นโยบายหนังสือเรียน


นโยบายหนังสือเรียน

 

            รัฐบาลลงทุนสนับสนุนนโยบายการศึกษาฟรี 15 ปี สำหรับปี 2552 เป็นเงินถึง  หนึ่งหมื่นเก้าพันล้านบาทเศษ  เป็นเงินก้อนโตเป็นที่ชื่นใจสำหรับชาวการศึกษา แสดงว่ารัฐบาลเอาจริงกับนโยบายนี้  เมื่อดูในรายละเอียดก็พบว่า เงินทั้งหมดจัดเพื่อสนับสนุนรายการใหม่ 5 รายการคือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน  ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ เป็นเงินที่จัดให้เด็กมากกว่าจัดให้ครู ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุดน่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย  คงจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายบุตรหลายไปได้มาก แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะถ้ารายการใดไม่เข้าหมวด 5 รายการที่กล่าวถึงก็ยังคงต้องจ่ายเอง  หรือแม้เข้าหมวด 5 รายการ แต่ไม่เข้าชนิดประเภทที่ระบุก็คงต้องจ่ายเองอยู่ดี  สำหรับครอบครัวที่ไม่ถึงกับยากจน  คงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด  ถึงอย่างไรก็รับภาระได้อยู่แล้ว  ใครจะวิจารณ์นโยบายนี้อย่างไรก็ตามทีเถิด  แต่สำหรับผู้เขียน เห็นว่าจะเป็นผลดี  ขอเชียร์นโยบายนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า นโยบายนี้จะได้ผลดีกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา  แต่ว่าคงยังไม่เพียงพอกับการสร้างคุณภาพ ต้องมีนโยบายเพื่อคุณภาพการศึกษาด้วย  และอย่าให้การเรียนฟรีเป็นการสกัดโอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษา

            เรื่องการศึกษาฟรีไปเกี่ยวพันกับเรื่องหนังสือเรียนเพราะในรายการนี้มีการจัดเงินค่าหนังสือเรียน แล้วบอกว่าจะจัดสรรให้ยืมเรียน  คิดว่าซื้อแล้วจะใช้ได้สัก 3 ปี ก็เกิดประเด็นว่าจะซื้อจากใคร ใครเป็นผู้ซื้อ  เลยเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เกรงว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์ เกรงจะเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น  ประกอบกับมีข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการจะใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2553  หนังสือที่พิมพ์แจกจะล้าสมัยแจกไปก็ใช้ได้ปีเดียว  และที่แจกก็กำลังจะเป็นหนังสือเลิกใช้จะทำให้เสียเงินเสียทอง ควรรอหนังสือใหม่ที่เขียนตามหลักสูตรใหม่  ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และฟังคำชี้แจงแล้วทำให้เกิดความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง  ถามตัวเองว่า หลักสูตรคืออะไร หนังสือคืออะไร ทำไมหนังสือกับหลักสูตรจึงผูกพันกัน ทำไมปรับแก้หลักสูตรใหม่ แล้วต้องปรับแก้หนังสือใหม่

            หลักสูตรเป็นการกำหนดเป้าหมายปลายทางและผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้  รวมถึงรูปแบบและวิธีการจัดให้เกิดผลดี  บรรลุตามจุดหมายที่กำหนดไว้  ในกระบวนการจัดการเรียนรู้  กระทรวงศึกษาธิการและนักการศึกษาทั้งหลายก็กล่าวตรงกันว่าสาระความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน คนเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากสาระความรู้เหมือนๆ กัน เพราะเป้าหมายไม่ใช่การจดจำเนื้อหาความรู้  แต่ต้องการให้ความรู้นำไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์  เราต้องการให้สาระความรู้เป็นสิ่งท้าทายทำให้เกิดการแสวงหาความรู้  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดการศึกษา  การจัดการศึกษาคือกระบวนการพัฒนาผู้เรียน  การพัฒนาผู้เรียนต้องพัฒนาทั้งความคิดจิตใจ  และร่างกายถ้าอยากให้เด็กรู้กว้างรู้ไกล  รู้ลึก รู้อย่างเข้าใจ ก็ต้องให้เด็กแสวงหาความรู้เอง  การมีหนังสือเรียน และกำหนดหนังสือเรียนจึงไม่สนับสนุนการเรียนรู้ตามความคิด ความเชื่อ ตามปรัชญาการศึกษาตามที่กล่าวถึงมานี้เลย  แต่การกำหนดหนังสือเรียนจะทำให้เด็กเรียนสาระความรู้เหมือนๆ กัน คิดเหมือนๆ กัน

            จุดอ่อนด้อยของการศึกษาไทยประการหนึ่งคือ เรื่องการเอาหนังสือเรียนไปผูกกับหลักสูตร  เมื่อกระทรวงตรวจรับรองว่าเป็นหนังสือเรียนตามหลักสูตร ครูก็มักยึดหนังสือเป็นหลักสูตรโดยไม่ได้ดูหลักสูตร  การสอนจึงมักไม่เป็นไปตามหลักสูตร  แต่เป็นไปตามหนังสือเรียน  เช่นมักมีการทักว่าโรงเรียนสอนผิด  แต่โรงเรียนก็อ้างว่าสอนถูกตามหนังสือที่กระทรวงฯ ให้การรับรอง  อยากจะกล่าวว่าไม่มีหนังสือเรียนเล่มไหน  หรือไม่มีหนังสือเล่มใดในโลกที่คงความถูกต้องตลอดไป  ผู้เขียนเคยเกี่ยวข้องกับระบบตรวจหนังสือเข้าใจดีว่ามีหนังสือที่ตรวจรับรองแล้วยังมีผิดพลาดอยู่อีก  และเกิดได้เสมอๆ  คนทำหนังสือรู้ดีว่า    วันที่พิมพ์หนังสือออกมา ก็พบแล้วว่ายังมีความบกพร่องที่จะต้องแก้ไข  จึงไม่มีหนังสือใดที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง  ที่จริงหนังสือเรียนควรเป็นเพียงสาระความรู้กลาง การนำไปใช้ครูต้องนำไปปรับใหม่ให้เหมาะสมอีกทีหนึ่ง ตามหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนซึ่งไม่เหมือนกัน

            เจตนาของหนังสือเรียนมีไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าอ้างอิง  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีหนังสือให้ค้นคว้าหลายๆ เล่มเพื่อเปรียบเทียบกัน  การเรียนจากหนังสือที่ได้รับการรับรอง 1 เล่ม  จะสู้การอ่านหลายๆ เล่มไม่ได้ เพราะไม่เกิดความหลากหลายทางความคิด  การมีเพียงหนังสือเรียนวิชาละหนึ่งเล่มจึงยังไม่เพียงพอกับการจัดการเรียนรู้

            ถ้าจะให้สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ที่แท้จริง แทนที่จะจัดหาหนังสือเรียน  ควรเน้นการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน  จัดหาสื่อเพื่อการเรียนรู้ให้มากๆ  เพื่อให้เด็กได้สนุกและสะดวกกับการแสวงหาความรู้  จะจัดซื้อหนังสือเรียนก็ได้ แต่ควรซื้อเข้าห้องสมุดเพื่อให้เด็กยืมเรียน  ไม่จำเป็นให้ทุกคนมีเหมือนๆกัน  ความไม่เหมือนกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้น  โรงเรียน ควรมีหนังสือที่หลากหลาย  จากหลายสำนักพิมพ์ ไว้ให้เด็กค้นคว้า  โรงเรียนต้องสอนให้เด็กอ่านหนังสือหลายๆเล่ม  ต้องเปลี่ยนการเรียนจากรูปแบบครูบอกความรู้ ตามหนังสือมาเป็นเป็นให้เด็กแสวงหาความรู้แทน

            ถ้ายังจัดหนังสือเรียนอย่างเดิม  รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ก็ไม่เกิด  จะปฏิรูปการศึกษากันอีกกี่ครั้งก็คงไม่ไปไหน เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ต้องกล้าหาญทะยานออกให้พ้นอ่าง  ด้วยการจัดระบบหนังสือเรียนแบบใหม่แทน

 

 

(ดร.พนม   พงษ์ไพบูลย์)

20 กุมภาพันธ์ 2552

 

 

ดร.พนม  พงษ์ไพบูลย์

เคยเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษาที่จังหวัดกาญจนบุรีบ้านเกิด

เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้านวิจัยและวางแผนการศึกษา(Educational Research and Planning) ที่  Michigan State University  ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๗   ตามความต้องการของสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ  เรียนจบกลับมารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ จนเกษียณ เคยเป็น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู  อธิบดีกรมวิชาการ อธิบดีกรมการศาสนา  อธิบดีกรมสามัญศึกษา  และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา  เป็นประธานกรรมการชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 273731เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของท่าน

สวัสดีครับ

พระพุทธศาสนากล่าวว่าชีวิตคนเราสั้นนัก  หากมีเวลาควรหันเข้ามาศึกษาดูจิตดูใจเราเองก็จะดีไม่น้อยจะได้ชื่อว่าดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่ประมาท  หากกัลยาณธรรมท่านใดที่ต้องการศึกษาธรรมะครูบาอาจารย์ต่างๆ รวมถึงหนังสือธรรมะง่ายๆ ไปจนถึงหลักสูตรการเรียน-สอน สามารถเข้าชมเว็บไซต์

สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง  เพียรเพื่อพุทธศาสน์ เพียรพยายามพัฒนาสื่อธรรมให้ง่ายต่อการศึกษา  ง่ายต่อการปฏิบัติ  และยังดำรงความเพียรเพื่อพุทธศาสน์ คิดพัฒนาสร้างสรรค์สื่อธรรมรังสรรค์สังคมให้อุดมด้วยปัญญาบารมีอย่างไม่หยุดยั้ง  ทำประโยชน์และความสุขให้บังเกิดแก่ชาวพุทธชาวไทยรวมถึงชาวโลกอย่างมั่นคงยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไป ที่สำคัญ "เลี่ยงเชียงทำงานเพื่อสั่งสมบุญบารมีมากกว่าสั่งสมทรัพย์ภายนอก"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท