ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

บทเรียนจากมาบตาพุด: กรรมเก่ายังไม่ทันจางกลับสร้างกรรมใหม่ด้วยกระบวนการแบบเก่าให้ชาวนครฯ


กระบวนการในช่วงต่อไปของการแสวงหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายจึงไม่ใช่เป็นแต่เพียงความต้องการของฝ่ายรัฐบาลกลางอย่างเดียวเหมือนในอดีตโดยมองข้ามและละเลยความต้องการ ความฝันของท้องถิ่นที่คิดจะอยู่ จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างไรด้วย(โดยเฉพาะการระบุ ความฝันหรือวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น เมืองศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เมืองเกษตรและท่องเที่ยวน่าอยู่สู่สังคมพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจะเน้นในเรื่องของฐานการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

 

บทเรียนจากมาบตาพุด

: กรรมเก่ายังไม่ทันจางกลับสร้างกรรมใหม่ด้วยกระบวนการแบบเก่าให้ชาวนครฯ

โดย  ถิ่นทรรศน์  ทิวธงไท

ที่มา จดมหายข่าวเรื่องเล่าจากเขาถึงเล  สื่อสารคดีสร้างสรรค์เพื่อทิศทางการพัฒนาเมืองนคร

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒ ฉบับ  ก่อเกิดเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ

1.เส้นทางของมาบตาพุดจากโชติช่วงชัชวาลสู่เขตควบคุมมลพิษ

     3 ทศวรรษผ่านไปมาบตาพุดและระยองเติบโตและถูกแปรสภาพจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่มีความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐาน3 ขา(เกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ)มาสู่การพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนักเป็นหลักฐาน(1ขา )เป็นข้อสรุปจากรายงานการศึกษาในเอกสารอนาคตระยองเส้นทางสู่สังคมสุขภาวะของดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยการเติบโตดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาติดตามมาหลายประการทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว คัดค้านทวงสิทธิ์ของชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องและสิทธิอันพึงมีตามกรอบของกฎหมายที่ได้ให้ไว้นานนับเป็นเวลา 10ปีจนในที่สุดก็ได้มีคำสั่งศาลปกครองลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 โดยได้ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งนับจากนี้ไป ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้ก็ต้องทบทวนและปรับตัวกันใหม่หมดรวมถึงการแสวงหาความร่วมมือที่จะหาทางออกต่อไปร่วมกันทุกฝ่าย เพราะต่อไปนี้ต้นทุนของการพัฒนาประเทศจะต้องถูกนับให้ถูกต้องและครอบคลุมกว่าที่ผ่านมาที่ละเลยและมองข้ามฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญความสุขในชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้นๆมากกว่าคำนึงถึงแต่เม็ดเงินซึ่งแม้ว่าจะเติบโตกว่าเดิมหลายเท่าตัวแต่หากต้องแลกมาด้วยความสูญเสียเหมือนระยองแล้วสังคมก็ต้องพิจารณาทบทวนกันใหม่ 

2.เครือข่ายภาคประชาสังคม  รัฐ  ทุน กับการหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

      หลังจากนี้ไปคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่ดีหรือธรรมมาภิบาลที่ทั้งภาคเอกชน รัฐหรือแม้แต่ภาคประชาสังคมก็ตาม ต่างก็พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการที่จะฟื้นฟู เยียวยาจนถึงกับการให้กรณีของมาบตาพุดเป็นต้นแบบที่ทุกฝ่ายจะต้องศึกษาเพื่อหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์เช่นมาบตาพุดเกิดขึ้นอีก และโดยเฉพาะปัจจุบันแล้วโลกเสมือนแบนราบเพราะสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากพร้อมทั้ง การเติบโตของภาคประชาสังคมและทุกๆฝ่ายเองก็ปรับตัว  (แต่กระนั้นก็ตามก็ยังมีบางส่วนกลับแสวงหาและยังใช้แนวทางแบบเดิมที่มุ่งจะกอบโกยและผลักภาระต้นทุนไปสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกิดปัญหามลภาวะต่างๆที่ ติดตามมาเพราะความเห็นแก่ได้ส่วนตัวมากเกินไป)  จนบางครั้งดูเหมือนจะเป็น สงครามของวาทกรรมในการต่อสู้กันระหว่างนักธุรกิจ ผู้ประกอบการที่บอกว่าคำสั่งศาลปกครองให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษจะกระทบต่อการลงทุนซึ่งมาบตาพุดหรือระยองเป็นแหล่งลงทุนและการจ้างงานขนาดที่สุดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคตะวันออกโดยครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมดทั่วประเทศจะอยู่ที่นี่ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับที่นี่จึงกระทบกับการลงทุนทั้งหมดทั่วประเทศด้วยเช่นกัน 

 

 

3.เมื่อนครศรีธรรมราชกำลังตกเป็นเป้าหมายรายต่อไปของแผนงานขยายระยะต่อไปของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งชาติระยะที่3

            ความอิ่มตัวของพื้นที่มาบตาพุดระยองใช้เวลาในการพัฒนา 30 ปีจาก การเติบโตของอุตสาหกรรมหนักปิโตรเคมีที่ได้ขยายตัวเป็นอย่างมากจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่   รัฐบาลกลางโดยสภาพัฒน์และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เอง  ก็ได้พยายามเร่งรัดในการหาพื้นที่แหล่งใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะที่3   และได้กำหนดให้พื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในช่วงต่อไประยะที่ 3อีกด้วย โดย กนอ.ได้ว่าจ้างบริษัททีมคอนซัลแทนส์ให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพดังกล่าวได้ 2 พื้นที่ได้แก่  ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล และ ต.กลาย อ.ท่าศาลา แต่กระบวนการคัดเลือกและการยอมรับของคนในพื้นที่เองในขณะนี้กำลังเป็นประเด็นปัญหากันอยู่ที่ทั้งภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่นเองกำลังมีความยากลำบากในการสร้างการยอมรับให้กับประชาชนในพื้นที่เพราะต่างถูกคัดค้านจากประชาชนใน สอง พื้นที่ดังกล่าวที่จะใช้พื้นที่ประมาณ20,000 ไร่ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก

ซึ่งหากเลือกจะนำพาพื้นที่และชุมชนของตนเองเข้าสู่กระบวนการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองไปสู่วิถีทางแบบที่เป็นเหมือนต้นแบบของมาบตาพุดนั้นพวกเขาล้วนเห็นภาพอนาคตที่ไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้นซึ่งที่ผ่านมากระบวนการของภาครัฐเองกลับดำเนินการโดยใช้เทคนิคของกระบวนการแบบเดิมๆที่ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการต่างๆโดยที่ผู้ว่าจ้าง(กนอ) ก็ต้องการพื้นที่ในการดำเนินการ ทำให้การศึกษาดังกล่าวถูกมองว่าลำเอียง ไม่มีความหมาย ขาดความเข้าใจ ขาดการมีส่วนร่วม ฯลฯซึ่งในปัจจุบันนี้การดำเนินการดังกล่าวด้วยกระบวนการแบบเดิมจึงไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว  ดังเป็นข้อสรุปของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ยอมรับว่าการดำเนินการลงทุนในอุตสาหกรรมในช่วงต่อไปจะต้องคำนึงถึงความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งใช้เทคโนโลยีที่สะอาด รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการบริหารจัดการที่ต้องมีธรรมมาภิบาลอีกด้วยด้วย

               นอกจากนี้เงื่อนไขของบริบทต่างๆในปัจจุบันมีความแตกต่างไปจากอดีตมากมายและล้วนมีความอ่อนไหว และซับซ้อนกว่าในอดีตมากมายหลายเท่าซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้ระเบิดออกมาจากการสะสมของปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆที่หมักเอาไว้กลายเป็นภาวะของมหาวิกฤติของบ้านเมืองดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้จึงยิ่งทำให้มีความยากลำบากเข้าไปอีกในหลายด้านทั้งด้านของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และการมีส่วนร่วม การสร้างการยอมรับของคนในพื้นที่และในปัจจุบันนี้ได้มีเงื่อนไขที่รองรับสิทธิต่างๆของชุมชนตามกฎหมายที่มีมากขึ้นด้วยเช่นรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ67 รวมถึงกระบวนการด้านสิทธิชุมชน พรบ.ข้อมูลข่าวสาร  กระบวนการการมีส่วนร่วมต่างๆของชุมชน การเมืองภาคพลเมือง

 

 

4.ในวิกฤติมีโอกาส ? การแสวงหาทางออกร่วมกันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ?

              กระบวนการในช่วงต่อไปของการแสวงหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายจึงไม่ใช่เป็นแต่เพียงความต้องการของฝ่ายรัฐบาลกลางอย่างเดียวเหมือนในอดีตโดยมองข้ามและละเลยความต้องการ ความฝันของท้องถิ่นที่คิดจะอยู่ จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างไรด้วย(โดยเฉพาะการระบุ ความฝันหรือวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น เมืองศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เมืองเกษตรและท่องเที่ยวน่าอยู่สู่สังคมพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจะเน้นในเรื่องของฐานการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ซึ่งรัฐบาลกลางจะได้ประโยชน์ในรูปของรายได้จากภาษีเข้าสู่ส่วนกลาง รวมถึงนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ได้ประโยชน์จากกำไรแก่บริษัทหรือองค์กรของตนเองไปด้วยต้นทุนที่ต่ำ(ที่ไม่นับต้นทุน การทำลายระบบนิเวศน์และสุขภาพที่เสียไปด้วย)....แต่ท้องถิ่นกลับต้องแบกรับผลกระทบทางลบไว้เต็มที่และต้นทุนในการพัฒนาพื้นที่ในโอกาสต่อไปก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

          จากบทเรียนของมาบตาพุดข้อเสนอ ข้อเรียกร้องต่างๆจึงเป็นเงาสะท้อนที่ดีที่ชาวนครศรีธรรมราชเองหรือที่อื่นก็ตามควรใคร่ครวญพินิจและน้อมรับศึกษาบทเรียนนี้ร่วมกันกับชาวระยองและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสนใจต่อการพัฒนาที่ยุติธรรมต่างๆจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการที่จะออกแบบร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองที่ดีควรเป็นอย่างไรที่ไม่เป็นการซ้ำรอยเหมือนกับความบอบช้ำของมาบตาพุดระยองที่เกิดขึ้นอันเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าของสังคมไทย

 ซึ่งทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาในช่วงต่อไปนั้นจะต้องพัฒนาด้วยการเคารพซึ่งกันและกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย(มิใช่มีได้/เสีย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะแต่ละเลยมองข้ามอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนเช่นที่ผ่านมา)อันเป็นปัญหาไปทั่วทุกหย่อมหญ้าในวันนี้ซึ่งมีที่มาจากรากของปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในวันนี้เหมือนดังคำกล่าวที่นายแพทย์ประเวศ  วะสีได้สรุปไว้ถึงประเด็นปัญหาหลักของบ้านเมืองทุกวันนี้นั้นล้วนมีที่มาจากช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่ถ่างมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย อันเป็นเส้นทางของ ความอยุติธรรมของการพัฒนา ในวันนี้ที่รอวันปฏิรูปอย่างทั่วด้านนั่นเอง.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 273415เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท