Re engineering Thailand Brand


สำหรับประเทศไทยวันนี้คงถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาพูดกันอย่างจริงจังถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ประเทศไทย

 

คุยกันพาเพลิน

วันนี้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคงทำให้ทุก ๆ คนได้รับผลกระทบ แต่ใช่ว่าในปัญหาจะไม่มีทางออก การแสวงหาทางออกเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าในบางครั้งเราอาจจะเหนื่อยท้อแท้กับสิ่งที่เจอ บางคนอาจทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเช่นนี้แต่สิ่งที่ปรากฎออกมากลับไม่ได้ดั่งที่หวังก็อย่าได้ท้อแท้ใจไป 

ครั้งนี้เป็นการนำเอาบทความที่ได้เขียนขึ้นเพื่อลงใน “หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนมาลง 

หนังสือพิมพ์อ่างแก้วเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาแขนงหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานกว่า 4 ทศวรรต ครั้งนี้ผู้เขียนเองได้รับการไว้วางใจให้เป็นบรรณาธิการบริหาร และได้นำเสนอบทความความด้านการตลาดไป จึงเอามาเผยแพร่ต่อีกครั้งหนึ่ง ในโลก Online แห่งนี้




Re engineering Thailand Brand ปฎิวัติการสร้างแบรนด์แบบถึงรากถึงโคน 


ถ้า ฮ่องกง คือ  City of Life แล้ว สิงคโปร์ คือ uniquely Singapore  คำถาม คือ แล้วประเทศไทยเป็นอะไร

คงมีหลายคำตอบ เช่น สยามเมืองยิ้ม เมืองแห่งความวุ่นวาย เมืองที่เดินออกมาข้างถนนแล้วเห็นคนโทรม ๆ เดินบนบาทวิถีหรืออีกคนหนึ่งกำลังขับรถเบนซ์ E220 คันใหม่ เมืองที่มีคนขี่ช้าง เมืองที่อยากกินข้าวเวลาไหนก็กินได้ เมืองที่สนุกสนาน เมืองที่มีทะเลและชายหาดที่สวยงาม และอื่น ๆ อีกมากมาย 

แต่ถ้าคำตอบข้างต้นเป็นของนักท่องเที่ยว นักลงทุน นักเรียนนักศึกษา  ที่กำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ประเทศไทย ก็คงเป็นเรื่องปวดหัวสำหรับผู้นำประเทศหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องตอบกับคนเหล่านั้นว่าแท้ที่จริงแล้วประเทศไทยคืออะไร

ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับประเทศไทยที่เราต้องมาพูดกันให้ชัดเจนว่าประเทศไทยคืออะไร ไม่ใช่พูดเพราะดูหรูดูโก้ แต่ควรพูดเพราะนั้นหมายความถึงจุดหมายปลายทาง (Destination) ที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในประเทศไทย 

ณรงค์ศักดิ์ ผ้าเจริญ Managing Director King Collection บอกว่าคงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรพูดถึงการสร้างจุดยืนของประเทศให้ชัดเจนโดยดึงเอาจุดเด่นต่าง ๆ ของประเทศมาผนวกให้กลายเป็นภาพใหญ่ภาพหนึ่ง กระบวนการดังกล่าวหากมองในแง่การตลาดนั่นคือ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Strategy Thailand Brand Building) ซึ่งจะทำให้ภาพของประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น

ด้าน ดร.นฤมล กิมภากรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างตราสินค้า กล่าวว่า ความเป็นไทย ความเป็นอยุธยา ความเป็นสุโขทัย นั่นคือแบรนด์ของไทยซึ่งมีมานานแล้ว แต่วันนี้ภาพความเป็นไทยที่หลากหลายเกินไป ทำให้ขาดทิศทางที่ชัดเจนว่าแบรนด์ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร

อาจกล่าวได้ว่าภาพความหลากหลายของประเทศไทย คือ โจทย์ใหญ่ในการสร้างแบรนด์ ซึ่งกูรูทั้งสองได้เสนอมุมมองในการทำให้ภาพแห่งความหลากหลายกลายเป็นภาพ ๆ เดียวที่แสดงถึงแบรนด์ความเป็นประเทศไทยอย่างชัดเจน 

มุมมองที่หนึ่ง คุณณรงค์ศักดิ์ บอกว่าควรมองเรื่องของประสบการณ์ จะทำอย่างไรให้คนที่เคยมาประเทศไทยมีความประทับใจในประสบการณ์ที่เขาได้รับ ทั้งความคุ้มค่า ความสวยงาม เป็นต้น

มุมมองที่สอง ดร.นฤมล แสดงทัศนะว่าควรนำเรื่องของมิตรไมตรีจิต (Hospitality) เพราะคนไทยมีทั้งรอยยิ้ม การไหว้ ความอบอุ่น ความเป็นมิตร ซึ่งตรงนี้เอามาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ประเทศไทยได้ 

ทั้งสองมุมมองมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เพราะนั่นคืออัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ต่างชาติลอกเลียนแบบได้ยาก ถึงแม้จะลอกเลียนได้แต่ก็ไม่ได้ออกมาจากใจจริง ตรงนี้ก็เป็นได้ว่า หากคิดถึงแบรนด์เมืองไทยก็ต้องคิดถึงเมืองแห่งรอยยิ้มและเมืองแห่งประสบการณ์อันคุ้มค่า 

หากวันนี้เราต้องการสร้างแบรนด์ประเทศไทยอย่างจริงจังแล้ว การสร้างแบรนด์ให้กับประเทศไทยควรเน้นในเรื่องของประสบการณ์ที่ความคุ้มค่า สนุกสนาน และ ความเป็นมิตรไมตรี (Hospitality) ซึ่งในที่นี้คงทำให้ภาพของประเทศไทยชัดเจนขึ้นในคำถามที่ว่า ประเทศไทยคืออะไร และ ถ้าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางมายังเอเซียคุณคิดออกแล้วว่าจะพบอะไรในเมืองไทย

แต่ปัญหาในการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศไทยอยู่ที่คาดการเชื่อมโยงระหว่างทุกภาคส่วน ภาครัฐไปทางหนึ่ง ภาคเอกชนไปทางหนึ่งสุดท้ายเรื่องการสร้างแบรนด์ให้ประเทศไทยคงเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น หรือกระนั้นเรื่องการสร้างแบรนด์ก็เอาไว้เป็นเรื่องที่พูดดูให้โก้ หากวันนี้ประเทศไทยยังขาดความชัดเจนว่าประเทศไทยเราคืออะไรในภูมิภาคนี้ อาจไม่ปวดหัวมากเท่าใดสำหรับคนไทย แต่จะเป็นเรื่องปวดหัวมากที่สุดสำหรับคนที่จะก้าวย่างเข้ามาสู่ประเทศไทย “ถ้าวันนี้เรายังต้องเปิดรับทั้งทุน และคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเรา”

วันนี้คงถึงเวลาที่เราต้องมาพูดกันอย่างจริงจันถึงเรื่องแบรนด์ประเทศไทย หรือ ที่เรียกกันว่า ต้องปฎิวัติถอนรากถอนโคนการสร้างแบรนด์ประเทศไทย (Re engineering Thailand Brand) ไม่ใช่ทำการสร้างแบรนด์ที่เป็นเพียงโลโก้ หรือ รูปภาพเท่านั้น แต่แบรนด์ประเทศไทยควรเป็นแบรนด์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างแท้จริง และมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

 

วันนี้คงพอเท่านี้ก่อน พบกันใหม่อาทิตย์หน้า 

 

หมายเลขบันทึก: 273269เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนังสือตัวเล็กไป

คน สว. อ่านต้องใช้เวลาค่ะ

มาเยี่ยมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท