ไปดูงานห้องสมุดที่ประเทศเกาหลี


เกาหลี

วิถีชีวิต และแนวคิดใหม่แบบเกาหลีที่เห็นในบริการห้องสมุด ……………….

จากที่ดิฉันและคณะสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เดินทางไปการไปดูงานห้องสมุดที่ประเทศเกาหลี ระหว่างวันที่ 19-24 เมษายน วันนี้ได้ฤกษ์นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่งแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็น่าจะเป็น วิถีชีวิต และแนวคิดของคนเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนอยู่ในการบริการห้องสมุด เช่น

การเห็นความสำคัญของผู้พิการ สร้างความเท่าเทียมในการได้รับรู้ เรียนรู้ เช่นเดียวกับคนปกติ ทุกห้องสมุดที่ไปดูงานจะพบว่ามีบริการเพื่อคนพิการ (Disability Services) โดยจัดห้องสำหรับบริการไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ภายในอาคารห้องสมุดจัดให้มีห้องน้ำภายในห้องสมุดเหมือนสำนักหอสมุด มก. แต่พิเศษตรงจัดหาีอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือคนพิการ หากคนพิการต้องการความช่วยเหลือจะสามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ โดยสัญญาณจะปรากฏให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลควบคุมความปลอดภัยได้เข้ามาช่วยเหลือ และตามสถานที่ต่าง ๆ จะมีรถเข็นสำหรับผู้พิการจอดเพื่อบริการ  เช่นเดียวกับสถานที่อื่นเช่นลิฟท์ตามโรงแรมที่พักทุกแห่งจะจัดทำปุ่มเลือกชั้น การเปิด ปิดไว้อีก 1 ชุดในระดับต่ำกว่าประมาณนั่งรถเข็นจะสามารถกดลิฟท์ได้

การเคารพในทรัพย์สินทางปัญญา แม้ทุกห้องสมุดจะนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการห้องสมุดแต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้คือการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประพันธ์หนังสือ หรือสื่ออื่น เช่นหากจำเป็นต้องแนะนำหนังสือใหม่ให้อยู่ในรูปdigital books ห้องสมุดมหาวิทยาลัยYonsei จะทำการสแกนเพียง 30 หน้าในเล่มนั้น ๆ เพื่อการแนะนำเท่านั้น  และเช่นเดียวกับห้องสมุดมหาวิทยาลัย Seoul ซึ่งมีนโยบายการจัดทำเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ในประเภทเอกสารของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เช่น วิทยานิพนธ์ การประชุมทางวิชาการ รูปภาพเก่า หนังสือเก่า เป็นต้น สำหรับการบริการสื่อโสตทัศนวัสดุ ทุกห้องสมุดให้บริการเฉพาะยืมใช้ภายในพื้นที่ โดยไม่มีการทำสำเนาให้ยืมกลับ และห้องฉายภาพยนตร์ผู้แนะนำบอกว่าส่วนหนึ่งอาจารย์ผู้สอนจะนำภาพยนตร์/วิดิทัศน์ ประกอบการสอนมาฉายให้นิสิตดูด้วย

การจัดให้มีสตูดิโอในห้องสมุด นี้ก็เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเรียน การสอนที่น่าสนใจ การสร้างผลงานของนิสิตทุกสาขาวิชากลายเป็นเรื่องทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว นิสิตทุกคณะจะสามารถสร้างเนื้อหาในการเรียนโดยเข้ามารับบริการห้องสตูดิโอในห้องสมุด ทางห้องสมุดจะจัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ นอกจากถ่ายทำเสร็จแล้วก็สามารถทำการตัดต่อเอง การทำรายงานแบบ cut&paste คงจะหมดไป

การตรงต่อเวลา เป็นวินัยที่ดีเยี่ยมของคนเกาหลี เจ้าหน้าที่ที่ให้การต้อนรับเมื่อไปดูงานห้องสมุดทุกแห่งจะจัดโปรแกรมตามเวลาที่กำหนด หากยังไม่ถึงเวลานัดก็ไม่สามารถเข้าไปได้ และหากหมดเวลาตามที่นัดแม้จะยังเดินชมสถานที่ไม่ทั่วถึง ก็จะเชิญกลับ เวลาเป็นสิ่งมีค่ามาก ไม่มีการโอ้เอ้ เกรงอก เกรงใจ พิธีรีตรองมากมาย

การดูแลนิสิตต่างชาติอย่างทั่วถึง ในห้องสมุดจะจัดหาคอมพิวเตอร์พร้อมคีย์บอร์ดที่เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น คีย์บอร์ดภาษาจีน  ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส  ฯลฯ  พร้อมที่จะให้นิสิตต่างชาติได้ติดต่อสื่อสารกลับไปยังประเทศของนิสิตได้

normal_036

ได้เลือกวิถีชีวิตและแนวคิดที่ดี มานำเสนอเผื่อห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีความพร้อมและเห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าวจะได้นำมาปรับปรุงการจัดการห้องสมุดให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ  แค่นี้ก่อนนะคะ


LIGER : ลูกผสมเสือกับสิงโต ถ่ายที่เกาหลีใต้

LIGER : ลูกผสมเสือกับสิงโต ถ่ายที่เกาหลีใต้

หมายเลขบันทึก: 274556เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเยี่ยมค่ะ

อยากได้ห้องสมุดที่เปิดนอกเวลาทำการบ้างค่ะ

หลังเลิกงานจะได้ไปใช้บริการ

เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีห้องสมุดมารวยที่เปิดถึงดึกค่ะ

ที่สำนักหอสมุด มก เปิดถึงเที่ยงคืน และตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง 1 เดือนก่อนสอบค่ะ(สัปดาห์แรกและหลังจะเปิดถึงเที่ยงคืน สัปดาห์ที่ 2-3 จะเปิด 24 ชั่วโมงค่ะ )หลังเลิกงานก็แวะไปใช้บริการได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท