พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497


พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497

พ.ร.บ. รายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตราที่ 1-16

พระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล พ.ศ. 2497"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2497/16/466/9 มีนาคม 2497]
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปันรายได้บำรุงเทศบาล พุทธศักราช 2479 และบรรดากฎหมาย กฏ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มี บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลใด ให้เทศบาลนั้น จัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาล ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา 5 อากรการฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นเนื่องในการฆ่าสัตว์ ในเขตเทศบาลใด ให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาล ตามกฎหมาย ว่าด้วยการนั้น

            มาตรา 6 บรรดาค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม และค่าปรับเนื่อง ในกิจการซึ่งเทศบาลได้รับมอบให้เป็นเจ้าหน้าที่อนุวัตการตามกฎหมายใด ให้เป็นรายได้ของเทศบาลนั้น
มาตรา 7 ภาษีป้ายตามประมวลรัษฎากร สำหรับป้ายซึ่งแสดงไว้ ในเขตเทศบาลใด ให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาลตามประมวล รัษฎากร ตั้งแต่ปีภาษี 2498 เป็นต้นไป

มาตรา 8 ภาษีบำรุงท้องที่ตามประมวลรัษฎากรในเขตเทศบาลใด ให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาลตามประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ปี ภาษี 2497 เป็นต้นไป
มาตรา 9 ในการปฏิบัติการตาม มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 8 ให้เทศบาลมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการ และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ในการบังคับเรียกเก็บภาษีค้างตาม
มาตรา 7 และ มาตรา 8 ให้ นายกเทศมนตรีมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาม มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 10 การจัดสรรภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน ที่จัดเก็บได้ในจังหวัดใด ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น
[
มาตรา
10 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530]
มาตรา 11 บรรดาข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขาว รวมตลอดถึง ปลายข้าว และรำข้าว ซึ่งต้องเสียอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยพิกัด อัตราศุลกากร ผู้ส่งออกต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลก่อนส่งออกอีกในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ข้าวกล้องและข้าวขาว หนึ่งร้อยกิโลกรัมต่อหนึ่งบาท
(2) ข้าวเปลือก ปลายข้าว และรำข้าว หนึ่งร้อยกิโลกรัมต่อ ห้าสิบสตางค์
ในการคำนวณน้ำหนักเพื่อเสียภาษีบำรุงเทศบาลตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งร้อยกิโลกรัม ถ้าถึงห้าสิบกิโลกรัมให้นับเป็นหนึ่งร้อยกิโลกรัม ถ้าไม่ถึงห้าสิบกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง
มาตรา 12 เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บภาษีอากร และค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้ได้ทุกประเภทหรือเพียงบางประเภท คือ
(1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ซึ่งสถานประกอบการ อยู่ในเขตเทศบาล
(2) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ซึ่ง ร้านขายสุราอยู่ในเขตเทศบาล
(3) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วย การพนัน ซึ่งสถานที่เล่นการพนันอยู่ในเขตเทศบาล
ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาท ให้ตัดทิ้ง
[
มาตรา
12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534]
มาตรา 12ทวิ เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวล รัษฎากร ในอัตราดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ศูนย์ ให้เทศบาลเก็บในอัตราร้อยละศูนย์
(2) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่น ให้เทศบาลเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามประมวล รัษฎากร
[
มาตรา
12 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534]
มาตรา 13 น้ำมันเบนซินซึ่งสถานที่ค้าโภคภัณฑ์อยู่ในเขตเทศบาลใด ให้เทศบาลนั้นมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บภาษีบำรุงเทศบาลได้ไม่เกินลิตรละ ห้าสตางค์ ในการนี้ให้ถือว่าภาษีดังกล่าวเป็นภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ตามประมวล รัษฎากร
มาตรา 14 ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตาม มาตรา 11 มาตรา 12 และ มาตรา 12ทวิ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วย การนั้น
เทศบาลจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมตาม
มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 12 ทวิ หรือ มาตรา 13 เรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพื่อเทศบาลก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้วให้ส่งมอบให้แก่เทศบาล นั้น ๆ เว้นแต่ภาษีบำรุงเทศบาลตาม มาตรา 11 ให้ส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดแบ่งให้เทศบาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
[
มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534]
มาตรา 14ทวิ การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 12 (1) และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 12ทวิ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลรัษฎากร และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าว การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลรัษฎากร ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว หลักเกณฑ์และวิธีการ สำหรับการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การยื่น แบบแสดงรายการและการชำระภาษี ตลอดจนการควบคุมกำกับโดยกระทรวง ทบวง กรม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
[
มาตรา 14 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534]
มาตรา 15 นอกจากรายได้ของเทศบาลตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เทศบาลอาจได้รับรายได้เป็นเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
มาตรา 16 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออก กฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เท่าที่เกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของตน
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้

:: ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี


*หมายเหตุ
:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยเหตุที่ เทศบาลต่าง ๆ มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะดำเนินบริการสาธารณะของเทศบาลได้ โดยครบถ้วน ตามอำนาจและหน้าที่ในกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล ทั้งนี้เพราะ ขาดกำลังเงินที่จะนำมาใช้จ่าย สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปันรายได้ ให้เทศบาล และกำหนดหลักการจัดหารายได้ให้แก่เทศบาลขึ้นใหม่ โดยปันภาษี อากรของรัฐบางส่วนให้แก่เทศบาลบ้าง ให้ภาษีอากรที่เก็บอยู่แล้วบางประเภท เป็นรายได้ของเทศบาลบ้าง และให้เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติจัดเก็บ ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมบางประเภท ตามประมวลรัษฎากรและตามกฎหมายอื่น เพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมนั้น ๆ บ้าง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 232 ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2515
[รก.2515/165/7พ./6 พฤศจิกายน 2515]

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 327 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

[ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสุรา ภาษีเครื่องดื่ม พ.ศ. 2517]
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า รายได้จากภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่ม ของราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ซึ่งแต่เดิมกฎหมาย กำหนดให้รายได้จากภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มตกเป็นรายได้ของราชการ ส่วนท้องถิ่นที่โรงงานสุราและโรงงานเครื่องดื่มตั้งอยู่ในเขตเท่านั้น ซึ่ง ความจริงประชาชนที่อยู่นอกเขตก็ได้บริโภคและเสียภาษีนี้ด้วย จึงสมควร ปรับปรุงให้ราชการส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้รับส่วนแบ่งจากเงินรายได้ประเภท ดังกล่าวโดยทั่วถึง หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
[รก.2515/190/133พ./13 ธันวาคม 2515]

พระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530

*หมายเหตุ
:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ปัจจุบันได้มีการบัญญัติเรื่องการจัดสรรภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือ ล้อเลื่อนที่ให้แก่เทศบาลไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พุทธศักราช 2478 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 แล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ซึ่งบัญญัติในเรื่องเดียวกันนี้เสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2530/139/22พ./23 กรกฎาคม 2530]

พระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ( มาตรา 7)

มาตรา 7 ในระหว่างที่เทศบาลยังมิได้มอบให้กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเทศบาลตาม มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเทศบาลเพิ่มขึ้นอีกเท่ากับอัตรา ภาษีตาม มาตรา
12ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเทศบาลได้มอบให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อ เทศบาลตาม
มาตรา 14

พระราชบัญญัติ รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534
*หมายเหตุ
:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ได้ยกเลิกภาษีการค้าและได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะมาแทน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยรายได้เทศบาลให้สอดคล้องกับการใช้ภาษี ดังกล่าว ประกอบกับมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับบทกฎหมายที่ได้ เปลี่ยนแปลงไปแล้วสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้
[รก.2534/201/198พ. /21 พฤศจิกายน 2534]

หมายเลขบันทึก: 273449เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท