คือผลสรุปที่ได้จากเวทีเรียนรู้ ครั้งที่ 1 จากนั้นก็เป็นการนำแนวทางที่กำหนดไว้ไปปฏิบัติ  ซึ่งครั้งต่อไปผู้เขียนจะนำกระบวนการต่อไปมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 276103เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2009 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • แวะมาอ่านกิจกรรมที่จะทำให้พี่น้อง

คนภาคการเกษตรยืมตาอ้าปากได้

  • ขอให้มีความสุขกับการทำงาน

สวัสดีครับ น้องมุ่ยฮวง

  • ขยันจังครับ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน
  • สวัสดีครับ
  • เยียมมากครับ
  • ทำไปเรียนรู้ไป เพื่อเกษตรกรไทยมั่นคงนะครับ

 

P

P

P

  • สวัสดีค่ะ
  • ยังคงมีความสุขกับการทำงาน เมื่อเห็นเกษตรกรได้รับการพัฒนา
  • ยังคงมีกำลังใจในการทำงาน จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันที่นี่ด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท