ยุววิจัยประวัติศาสตร์ : ความหลากหลายของเมืองราชบุรี


ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นสีสันและเสน่ห์ของชุมชน

       มีโอกาสดีที่ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์กับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)  อยากบอกเล่าให้ฟังว่าเด็ก ๆ ที่ราชบุรีกำลังทำอะไรกันบ้าง

 

ยุววิจัยประวัติศาสตร์ : ความหลากหลายของเมืองราชบุรี

สายพิน แก้วงามประเสริฐ

               

                ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยมีปัญหาหลายประการทั้งเรื่องความประพฤติที่ไม่เหมาะสม เช่น  การใช้ความรุนแรง การปล่อยเนื้อปล่อยตัว  มั่วสุมเรื่องยาเสพติด ไม่เอาใจใส่การเรียน  หนีเรียน ติดเกม มีชีวิตแบบบริโภคนิยมทำให้ฟุ้งเฟ้อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และปัญหาอื่น ๆ อีกหลายประการ  ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเอง และการพัฒนาประเทศชาติไม่น้อย  จึงเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการแก้ไข   

                ขณะที่เด็กส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาให้สังคมต้องแก้ไข     แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งทั้งมีความตั้งใจเรียน  แล้วยังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมเป็นยุววิจัยในโครงการ ยุววิจัยประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลาง  ทำวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง  เพื่อกลับไปหารากเหง้าความเป็นมาของท้องถิ่น  อันจะทำให้สำนึกรักบ้านเกิด  และทำให้คนในท้องถิ่นมีความภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

                โครงการ ยุววิจัยประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลาง  ของเด็ก ๆ ที่ราชบุรี  เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี จำนวน 21 โรงเรียน  กับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท  มหาวิทยาลัยมหิดล  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ซึ่งให้ทุนแก่โครงการของยุววิจัยโรงเรียนละ 15,000 บาท

                ความสนใจของยุววิจัยที่มีต่อท้องถิ่นราชบุรีของตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าราชบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน และมีลักษณะเด่นเป็นอัตลักษณ์ของตนเองคือ  เป็นเมืองที่มีคนหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านาน  เช่น  คนจีน คนมอญ  คนลาว ซึ่งมีทั้งคนลาวเวียง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์  คนลาวโซ่ง(ไทยทรงดำ) คนเขมร รวมทั้งคนไทยที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม  ชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่ร่วมกันในราชบุรีอย่างมีความสุข  บางหมู่บ้านมีทั้งคนมอญ คนจีน คนไทย และคนลาว อยู่รวมกันโดยมิได้แบ่งแยกเชื้อชาติความเป็นมาของประชากร  มีการปะทะสังสรรค์  แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรม  ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ตามชาติพันธุ์ของบรรพบุรุษของตนเองมากน้อยแตกต่างกันไป  ตามแต่วิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้านที่อยู่อาศัย

                บางชุมชนหมู่บ้านในจังหวัดราชบุรีพยายามรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิม บางหมู่บ้านพยายามรักษา อนุรักษ์ประเพณีอันดีงามที่มีค่าควรแก่ความภาคภูมิใจไว้ให้ลูกหลานได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเกิดความรักความภูมิใจในท้องถิ่น  เข้าใจตัวตนของตนเองในความเป็นคนราชบุรี  น่าเชื่อว่าเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ย่อมเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคมไม่น้อย

                โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์เป็นโครงการที่ให้ยุววิจัยน้อยๆ ที่เรียนในระดับชั้นมัธยม ศึกษาตอนปลาย  โรงเรียนละ 4 – 5 คน รวมเป็นเยาวชนประมาณ 100 คน  เข้าไปสืบค้นรากเหง้าความเป็นมา  ชาติพันธุ์  ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นของตนเอง  เช่น 

ยุววิจัยในเขตโพธารามสนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนลาวเวียง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 คนลาวเวียงแม้ว่าจะอพยพมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีถึงสองร้อยปีเศษแล้วก็ตาม แต่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้ได้  และลูกหลานยังคงรับรู้ความเป็นมาของบรรพบุรุษของตนเองอยู่เสมอ  ยุววิจัยบางกลุ่มสนใจเรื่องประเพณีการโยนข้าวพันก้อนที่อาจเหลือแห่งเดียวของคนลาวเวียงที่บ้านหนองรี  ขณะที่ยุววิจัยที่ช่องพรานสนใจการเก็บมูลค้างคาวที่ถ้ำค้างคาวร้อยล้าน ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของราชบุรี

ยุววิจัยที่บ้านโป่งสนใจวิถีชีวิตของคนมอญที่บ้านม่วง ทั้งเรื่องการรำผีมอญ วิถีชีวิตของคนมอญก่อนและหลังมีพิพิธภัณฑ์มอญที่บ้านม่วง  ยุววิจัยอีกกลุ่มหนึ่งสนใจการบวชนาคของคนมอญที่ไม่เหมือนที่อื่น  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนบ้านโป่งกับสงครามโลกครั้งที่สอง  ซึ่งเป็นดินแดนต้นทางของเส้นทางรถไฟสายมรณะ

ยุววิจัยที่ดำเนินสะดวกสนใจศึกษาวิถีชีวิตคนคลองดำเนินสะดวก  คลองสายประวัติศาสตร์ที่ถูกขุดมาเป็นเวลาร้อยกว่าปี  เพื่อการติดต่อระหว่างหัวเมืองกับกรุงเทพมหานคร  และเป็นเส้นทางเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 วิถีชีวิตของคนในคลองดำเนินสะดวกจากอดีตสู่ปัจจุบันอาจเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่อาจไม่เปลี่ยนคือคลองดำเนินสะดวกยังคงเกื้อกูลเลี้ยงดูผู้คนริมคลองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ดำเนินสะดวกไม่ได้มีความน่าสนใจเฉพาะวิถีชีวิตของคนริมคลองเท่านั้น  ความน่าสนใจยังอยู่ที่การมีคนหลายชาติพันธุ์ไปอาศัยอยู่รวมกันทั้งคนจีน คนไทย และไทยทรงดำ ดังนั้น ยุววิจัยบางกลุ่มจึงสนใจวิถีชีวิตของไทยทรงดำ ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเองทั้งประเพณี และเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกความเป็นไทยทรงดำที่ดอนคลัง

ส่วนยุววิจัยที่บางแพศึกษาเรื่องกระบุงอาสา ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตที่อาจสืบต่อมาจนปัจจุบัน  นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วยุววิจัยของราชบุรียังสืบค้นเกี่ยวกับที่มาของ    กระเหรี่ยงกลุ่มใหม่ที่สวนผึ้ง   กระเหรี่ยงที่บ้านคา   ไทยทรงดำที่ชุมชนทุ่งหลวง  วิถีชีวิตคนคูบัวเป็นใครมาจากไหน ซึ่งในปัจจุบันเรามักรู้จักคูบัวในนามของผ้าคูบัวผ้าที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ให้นึกถึงคนราชบุรี  ศึกษาแหล่งโบราณคดีของจอมบึง ชื่อบ้านนามเมืองของด่านทับตะโก รวมทั้งการประกอบอาชีพทำปูนแดง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเปลโบราณ         เป็นต้น

ในการสืบค้นเรื่องราวเหล่านี้ยุววิจัยต้องเข้าไปตามหมู่บ้านโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษายุววิจัยประวัติศาสตร์แต่ละเรื่องร่วมเข้าไปทำวิจัย และคอยดูแลอย่างใกล้ชิด  การเข้าไปในหมู่บ้านมีทั้ง การสำรวจสภาพภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน พบปะพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้ หรือผู้นำชุมชนเพื่อสอบถามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันว่าประเพณี วิถีชีวิตอะไรในท้องถิ่นที่สูญหายไป สิ่งใดที่ยังอยู่และคงเป็นอัตลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจของท้องถิ่น  และสิ่งเหล่านี้เมื่อก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองที่มีความหลากหลายแล้ว  ย่อมเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ผู้คนหลายชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยเกื้อกูลกันเหมือนที่ราชบุรีมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมแต่ไม่มีความแตกแยก คนราชบุรีจึงสามารถสื่อสารด้วยภาษาที่หลากหลายแต่เข้าใจกันได้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

                เป็นโอกาสอันดีที่ยุววิจัยเหล่านี้จะได้สืบค้นร่องรอยความเป็นมาที่บรรพบุรุษของตนเองได้สร้างสรรค์ไว้  นอกจากก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนราชบุรีแล้ว  เป็นสิ่งที่ดีที่เยาวชนในวัย 15 – 18 ปี เหล่านี้จะได้นำทฤษฎีที่มีในตำราเรียนที่ว่าด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และแนวคิดทางมานุษยวิทยาที่เคยเรียนหรือฟังจากคำบอกเล่าของครูในห้องเรียน มาสู่โลกกว้างในชุมชน ได้รู้จักการวางแผนการทำงาน  การสืบค้นข้อมูล  การฝึกหัดการเขียนบทความ สารคดี  ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับยุววิจัยกลุ่มอื่น ๆ  รู้จักนำเสนอเรื่องราวในที่สัมมนา   หากเพียงเรียนรู้แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ฟังครูเล่าเรื่องราวเพียงอย่างเดียว  ไม่แน่ใจเด็กไทยจะคิดอะไรเป็นมากน้อยเพียงใด เมื่อเด็กคิดไม่เป็น  ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

                โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์เป็นโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมให้กว้างขวาง    ถือเป็นความโชคดีที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)และโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนหนึ่งที่สนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของตนเองได้เข้าร่วมโครงการวิจัย  ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เยาวชนคนราชบุรีได้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่น  รู้จักตัวตนของตนเองว่าเป็นใครมาจากไหน  จะทำอะไรต่อไป    และที่สำคัญเป็นรากฐานให้เด็กรู้จักการนำวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่เรียนแต่ในตำราเรียนไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปได้

หมายเลขบันทึก: 274850เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท