รินน้ำใจสู่ครูใต้


              เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ สร้างความห่วงใยให้กับคนไทยทั้งชาติ   หลายฝ่ายได้ช่วยกันเสียสละ ให้ความร่วมมือช่วยเหลือตามวิถีทางของตนในรูปแบบต่างๆ เท่าที่สามารถจะทำได้ ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ (ช.อ.ศ.)  ก็มีความห่วงใยในสถานการณ์ไม่น้อยกว่าฝ่ายอื่นๆ   เพราะเราเป็นชมรมที่เกิดจากการรวมตัวของข้าราชการอาวุโสและครู ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ส่วนมากก็เกษียณราชการแล้ว   เราเคยทำงานการศึกษา ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน   เรามีความห่วงใยเป็นพิเศษกับเด็กและเยาวชนของชาติในภาคใต้ ว่าเขาเรียนหนังสือกันอย่างไร ครูลำบากมากน้อยแค่ไหน มีขวัญและกำลังใจเหลืออยู่เพียงใด

                ด้วยความห่วงใยดังกล่าว ชมรมจึงได้จัดโครงการสร้างขวัญและให้กำลังใจกับครูในภาคใต้ ชายแดน  เช่นในปีพ.ศ.2550 ได้ร่วมกับชมรมกอล์ฟกระทรวงศึกษาธิการ จัดหาเงินช่วยเหลือครูภาคใต้ที่เดือดร้อนเนื่องจากเหตุการความไม่สงบ ได้เงินส่งไป 1,000,000 บาท และได้ตามไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนและครูในปี 2551

                และเมื่อเร็วๆนี้  คือเมื่อวันที่ 20-22 มกราคม 2552  ชมรมฯ โดยความสนับสนุนของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อให้ขวัญและกำลังใจแก่ครูในภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง  ผู้ไปทุกคนล้วนเคยเป็นผู้บริหาร หรือนักวิชาการระดับสูงของกระทรวง ฯและครูเก่า รวมทั้งสิ้น 8 คน  แถมมีเจ้าหน้าที่จาก สพฐ ไปด้วยอีก 2 คน คณะจึงนับรวมได้ 10 คนพอดี ทุกคนมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะไปเยี่ยมโรงเรียนในเขตพื้นที่ความไม่สงบให้ได้ โดยไม่กลัวภัยอันตรายใดๆ  จะว่าไม่กลัวก็ไม่เชิงเสียทีเดียว อาจารย์ศิริ รอดบุญธรรม อดีตผู้อำนวยการวิทยาเขตราชมงคลพระนครศรีอยุธยา ที่ร่วมเดินทางไปด้วย (อาจารย์ศิริ อายุสัก 76 ปี เห็นจะได้) เปิดเผยความในใจหลังจากกลับมาแล้วว่า

                ผมตื่นเต้นเมื่อเครื่องบินถึงสนามบินหาดใหญ่ แต่พอลงไปเห็นทุกอย่างเรียบร้อย มีคนมาดูแลต้อนรับ และไม่มีอะไรน่ากลัว ก็สบายใจขึ้น

 อาจารย์ศิริคงจะกลัวๆกล้าๆ แต่มีความกล้ามากกว่าความกลัว

                คณะเดินทางถึงสนามบินหาดใหญ่ตอนเช้า แล้วขึ้นรถตู้โดยสารที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 3 ที่อาจารย์ศลใจ  ผู้อำนวยการเขตจัดเตรียมให้ รับไปที่อำเภอสะบ้าย้อยของสงขลาทันที เรามุ่งไปโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาซึ่ง เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา อยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอ แต่ที่นี่เคยเกิดเหตุการณ์ซุ่มยิงจนทหารหาญต้องพลีชีพกันหลายคน  ชมรมฯเคยมาแล้วครั้งหนึ่ง มามอบเงินเพื่อจัดระบบบริหารห้องสมุดอิเล็กโทรนิกส์   ตอนนี้ระบบบริหารห้องสมุดที่เรียกว่า E-library เสร็จแล้ว เราชื่นชมในความพยายามจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ได้อย่างดี ภายใต้สถานการณ์ยากลำบาก มาคราวนี้เลยมามอบเกียรติคุณบัตร ของมูลนิธีศาสตราจารย์ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการอ่านไว้ให้  คิดว่าถ้าดร.ก่อ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านคงจะชื่นใจที่เห็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษามารับเกียรติคุณบัตรกันมากมาย โรงเรียนดีใจที่คนมาเยี่ยม โรงเรียนเตรียมการต้อนรับอย่างดี เด็กนักเรียนที่นี่เก่งมาก นำคณะชมโรงเรียนได้อย่างคล่องแคล่ว นำผลงานมาอวด แถมจบรายการด้วยการนำข้าวยำมาเลี้ยง ทำให้คณะอิ่มท้องไปตามๆกัน  ผมติดใจในฝีมือเข้าไปในครัวถามหาคนทำ ปรากฏว่าคนทำเป็นคนเหนือ เป็นคนเชียงใหม่ มาเป็นสะใภ้คนใต้อยู่นาน เลยเกิดความเชี่ยวชาญเรื่องการทำอาหารแบบใต้  เป็นอย่างนั้นไป

                วันรุ่งขึ้นคณะได้เดินทางไปจังหวัดนราธิวาส ไปเยี่ยมโครงการรินน้ำใจสู่ใต้พี่ช่วยน้อง ฟังชื่อคงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร  คงต้องอธิบายกันเล็กน้อย  โครงการนี้เป็นการนำครูโรงเรียนมัธยมศึกษาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงไปช่วยติวให้นักเรียนภาคใต้ ที่ไปพบและพอจำได้ก็มี เช่นจากโรงเรีนสวนกุหลาบนนทบุรี ภปร.ราชวิทยาลัยนครปฐม ระยองวิทยาคม เป็นต้น  ผู้บริหารโรงเรียนก็ไป ครูก็ไป   เห็นบรรยากาศในห้องเรียนแล้วประทับใจผู้ไปเยี่ยมเป็นอย่างยิ่ง   นักเรียนมาจากที่ต่างๆ มาฟังคำบรรยายแน่นห้องเรียน ทุกคนตั้งใจฟังครูสอน   ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหญิง คลุมผม แสดงว่าเป็นมุสลิม   ดังนั้นที่ใครว่าสตรีมุสลิมไม่ค่อยสนใจการศึกษานั้นไม่เป็นความจริงเลย  เมื่อลองคุยกับนักเรียนดู พบว่านักเรียนมีความมุ่งมั่นกับการเรียนมาก  ชมว่าครูที่มาสอนดี ได้ความรู้มาก ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับการเตรียมสอบคัดเลือกในสาขาที่ชอบยิ่งขึ้น   ลองคุยกับครูที่ไปสอน เช่น  อาจารย์สมลักษณ์ จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษสาขาเคมี  เธอชื่นชมนักเรียนมาก บอกว่าปีหน้าถ้ามีโครงการเช่นนี้จะอาสามาอีก  เมื่อถามว่ามาใต้กลัวไหม เธอตอบว่าไม่กลัวเลย

                ภาระกิจสำคัญอีกประการหนึ่งในการมาใต้ครั้งนี้ คือการไปเยี่ยมโรงเรียน  ฝ่ายจัดได้เตรียมให้ไปเยี่ยมที่โรงเรียนบ้านปาลัส ที่จังหวัดปัตตานี โรงเรียนนี้ต้องแยกจากถนนใหญ่ไปถนนย่อยสัก4-5 กม. ขณะที่คุยกันมาในรถเพลินๆ ก็มีคนเปรยว่า เมื่อตอนขามาไม่มีรถทหารนำ  แต่ทำไมตอนนี้จึงมีทหารนำ พูดได้ไม่เท่าไร รถก็เริ่มแยกจากถนนใหญ่ หลายคนจึงร้องอ๋อเข้าใจ ว่าเป็นภาระกิจของทหารที่จะต้องดูแลความปลอดภัย ดังนั้นที่หลายคนคิดว่าเรามากันเงียบๆ  ไม่มีใครทราบนั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

                ที่โรงเรียนบ้านปาลัส ผมได้พบกับผู้บริหารและครูจากโรงเรียนเครือข่าย ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา  และนักเรียน  คณะฯมีสมุดหนังสือและขนมมาฝากนักเรียน โรงเรียนนี้จัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่3   มีนักเรียน 300 คนเศษ   ฟังการบรรยายแล้วรู้สึกว่าครูมีความยากลำบากในการทำงานพอสมควร เพราะชาวบ้านยากจน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3 ซึ่งเป็นการเปิดแบบขยายโอกาส มีนักเรียนเพียง 16 คน ในขณะที่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษามี 300 คน ถามว่าเหตุใดเด็กจึงไม่เรียนต่อ คำตอบคือเด็กไปเรียนต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่  จึงเหลือนักเรียนน้อย  คงต้องเป็นปัญหาให้กระทรวงศึกษาธิการคิดว่าจะแก้ปัญหาเช่นนี้ได้อย่างไร

                โรงเรียนนี้ยังขาดแคลนหลายอย่าง ฟังว่าทั้งโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียง 2 เครื่อง เวลาฝนตกหนักน้ำจะท่วมโรงเรียน เพราะอาคารเรียนสร้างมานาน ในขณะที่รอบข้างถมดินยกระดับสูงขึ้น ทำให้พื้นห้องเรียนอยู่ต่ำกว่าสนามหญ้า   ถึงกระนั้นเด็กทุกคนร่าเริงแจ่มใส   ผู้ปกครองให้ความสนใจกับโรงเรียนดีมาก  แต่ก็คงช่วยโรงเรียนได้ไม่มากนัก  เพราะฐานะค่อนข้างยากจน  และผู้ปกครองมีการศึกษาน้อย

                กำลังชมโรงเรียนกันเพลินๆ มีคนมากระซิบว่า โรงเรียนนี้มีลวดหนามแบบทหารใช้ ล้อมไว้ ชาวบ้านกระซิบบอกว่าเมื่อไม่กี่วันนี้มีคนจะมาเผาโรงเรียน ชาวบ้านเห็นเสียก่อนจึงช่วยกันไว้ได้ และทำให้ผู้มาก่อความเดือดร้อนเสียชีวิตไป 2 คน ผู้ตรวจราชการกระทรวง คุณประดิษฐ์ ได้ยินเข้าก็บอกว่า ไม่ต้องกลัวอะไรหรอก รถผมมีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์  รับรองไม่มีการระเบิด  พวกเราก็มองหน้ากันเหมือนจะตั้งคำถามว่า จริงหรือ

                มาครั้งนี้ ทุกคนมีความรู้สึกตรงกันว่า  ครูใต้ต้องการขวัญและกำลังใจ นักเรียนใต้ก็ใฝ่ใจต่อการศึกษาไม่น้อยกว่าที่อื่นๆ   เราภูมิใจที่ได้อาสามาทำหน้าที่ให้กำลังใจต่อครูใต้   และจะกลับไปบอกให้คนอื่นมาช่วยด้วย  ส่วนคณะของชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะมาอีกอย่างแน่นอน

 

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

ประธานชมรมข้าราชการและครูอาวุโส

ของกระทรวงศึกษาธิการ

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา#ภาคใต้
หมายเลขบันทึก: 273730เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท