เผยแพร่ผลงานวิชาการ การพัฒนากลุ่มขนมจีนสมุนไพรสู่เศรษฐกิจพอเพียง บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา


เผยแพร่ผลงานวิชการ

ชื่อเรื่อง  การพัฒนากลุ่มขนมจีนสมุนไพรสู่เศรษฐกิจพอเพียง  บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา 
  หมู่ที่  11  ตำบลประชาพัฒนา  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม
ผู้วิจัย    สถิตย์  แท่นทอง   ผุ้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
  ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอวาปีปทุม  ตำบลหนองแสง 
  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  44120
ปีพิมพ์    2551

บทคัดย่อ

 การวิจัยการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  หมู่ที่  11  ตำบลประชาพัฒนา  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม   มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3  ประเด็นหลักๆ  คือ  1)  เพื่อศึกษาบริบททั่วไปของบ้านเหล่าราษฎร์พัฒนาที่ส่งผลต่อการดำเนินงานพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  2)  เพื่อพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  3)  เพื่อประเมินศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเหล่าราษฎร์พัฒนาในการศึกษาในครั้งนี้  ใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วม ( Participatory Action  Research)  เป็นหลัก  โดยนำวิธีการและเครื่องมือวิจัยที่หลากหลายมาใช้ในการศึกษาทั้งการศึกษาจากเอกสาร  และการศึกษาข้อมูลภาคสนาม  การลงมือปฏิบัติ  การสังเกตการสะท้อนกลับ  ปรับปรุงพัฒนากิจกรรมของกลุ่ม  ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากผู้รู้ประเภทต่าง ๆ  ทั้งผู้ที่มีบทบาทภายในและนอกชุมชนเหล่าราษฎร์พัฒนา  พื้นที่ในการศึกษา  บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  หมู่ที่  11  ตำบลประชาพัฒนา  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มผู้ร่วมวิจัย  แยกเป็นผู้วิจัยหลัก คือ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกอำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  จำนวน 1  คน  ผู้วิจัยร่วม  จำนวน  2  คน  คือ ครูอาสาศูนย์การบริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอวาปีปทุม  และนักวิจัยชาวบ้าน  จำนวน  20  คน  คือ ผู้นำที่เป็นทางการ  จำนวน  5  คน  ผู้นำที่ไม่เป็นทางการได้แก่ผู้นำกลุ่มอาชีพ  จำนวน  5  คน  ตัวแทนกลุ่มองค์กรชุมชน 10 คน รวม  20  คน รวมจำนวนทั้งหมด  22  คน ขั้นตอนการศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งปรับปรุงมา
จาก  ฉลาด  จันทรสมบัติ  (2547  : 9)  มาสรุปกำหนดขั้นตอนการวิจัย  3  ระยะ  คือ  ศึกษาชุมชนและการประเมินก่อนการดำเนินงานโครงการ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ  การสรุปบทเรียนและประเมินผลหลังการดำเนินงานโครงการ 
สรุปผลการวิจัย
 
ด้านบริบทชุมชน  บ้านเหล่าราษฎร์พัฒนา  มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  74  หลังคาเรือน  ประชากร  329  คน  แยกเป็น  ชาย  172  คน  หญิง 157  คน  มีการตั้งถิ่นฐานและความเป็นอยู่เหมือนกับชุมชนชนบทอีสานทั่วๆ  ด้านเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักทำนา 
 ด้านการศึกษาบริบทชุมนาที่ส่งผลต่อการดำเนินงานพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  การดำเนินงานในระยะผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง  และลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มองค์กรชุมชนเป้าหมาย  โดยมีขั้นการดำเนินงาน   คือ  ศึกษาชุมชนและค้นหาทีมแกนนำ  จัดทำแผนการดำเนินงานการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรชุมชนในการพัฒนาองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง   จัดทำเครื่องมือตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน  และประเมินผลกลุ่มองค์กรชุมชนก่อนการดำเนินงาน  ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้วิจัยจะนำไปวางแผนพัฒนากลุ่มในขั้นตอนต่อไป 
 ด้านการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  หลังจากที่ผู้วิจัยได้ทราบบริบทและสถานการณ์ของชุมชนและกลุ่มองค์กรเป้าหมาย  จึงได้ผลักดันให้กลุ่มองค์กรได้นำแผนการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ไปใช้อย่างจริงจัง  โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน  คือ  สร้างความตระหนักในการดำเนินงาน ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมให้กลุ่มองค์กรชุมชนได้ไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบในการพึ่งตนเอง  ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง  ส่งผลให้กลุ่มองค์กรเป้าหมายดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง  สรุปบทเรียนและทบทวนแผนการดำเนินงาน  แล้วมีการประเมินผลระหว่างดำเนินงาน  ตามแบบประเมินตัวชี้วัดความสำเร็จที่สร้างขึ้น  พบว่า  โดยภาพรวมกลุ่มแปรรูปขนมจีนสมุนไพรมีพัฒนาการในการดำเนินงานระหว่างดำเนินการอยู่ในระดับสูง 
 ด้านการประเมินศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัยได้ประเมินผลหลังสิ้นสุดโครงการ  พบว่า  โดยภาพรวมกลุ่มองค์กรชุมชนมีความสามารถต่อการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  อยู่ในระดับปานกลาง  ทั้งนี้เพราะกลุ่มยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม  การผลิต  การตลาด  และการเงินบัญชี  ผู้วิจัยมีความเห็นว่าหากต้องการที่จะพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ที่เป็นจริงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนและพัฒนาไปอีกระยะหนึ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 272594เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท