คลายกังวลใจในวันเปิดเทอม


วันแรกของการเปิดเทอมใหม่เด็กๆอนุบาลมักจะร้องไห้

เปิดเทอมใหม่เปิดใจคุณครู
          วันเปิดเทอมใหม่ บรรดาคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองหลายท่านคงจะมีความวิตกกังวลใจไม่น้อยเกี่ยวกับการปรับตัวของบุตรหลาน  จะมีพ่อแม่ไม่กี่คนที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยผ่านเหตุการณ์ในวันเปิดเทอมใหม่ของหนูๆวัยอนุบาลมาแล้ว
          ผมเองเคยมีลูกเรียนอยู่อนุบาลและมีลูกศิษย์อนุบาลผ่านมาแล้วกว่า ๒๐ รุ่น  ดังนั้นจึงขอนำประสบการณ์ที่ผ่านมานำมาบอกเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจ นำไปปรับใช้ตามที่เห็นสมควร
          การเตรียมตัวลูกน้อยในวันเปิดเทอมใหม่ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรจะลองปฏิบัติดังนี้
                          ๑) พาลูกหลานไปเยี่ยมชมโรงเรียนก่อนเปิดเทอมเพื่อสร้างความคุ้นเคย
                          ๒) ควรบอกกับลูกหลานว่าหนูจะได้มาพบคุณครู และจะได้พบเพื่อนๆมากมาย เพื่อให้เด็กไม่วิตกกังวลและเกิดความมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง
                          ๓) วันแรกของการไปโรงเรียน ถ้าผู้ปกครองไปส่งด้วยตนเองไม่ควรอยู่โรงเรียนกับเด็กทั้งวัน ควรมอบความไว้วางใจ ยอมมอบบุตรหลานให้กับคุณครูแม้ว่าเด็กอาจจะร้องไห้ก็ต้องใจแข็ง  เพื่อให้เด็กติดครู ติดโรงเรียน (ส่วนครูเขาก็จะมีวิธีหลอกล่อ ใช้จิตวิทยาจูงใจให้เด็กมีความอบอุ่นใจและอยากอยู่กับคุณครู)
                          ๔) กรณีที่ผู้ปกครองได้ให้คำมั่นสัญญาอะไรกับบุตรหลาน จะต้องรักษาคำมั่นสัญญาให้มั่นเหมาะ เช่น สัญญาว่าจะมารับหลังเลิกเรียนก็ต้องมารับตามเวลาไม่ใช่ว่าปล่อยให้เด็กรอจนถึงเย็นก็ยังไม่มา เป็นต้น  อย่าลืมว่าเด็กจะจดจำสัญญาแม่นมาก คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะสัญญาอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่าทำได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นถ้าท่านไม่ทำตามสัญญาเด็กจะไม่เชื่อใจท่านอีกเลย

เด็กเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม
           ในช่วงสัปดาห์แรกเด็กๆจะได้รับการแนะนำจากคุณครูให้รู้จักเพื่อนๆ คุณครูและสิ่งต่างๆที่อยู่ในโรงเรียน  เด็กจะเกิดการเรียนรู้และเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ซึ่งผิดแผกแตกต่างกับที่บ้าน  จะมีเด็กบางคนที่ปรับตัวได้ง่ายและอาจมีบางคนที่ปรับตัวค่อนข้างยาก อาจจะมาจากการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน  บางครั้งเด็กมาโรงเรียนไม่ยอมทานข้าว  ไม่ยอมปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระซึ่งเป็นหน้าที่ของครูที่จะคอยสังเกต ช่วยเหลือ แนะนำ
           สำหรับเด็กที่มีปัญหาในการปรับตัว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ดังนี้
                        ๑) หมั่นสอบถามว่าลูกมาโรงเรียนรู้จักใครบ้าง  ลูกทานข้าวได้หรือไม่ อาหารอร่อยหรือเปล่า และมีเพื่อนแล้วหรือยัง เป็นต้น
                        ๒) หมั่นติดต่อสื่อสารกับคุณครู  เช่น โรงเรียนจะมีสมุดสื่อสารใส่ไปในกระเป๋านักเรียน  เมื่อกลับไปถึงบ้านควรเปิดอ่าน และเขียนสมุดสื่อสารกับคุณครูหรืออาจใช้โทรศัพท์พูดคุยกับคุณครู เพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือแนะนำนักเรียน
                        ๓) ถ้าเด็กไม่อยากมาโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นอย่าไปบังคับขู่เข็นหรือคาดคั้นจะลงโทษ  ควรใช้วิธีปลอบโยนแล้วค่อยสอบถามหาสาเหตุว่าทำไมจึงไม่อยากไปโรงเรียนและควรแจ้งให้ครูประจำชั้นทราบด้วย เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างตรงประเด็น

เตรียมความพร้อมทุกๆด้าน
           เมื่อเด็กมาอยู่ในโรงเรียน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณครูในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กทุกๆด้าน ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์-จิตใจ  สังคม และสติปัญญา  ดังนั้นโรงเรียนจึงได้จัดหน่วยประสบการณ์การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในลักษณะการฝึกทักษะประสบการณ์ผ่านการเล่นโดยอาจจะเล่นกับเพื่อนๆ หรือเล่นตามลำพัง  ซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ในขณะที่เล่นกับเพื่อนๆหรือการเล่นตามลำพัง ตามความสนใจของตนเอง
           เท่าที่เคยมีประสบการณ์ พบว่า คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองบางท่านใจร้อน อยากให้ลูกๆอ่านออก เขียนได้ อยากให้ครูมอบการบ้านให้ลูกๆ  ซึ่งถือว่าเป็น "เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย" เพราะขัดกับหลักการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กวัยก่อนวัยเรียน 
           หากเด็กได้รับการ "เตรียมความพร้อมทุกๆด้านอย่างสมดุล" แล้ว เท่ากับเป็นการวางฐานรากที่เข้มแข็ง มั่นคง  และในอนาคตเด็กๆเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกๆด้านในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

           ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
             ๗ พ.ค.๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 27206เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2006 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ดิฉันเคยมีลูกเรียนอนุบาลเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ตอนนี้เป็นคุณยายเลี้ยงหลาน  คิดว่าเหตุการณ์เมื่อตอนนั้นกับตอนนี้ผิดกันเยอะ  อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงหลานที่จะเข้าอนุบาล 1 ปีนี้ แต่คิดว่าวิธีการที่แนะนำมาเป็นประโยชน์มากค่ะ

การศึกษาของเราเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นอีกหลายด้าน เศรษฐกิจ

สังคม สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม เป็นต้นการศึกษาระดับปฐมวัย

แม้จะมีหลักการ วิธีการเป็นที่ยอมรับชัดเจนอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทำให้การศึกษาปฐมวัยเบี่ยงเบนไปได้มากมาย  ขอจงเข้าใจและทำใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท