ประเด็นที่มักถูกอ้างถึง ..การจดทะเบียนสมรสจึงมักถูกปฎิเสธ


ทำไม การจดทะเบียนสมรสของคนต่างด้าว (กรณีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีสิทธิอาศัยชั่วคราว/ถาวรแล้ว ฯลฯ) ด้วยกันเอง หรือกับคนไทย จึงมักถูกปฎิเสธจากนายทะเบียน

ดูจากคำพิพากษาคดีปกครองที่มีอยู่ในมือ 2 ฉบับคือ คดีของศาลปกครองสูงสุด (คำสั่งคำร้องที่ 829/2549) และกรณีคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น (คดีหมายเลขดำที่ 434/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 191/2550)

พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ รวมถึงประเด็นที่ต่อเนื่องตามมา คือ

  1. เอกสารไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะยื่นคำร้อง ผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ตามมาตรา 1450, 1452 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ กล่าวคือ เป็นญาติสืบสายโลหิตกันหรือไม่, มีคู่สมรสอยู่แล้วหรือไม่
  2. นายทะเบียนมักเรียกให้คนต่างด้าวที่ต้องการจดทะเบียนสมรสไปขอเอกสารรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศไทย
  3. นายทะเบียนมักอ้างว่า "เอกสารไม่ครบ" โดยอ้างถึง หนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดแนวทางในการพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรส

เท่าที่พอจะรวบรวมมา มีดังนี้

  • หนังสือ มท.0313/ว. 741 ลว 15 กรกฎาคม 2521
  • หนังสือ มท. 0313/ว.99 ลว 30 มิถุนายน 2525
  • หนังสือด่วนมากที่ มท.0313/2742 ลว 14 กรกฎาคม 2521
  • มท. 0402/1411 ลว 3 ธันวาคม 2530
  • มท 0301.2 /ว 1170 ลว 31 พฤษภาคม 2543
  • หนังสือด่วนมาก มท 0307.3 ว3806 ลว 26 กุมภาพันธ์ 2549

ยังไม่ได้ลงมือตาม-ตรวจสอบว่า แต่ละฉบับมันยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

ประเด็นที่น่าสนใจตามมา

  1. ศาลปกครองชั้นต้น เคยพิพากษาว่าการที่นายทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับครอบครัว และอยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพรบ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 (คำสั่งคำร้องที่ 829/2549)
  2. คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ถูกกลับ ด้วยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด โดยเห็นว่า
  • การรับจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะนายทะเบียน ตามมาตรา 3 และ 10 แห่งพรบ.จดทะเบียนครอบครัว 2478
  • ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนอำเภอจดทะเบียนสมรสให้ จึงเป็นการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่้งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 61/2550)

    3. ยังไม่มีคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลทบทวนถึงความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย แต่ละฉบับ

------------------------------------------------

ต้องรีบพูดต่ออีกนิดว่า ..ไม่อยากเอ่ยถึง ทั้งยังออกจะเบื่อๆ ด้วยซ้ำไปที่จะพูด(และได้ยิน) ถึง "ตุลาการภิวัฒน์" เอาแค่ว่า ฉันรู้และเข้าใจ ว่า Judiicial Review มันคือการทบทวน ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง (กรณีไปศาลปกครอง) หรือการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (กรณีไปศาลรัฐธรรมนู)

ต่อบทบาทของฝ่ายตุลาการ ดูเหมือนจะมี-พื้นที่-ให้ ไม่มากเลย ในสถานการณ์ที่ผ่านมาหลายปีนี้
อืมม แต่ดูเหมือนจะยกเว้นประเด็นที่เี่กี่ยวกับการเมือง และการฟ้องร้องคนจน ..ชาวบ้านอะนะ..

หมายเลขบันทึก: 274182เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท