ชุดการเรียน


การเรียนด้วยตนเอง

ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่อง ชนิดของคำในภาษาไทย

 

ภูมิหลัง

            ภาษาไทยนับเป็นภาษาประจำชาติและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชนชาติไทย ทั้งยังแสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติที่ธำรงไว้ยั่งยืนควบคู่ไปกับความเป็นไทยเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่สำคัญระหว่างคนไทยด้วยกันและที่สำคัญที่สุดคือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพสำหรับชนชาติไทย ซึ่งต้องอาศัย ภาษาไทยด้วยกันทั้งสิ้น

            กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นความสำคัญของภาษาไทยในด้านการศึกษาจึงจัดให้มีการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยให้แก่เยาวชนไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไป สำหรับการเรียนการสอนภาษาไทยในหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสาระการเรียนรู้ไว้ 5 สาระ ได้แก่ สาระการอ่าน  สาระการเขียน  สาระการฟัง การพูด และการดู สาระหลักการใช้ภาษา  สาระวรรณคดี และวรรณกรรม ซึ่งสาระเหล่านี้ จะมีประสิทธิผลต่อเมื่อนักเรียนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีความรู้ความเข้าใจ คือสามารถใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากภาษาไทย เป็นภาษาที่มีศิลปะและต้องใช้อย่างมีศิลปะด้วยจึงจะเกิดผลสำเร็จอย่างยิ่ง

            สาระที่สำคัญทางภาษาไทยทั้ง 5 สาระที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องและเหมาะสมของผู้เรียนอีกด้วยซึ่งการเข้าใจชนิด ความหมาย และหน้าที่ของคำ นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง แต่ปัจจุบันผู้เรียนในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ  เขต 2 ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน มีผลการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในระดับประถมศึกษาในสาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา มาตรฐาน  ท.4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษา และหลักภาษาไทย  การเปลี่ยนแปลงของภาษา และพลังของภาษา  ภูมิปัญญาทางภาษา  และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ  ข้อ 2. สามารถใช้คำ  กลุ่มคำ ตามชนิดและหน้าที่มาเรียบเรียงเป็นประโยค  ใช้ประโยคสื่อสารได้ชัดเจน รู้จักใช้คำที่มีความหมายโดยตรง และความหมายโดยนัย  มีคะแนนเฉลี่ยต่ำคือ ประมาณร้อยละ 50 ของคะแนนทั้งหมด จึงแสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนในระดับประถมขาดทักษะในการเลือกใช้คำหรือนำคำต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมดังนั้นพื้นฐานในการรู้จักคำ หน้าที่ และความหมายของคำ นับเป็นสิ่งสำคัญในการที่นักเรียนจะรวบรวมความรู้และนำมาประกอบขึ้น เพื่อตีความหมายที่จะให้เข้าใจ ข้อความที่ได้อ่าน ฟัง ดู พูด หรือเขียนในการเรียน ดังนั้นวิธีการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ครูควรหาวิธีการสอนและจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียน เพราะวิธีการสอนเป็นวิธีฝึกทักษะโดยตรง นักการศึกษาบางท่านถือว่าวิธีสอนมีความสำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาหรือความรู้ที่ต้องสอนจริงเพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งตายตัวอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ วิธีการสอนภาษาไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมเสมอมา สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งผลการวิจัยเหล่านั้นทำให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ (รัชนี ศรีไพรรวรรณ. 2517 :  คำสัมภาษณ์) ซึ่งสอดคล้องกับกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการศึกษาประสิทธิผลของวิธีการสอน และสื่อการสอนภาษาไทย เพื่อดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังจากที่ได้รับการสอนด้วยวิธีการสอน และการใช้สื่อการสอน ผลการทดลองพบว่าวิธีการสอนโดยเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และใช้สื่อการสอนมาช่วยในการเรียนการสอนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้น

            จากข้อมูลข้างต้นผู้ศึกษามีความเชื่อว่า การใช้สื่อการสอนเข้ามาเป็นตัวกลางที่ช่วยการสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจความหมายของเนื้อหาบทเรียนได้ตรงตามที่ผู้สอนต้องการ ไม่ว่าสื่อนั้นจะเป็นสื่อรูปแบบใดก็ตามล้วนเป็นทรัพยากรที่สามารถอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้นและในการใช้สื่อการสอนผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาถึงลักษณะเฉพาะและคุณสมบัติของสื่อแต่ละชนิดเพื่อเลือกสื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์การสอนและสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยต้องมีการวางแผนอย่างมีระบบในการใช้สื่อ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กิดานันท์ มลิทอง.       2540 : 79)

            ในการใช้สื่อการสอนต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดหรือประเภทใด ก็ตาม ผู้สอนอาจจะใช้สื่อเพียงครั้งละอย่างเดียว หรืออาจใช้สื่อร่วมกันหลาย ๆ อย่างในรูปแบบของสื่อประสม (Multimedia) ก็ได้ โดยอาจใช้กับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย หรือในการศึกษารายบุคคล การใช้สื่อประสมนี้โดยทั่วไปแล้วจะใช้สื่อแต่ละอย่างเป็นขั้นตอนไป แต่ในบางครั้งก็อาจใช้สื่อหลายชนิดพร้อมกัน การใช้สื่อการสอนโดยใช้สื่อประสมเป็นยุทธศาสตร์การสอนพื้นฐานที่เน้นการใช้ประสบการณ์การเรียนหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กัน หรือในทำนองเดียวกันกับการเลือกใช้สื่อหลาย ๆ ชนิด ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นการเสริมแรงในการเรียนทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การใช้สื่อเพื่อเป็นการเสริมแรงเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้มาก ทำให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างกระปรี้กระเปร่ามีความตั้งใจและต้องการที่จะเรียน ทำให้ผู้เรียนได้แสดงปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าได้ถูกต้อง ถ้าเราได้วางแผนการใช้สื่อสิ่งเร้าหรือสื่ออย่างดีแล้ว ก็ย่อมทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ทั้งทางตา หู จมูก และอื่น ๆ ถ้าผู้เรียนสามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสมากเท่าใด ยิ่งทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนย่อมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            สื่อการเรียนเป็นสิ่งที่ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา สื่อการเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนทุกคนควรเลือกนำมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้จากแนวโน้มที่มีการใช้สื่อประสมมากขึ้น  ก็ช่วยให้ผู้เรียนได้เปรียบเทียบในหลายรูปแบบของสื่อประสม เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนช่วยประหยัดเวลาทั้งผู้สอนและผู้เรียน อีกทั้งผู้เรียนก็จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการนำไปใช้สู่การจัดการเรียนการสอนของครูในปัจจุบัน

            สื่อการเรียนที่ผู้ศึกษาค้นคว้า เพื่อนำมาในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นชุดการเรียนที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น โดยใช้บทเรียนการ์ตูน เพลงประกอบการเรียน เกมปริศนาอักษรไขว้ประกอบการเรียน และแบบฝึกสรุปองค์ความรู้ลงแผนภาพความคิด (Maid mapping) แบบฝึกแต่ประโยค และการจำแนกชนิดของคำ เพื่อให้ผู้เรียนศึกษา และเรียนรู้ด้วยตนเองจากชุดการเรียน การเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนย่อมช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนและพัฒนาตนเองตามศักยภาพความสามารถของตน เพราะปัจจุบันนี้การเรียนการสอนควรยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนมากกว่าการบรรยายที่มาจากครูซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของกรมวิชาการที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน (กรมวิชาการ. 2532 : 4) และการให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น ย่อมทำให้ผู้เรียนมีอิสระในความคิด จินตนาการ การรู้จักการทำงานด้วยตนเองก่อให้เกิดความรับผิดชอบ และพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง (พนม  พริ้มอารีย์. 2522 : 49-53)

            ชุดการเรียนเป็นสื่อทางการศึกษาที่มีคุณค่าทางการจัดการเรียนการสอนหลายประการเป็นเครื่องมือช่วยให้ครูดำเนินการสอนไปตามลำดับขั้นตอนช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้บางโอกาส ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาหรือประสบการณ์ที่ซับซ้อนเป็นนามธรรมสูงได้ ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองช่วยส่งเสริมการศึกษารายบุคคล ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจตามเวลาและโอกาสที่อำนวย (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และคนอื่น ๆ .2523 : 60 ; นิพนธ์ ศุขปรีดี. 2525 : 77 ; วาสนา ชาวหา. 2525 : 139-140 และวิชัย วงษ์ใหญ่. 2525 : 192)

            โดยสรุปแล้วการใช้สื่อการเรียนกับเด็กประถมศึกษาให้คำนึงถึงธรรมชาติการชอบเล่นของเด็ก คำนึงถึงเนื้อหาที่สอนมีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่เด่นชัดยึดหลักการใช้สื่อประสม มีการทดสอบประสิทธิภาพสื่อที่สร้างใหม่ และพยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อให้มากที่สุด (ฉวีวรรณ กีรติกร. 2532 : 19)

            จากการศึกษาวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ชุดการเรียนพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาต่าง ๆ ของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและ/หรือสูงกว่ากลุ่มนักเรียน ที่เรียนมาจากการเรียนการสอนตามปกติ (ศิริวรรณ โพธิ์สุวรรณ. 2531 : 2 ; บรรจง แก้ววิเศษกุล. 2533 : 47-48 ; สุนีย์ เหมะประสิทธิ์. 2533 : 181-182 ; กมล เฟื่องฟุ้ง.2534 : 87 ; วาทินี ธีระตระกูล. 2534 : 79-80)

            ชุดการเรียนจัดเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ และมีส่วนช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามศักยภาพและเนื่องจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรม การนำสื่อเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ก็ยิ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชุดการเรียนยังช่วยให้ครูได้รับความสะดวกมากในการสอนประหยัดเวลาในการเตรียมการสอนผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและมีส่วนร่วมในการเรียนของตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้ศึกษามีแนวคิดในการสร้างชุดการเรียน เพื่อศึกษาว่าชุดการเรียน จะสามารถตอบสนองการเรียนรู้ของนักเรียนให้เกิดความรู้ ทักษะและวินัยในตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ดีหรือไม่เพียงใด

 

จุดมุ่หมายของการศึกษาค้นคว้า

            1. เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องชนิดของคำในภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สำหรับการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ทีกำหนดไว้

                2. เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องชนิดของคำในภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ทีกำหนดไว้

            3. เพื่อประเมินผลการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องชนิดของคำในภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

 

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

            ทำให้ได้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องชนิดของคำในภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาชุดการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในเนื้อหาอื่น ๆ ต่อไป

 

ขอบเขตการศึกษาค้นคว้า

            ประชากร

            ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จากโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน และโรเรียนบ้านกุดโง้งดงสวรรค์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ  เขต 2 มีนักเรียน 45 คน

            กลุ่มตัวอย่าง

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในภาคเรียนที่  ปีการศึกษา 2551  จากโรงเรียนบ้านกุดโง้งดงสวรรค์  ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน โดยมีนักเรียนเป็นกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน  18  คน  แบ่งเป็นกลุ่มทดลองดังนี้

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งที่  1  จำนวน  3  คน

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งที่  2 จำนวน   6 คน

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งที่  3 จำนวน   9 คน

            ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า

            ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551  ใช้เวลาเรียน 7 วัน วันละ 1 ชุด โดยแบ่งเวลาในการเรียนดังนี้

                        ชุดการเรียนที่  1  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

ชุดการเรียนที่  2  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

                            ชุดการเรียนที่  3  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

                            ชุดการเรียนที่  4  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

                            ชุดการเรียนที่  5  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

                            ชุดการเรียนที่  6  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

                            ชุดการเรียนที่  7  ใช้เวลาในการเรียน  1  ชั่วโมง

 

            เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า

            เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นเนื้อหาความรู้เรื่องชนิดของคำ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยซึ่งประกอบด้วยเนื้อหา  7  ชุด  ดังนี้

หมายเลขบันทึก: 272280เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท