สุรชาติ ถึกสถิตย์
นาย สุรชาติ สุรชาติ ถึกสถิตย์ ถึกสถิตย์

นวัตกรรมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


ทรัพย์สินทางปัญญา

นวัตกรรมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

 

วันที่ : 23 มิถุนายน 2552 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

[email protected], http:// www.kriengsak.com

 

จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศผลการจัดอันดับประเทศไทย ตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2552 โดยยังคงจัดไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List – PWL) โดยให้เหตุผลว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังคงสร้างความห่วงกังวลให้กับสหรัฐฯ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องพยายามแสดงความพยายามในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยนำกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมร้อยนายไปปิดหัวและท้ายถนนย่านพัฒน์พงศ์ เพื่อปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ค้าในย่านดังกล่าว

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมาตรการที่ควรดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อจูงใจให้เกิดการทุ่มเทและการคิดค้นนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้นหรือทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมมีต้นทุนในการคิดค้นวิจัย เราจึงต้องมีการจ่ายค่าสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้คิดค้นและคุ้มครองแก่ผู้ผลิต เพื่อตอบแทนในสิ่งที่เขาทุ่มเท หากมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้ผู้คิดไม่อยากจะคิดสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกขโมยความคิด

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ยาวนานเกินไปหรือเข้มงวดมากเกินไป จะทำให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้ประโยชน์จากการผูกขาดมากเกินไป แต่ผู้บริโภคกลับต้องรับภาระต้นทุนจากการซื้อสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาในราคาสูง และอาจทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

ผมเสนอว่า ควรมีการปรับแนวคิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรักษาแรงจูงใจของผู้คิดค้นนวัตกรรม ในขณะเดียวกันต้องคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นของผู้บริโภคด้วย โดยการแยกแยะประเภทของสินค้าในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกำหนดวิธีการคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป

กรณีที่ 1 สินค้าและบริการที่จำเป็นและส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะยารักษาโรค สินค้าประเภทนี้ควรมีแนวทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป อาทิ

การจำกัดระยะเวลาการผูกขาดเพื่อไม่ให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาการมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวแล้วจึงให้ทรัพย์สินทางปัญญาตกแก่สาธารณะ

การกำหนดราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค โดยการเจรจากับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้มีการปรับราคาสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคนและพื้นที่ เช่น การลดราคายาให้แก่กลุ่มคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา โดยการปฏิบัติเช่น การทำให้สีของยาเม็ดที่ขายในกลุ่มประเทศต่างๆ แตกต่างกัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาต้องมีระบบป้องกันการลักลอบนำสินค้าที่ซื้อมาในราคาต่ำ ไปขายในราคาแพงขึ้นแก่ประเทศที่มีกำลังซื้อ

การที่ภาครัฐแทรกแซงตลาดของสินค้าที่จำเป็นโดยภาครัฐอาจร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อคิดนวัตกรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน การที่ภาครัฐซื้อองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผู้คิดค้นนวัตกรรม แล้วขายสิทธิหรือให้สิทธิในการพัฒนาและผลิตแก่ภาคเอกชนหลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าที่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ส่วนรัฐบาลจะมีรายได้กลับคืนจากภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการผลิตและขายสินค้าดังกล่าว

กรณีที่ 2 สินค้าทั่วไป อาทิ ซีดีเพลง ภาพยนตร์ หรือสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ สินค้าลักษณะนี้ควรมีการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันมีการลอกเลียนแบบสินค้าดังกล่าวจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีราคาแพง การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการปราบปรามย่อมมีต้นทุนในการปราบปรามสูงขึ้นมาก ฉะนั้นภาครัฐจึงควรมีแนวทางในการลดภาระการปราบปรามของภาครัฐลง อาทิ

เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาควรร่วมรับต้นทุนการปราบปราม โดยภาครัฐอาจมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากผู้ผลิตหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อลดภาระต้นทุนของภาครัฐในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การเปิดให้มีการเลียนแบบภายใต้การควบคุมของรัฐ ภาครัฐอาจตกลงร่วมกับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการอนุญาตให้มีการลอกเลียนแบบสินค้าได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐและเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะต้องมีการเก็บภาษีจากผู้ลอกเลียนแบบ และแบ่งรายได้จากภาษีส่วนหนึ่งให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และรายได้อีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอาจมิใช่หนทางเดียวในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพราะข้อเสนอข้างต้นอาจเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ทั้งผู้คิดค้น ผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐในฐานะผู้ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับประโยชน์ร่วมกัน และอาจช่วยลดภาระในการปราบปราม หรือลดแรงจูงใจในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลงได้ Bottom of Form

 

หมายเลขบันทึก: 275792เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2009 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท