ความเชื่อเรื่อง “ทวด” ในสถาบันการศึกษาจังหวัดสงขลา


ทวด

ความเชื่อเรื่อง  “ทวด”  ในสถาบันการศึกษาจังหวัดสงขลา
           
                ความเชื่อในเรื่องทวด ถือเป็นความเชื่อพื้นฐานในแบบท้องถิ่นนิยมภาคใต้ที่ล้วนเชื่อกันว่า ทวด เป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชานุภาพสามารถที่จะให้คุณให้โทษได้  ทวด ในความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้  และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย(ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย  หรือเรียกไทยสยาม)ล้วนจำแนกออกเป็นประเภทย่อยๆได้ 4 ประเภทดังนี้คือ
1. ทวดในรูปคน
2. ทวดในรูปสัตว์(ทวดงู,ทวดจระเข้,ทวดช้าง  และทวดเสือ)
3. ทวดในรูปต้นไม้
4. ทวดไร้รูป(ไม่ปรากฏรูปร่าง)
                ความเชื่อในเรื่องทวด นอกจากจะเป็นที่นิยมแพร่หลายกันในแถบท้องถิ่นภาคใต้แล้ว  ยังปรากฏความเชื่อที่สืบทอดกันในสังคมเมือง  ในสถาบันการศึกษาของผู้ทรงวิชาความรู้อย่างน่าประหลาดใจด้วย  อาทิ  ความเชื่อในเรื่องทวด 3 ตนที่มีหน้าที่เฝ้าป้องปกดูแลสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้ง 3 ในจังหวัดสงขลาคือ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  มหาวิทยาลัยทักษิณ  และในวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่  ปรากฏกายในรูปแบบแตกต่างกันดังมีความเชื่อร่วมกันว่า


          ทวดช้าง  หรือพ่อทวดช้าง  ทวดศักดิ์สิทธิ์ในรูปสัตว์(พญาช้างใหญ่)ผู้ทำหน้าที่ป้องปกในความเชื่อของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  “ทวดช้าง”  หรือ  “พ่อทวดช้าง”  ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสงขลา และในความเชื่อของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถ.กาญจนวนิช
 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา   โดยเชื่อกันว่าทวดช้าง หรือ พ่อทวดช้าง สถิตอยู่ในเขารูปช้างอันศักดิ์สิทธิ์  นักศึกษา  บุคลากร และชาวบ้านในแถบนี้ล้วนเชื่อว่าทวดช้างเป็นทวดศักดิ์สิทธ์ในรูปของพญาช้างใหญ่ นิยมเคารพกราบไหว้บูชามาช้านานแล้ว  และเชื่อตกทอดกันว่าพ่อทวดช้างจะช่วยดลบันดาลให้สามารถดำรงชีพอยู่อย่างปลอดภัยและเป็นสุขได้  นักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาหลายคนเชื่อว่าหากบูชาทวดช้างอย่างถูกต้องแล้วท่านจะดลบันดาลให้เรียนจบได้สมดั่งใจมุ่งหวังดังมีความเชื่อในเรื่องของพิธีกรรมการบูชาทวดช้างในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาซึ่งจะทำการบวงสรวงท่านทุกปี(ราววันที่ 9-18 สิงหาคมของทุกปี) ดังนี้ ตั้งโต๊ะพิธีบูชาด้วยธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม ดอกไม้นานาพันธุ์แล้วแต่จะหาได้  อ้อย  กล้วยน้ำว้า  ไข่ไก่ต้นสุกปอกเปลือก  และอาหารคามหวานต่างๆแล้วแต่จะถวาย



*****บทคาถาบูชาทวดช้าง หรือพ่อทวดช้าง*****
โอมคชชะ  เทวะปูชัง  สิทธิกิจจัง
ภะวันตุเม  สัพพะภะยัง  วินาศสันตุ
โอมประสิทธิการ  สะวะโหม

ตำนานทวดช้าง ในความเชื่อของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามีเล่าสืบทอดต่อๆกันมาว่า ท่านลักเก้า ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าได้ทำการรวบรวมทรัพย์ แก้วแหวงเงินทองต่างๆนับได้มหาศาล ออกเดินทางจากสถานที่พำนับของตนเพื่อจะไปบรรจุใส่พระบรมธาตุเมืองนคร  พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นควาญช้างชื่อนายบังดอเลาะห์  ยายมาล่าห์  และบังสุม  รวมทั้งพญาช้างใหญ่ 2 เชือกคือ พ่อพลายแก้ว  และแม่พังงา  ออกร่วมเดินทางมาด้วย  ครั้งมาถึงบริเวณที่ตั้งของเขาใหญ่ลูกหนึ่งในอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาก็เกิดพายุร้ายถาโถมเข้าใส่คณะของท่านลักเก้า  ท่านและคณะจึงหลบฝนอยู่บนเขาลูกดังกล่าว  แต่ไม่อาจต้านทานความรุนแรงของพายุร้ายได้  เป็นเหตุให้ควาญช้างทั้ง 2 และช้างทั้งหมดถึงแก่ความตาย  นำความเศร้าโศกมาสู่ท่านลักเก้าเป็นยิ่ง  ท่านจึงฝังศพควาญช้าง และพญาช้างใหญ่ทั้ง 2 ไว้บนยอดเขาลูกดังกล่าว ต่อมาจุดที่มีการฝังศพช้างดังกล่าวมีหินก้อนหนึ่งผุดขึ้นมามีลักษณะคล้ายพญาช้างใหญ่ชาวบ้านเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์เรียกว่าทวดช้าง  หรือพ่อทวดช้าง  เชื่อกันว่าท่านนั้นจะช่วยป้องปกผู้คนในพื้นที่ๆท่านดูแลให้ประสบอยู่แต่ความสุขความเจริญ  อนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกเรื่องหนึ่งว่าทวดช้าง นั้นยังมีศิษย์เอกอีกตนหนึ่งเป็นพญางูเผือกขนาดใหญ่(หลายคนเชื่อว่าเป็นงูบองหลาเผือก/งูจงอางเผือก)  ครั้งหนึ่งพลทหารที่มาตั้งค่ายบริเวณหน้าเขารูปช้างได้จับมาตีจนถึงแก่ความตาย  และย่างกินเป็นอาหารจนเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้กินเนื้องูเผือกตนดังกล่าวเข้าไปเกิดอาการเป็นใบ้  บ้างคนกลายเป็นบ้าเป็นบอไปเลยก็ว่า  จนผู้มีความรู้ต้องทำพิธีแก้บนจึงหายจากอาการดังกล่าว  นอกจากนี้บนยอดเขารูปช้างอันหันหน้าไปทางทิศตะวันตกยังเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะเป็นเจดีย์ใหญ่ย่อมุมไม้สิบสอง  ก่ออิฐถือปูน  ส่วนยอดขององค์เจดีย์ถูกยิงได้รับความเสียหาย  ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวปี พ.ศ. 2484) ทหารปืนใหญ่ที่ 13 ค่ายสวนตูลได้ใช้เป็นที่สังเกตการณ์และเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ยิงสู้รบกับเรือรบของทหารญี่ปุ่น  และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เองที่ชาวบ้านบริเวณนี้นิยมขึ้นไปอยู่บนเขารูปช้างเพื่อหลบภัยสงครามและบนบานสานกล่าวขอให้ทวดช้าง หรือ พ่อทวดช้างช่วยคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย  ส่วนตำนานหรือที่มาที่เรียกเขาลูกนี้ยังมีอีกตำนานหนึ่งซึ่งเล่าแตกต่างจากตำนานบทแรกมาว่าเขารูปช้างนั้นมีนิทานพื้นบ้านเล่าต่อๆกันมาว่า  ในสมัยก่อน “นายแรง”  ไปทำไร่ไถนาและเลี้ยงสัตว์อยู่ที่อำเภอกงหลา  จังหวัดพัทลุง  และอำเภอกระแสสินธุ์  จังหวัดสงขลา  อยู่มาวันหนึ่งมีช้างป่าลงมาจากเทือกเขาบรรทัด  ลงมายังพื้นราบและทำลายพืชผลไร่นาของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก  นายแรงรู้เข้าจึงเข้าสู้กับจ่าโขลงช้างป่า(หัวหน้าช้างป่า)และมีชัยชนะสามารถขับไล่ช้างป่าทั้งโขลงกลับสู่เทือกเขาบรรทัดได้  โดยจ่าฝูงของช้างป่าโขลงนี้เองที่นายแรงจับยกขึ้นเหนือศีรษะและทุ่มไปตกในเมืองสงขลากลายเป็น “เขาลูกช้าง” ภายหลังคนเรียกเพี้ยนเป็น “เขารูปช้าง” ดังปรากฏในปัจจุบัน 

 

ทวดเลียบ ทวดศักดิ์สิทธิ์ในรูปต้นไม้(ต้นเลียบขนาดใหญ่)ผู้ทำหน้าที่ป้องปกในความเชื่อของชาวมหาวิทยาลัยทักษิณ  ความเชื่อในเรื่องของทวดเลียบ  หรือปู่เลียบ ที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ  เลขที่ 140 ถนนกาญจนวนิช ม.4 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จังหวัดสงขลา เชื่อกันนั้นก็ล้วนมีความเกี่ยวพันธ์กันกับสภาวะทางจิตใจของผู้นับถือเป็นยิ่ง เพราะต่างเชื่อกันว่าถ้ามีการมาบนบานขอพรกับทวดเลียบ หรือปู่เลียบที่ปรากฏเป็นต้นไม้ใหญ่ใจกลางมหาวิทยาลัยแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขสามารถที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างราบรื่น เป็นต้น เมื่อคนหมู่มากเชื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงเกิดการสร้างศาลสำหรับเป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นามว่า “ทวดเลียบ” ขึ้น ซึ่งก็ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธาทั้งที่เป็นนิสิต-นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงนำเครื่องเซ่นไหว้มาบูชา มาแก้บนกันเป็นจำนวนมาก ส่วนเครื่องเซ่นที่ดูว่า “ท่าน” จะโปรดปรานเป็นพิเศษนี่จากการนั่งสังเกตอยู่นานแล้วนั้นพบว่า ท่านโปรดของแก้บนที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นที่สุด  “ยาคูลท์” คือสิ่งที่นิสิต-นักศึกษาของที่นี่นิยมนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ครับ บ้างก็นำมาเป็นเครื่องแก้บน อย่างปกติก็สามารถที่จะพบเห็นขวดยาคูลท์ที่มีหลอดสำหรับดูดเรียบร้อยวางเรียงรายอยู่รอบศาลปู่เลียบมากพอควร(ราว 100-200 ขวด) แต่ถ้าเป็นช่วงวันรับปริญญาก็มีให้ได้เห็นเป็นพันๆขวดเลย ส่วนเรื่องที่ทำไม่ต้องแก้บนด้วยยาคูลท์สอบถามไปสอบถามมาได้ความว่าน่าจะเป็นเพราะพวกนักศึกษารุ่นแรก(รุ่นพี่)มาทำการบนแล้วสำเร็จจึงจัดการแก้บนด้วยของที่เป็นที่นิยมทานกันในสมัยนั้น ประมาณว่ายาคูลท์ราคาไม่แพง หาง่าย ใครมีมากก็ทำมากใครมีน้อยก็ทำน้อยแล้วแต่กำลังศรัทธา “ต้นเลียบ” ต้นดังกล่าวจะยังคงเป็นที่สถิตของทวดเลียบและยืนต้นตระหง่านอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปอีกนาน แม้นในอนาดตสักวันหนึ่งต้นไม้ต้นนี้จะต้องล้มหายตายจากไปก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่าความเชื่อในเรื่องของ “ทวดเลียบ” จะไม่สูญหายสลายไปกับกาลเวลาอย่างแน่นอนคนที่นี่เขาเชื่อกันอย่างนั้น

ทวดตาเดียว  หรือเจ้าพ่อตาเดียว  ทวดศักดิ์สิทธิ์ในรูปคนผู้ทำหน้าที่ป้องปกในความเชื่อของชาววิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่  พบเป็นศาลสำหรับสถิตบูชาปรากฏพบอยู่บริเวณไหล่เขาใกล้ตัวอาคารเรียนของแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่  ถ.กาญจนวณิช ต. คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  โดยรูปประติมากรรมเคารพบูชาดังกล่าวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ลักษณะตัวงานโดยรวมเป็นประติมากรรมในแบบลอยตัว(round relief)หรือรูปประติมากรรมที่สามารถแลดูได้โดยรอบด้าน โดยเป็นรูปลักษณ์เศียรครูฤาษีตั้งอยู่บนพื้นศาล จุดเด่นที่น่าสนใจก็คือเศียรฤาษีดังกล่าวมีดวงตาเพียงข้างเดียว ส่วนด้านหลังเป็นลักษณะของศาลสำหรับสถิตบูชา ในตำนานทางฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู  กล่าวอ้างว่าท่านนั้นมีหลายชื่อ อาทิ  “ศาลทวดตาเดียว”   “เจ้าพ่อตาเดียว”  “ฤาษีตาเดียว”  หรือ “พระศุกร์” เป็นต้น(นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่นิยมเรียกท่านว่า  เจ้าพ่อตาเดียว)  อันถือเป็นเทพเจ้าแห่งความงาม ความรัก และสันติภาพ  พระศุกร์ หรือเจ้าพ่อตาเดียวถือเป็นพระอาจารย์ของเหล่าเทวดาและอสูร  ส่วนเหตุที่ต้องเสียดวงตาข้างหนึ่งไปนั้น เชื่อกันว่าเป็นเพราะเคยลองฤทธิ์กับพระนารายณ์แต่พ่ายแพ้ถูกพระนารายณ์ใช้ยอดหญ้าคาทิ่มแทงถูกดวงตาจนบอด  ดังความว่า  นานมาแล้วยังปรากฏว่ามีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า “ท้าวทศราช” ปกครองกรุงพาลี อย่างขาดทศพิธราชธรรมนำพามาซึ่งความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า แม้พระนางสันทาทุกข์พระมเหสี และพระโอรสทั้ง 9 พระองค์จะทูลขอให้พระบิดาทรงยุติพฤติกรรมดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นผล ร้อนถึงองค์พระนารายณ์ต้องลงมาปราบโดยการจำแลงกายเป็นพราหมณ์เตี้ยเดินทางมาขอรับบริจาคทานที่ดินจากท้าวทศราช สืบเนื่องด้วยขณะนั้นเองท้าวทศราชกำลังกระทำการเสริมอิทธิฤทธิ์บุญบารมี(พิธียัญญกิจ)เล็งเห็นว่าการบริจาคทานแก่พราหมณ์เตี้ยจะเป็นการเสริมฤทธิ์อำนาจของตนให้มีสูงขึ้น จึงพูดกับพราหมณ์เตี้ยว่า “ท่านอยากได้ทานที่ดินเพื่อประกอบกิจใดใดก็ขอให้บอก เราจะให้”  พราหมณ์เตี้ยจึงทูลขอที่ดินเพียงแค่ 3 ย่างก้าวเท่านั้น เนื่องด้วยขณะนั้นเองท้าวทศราชมิได้คิดไตร่ตรองให้ดีจึงทรงพระราชทานที่ดินจำนวน 3 ย่างก้าวให้  ฝ่ายพระศุกร์อันเป็นพระอาจารย์ของท้าวทศราชรู้แกวว่าพราหมณ์เตี้ยเป็นองค์รารายณ์แปลงจึงหายตัวเข้าไปอุดรูเต้าน้ำไว้เพื่อมิให้ท้าวทศราชหลั่งน้ำเป็นทานได้  พระนารายณ์จึงใช้ยอดหญ้าคาทิ่มแทงถูกดวงตาพระศุกร์จนบอดไปเสียข้างหนึ่งจนจำต้องออกมาจากเต้าน้ำปล่อยให้ท้าวทศราชหลั่งน้ำเป็นทานให้องค์นารายณ์แปลง  เมื่อกลอุบายสำเร็จพระนารายณ์จึงคืนร่างเดิมพร้อมทั้งเหยียบเท้าไปบนที่ดินจำนวน 3 ย่างก้าวตามที่ขอไว้ กล่าวคือ ก้าวแรกเหยียบไปยังโลกมนุษย์ ก้าวสองเหยียบไปยังโลกสวรรค์ ก้าวสามเหยียบไปยังโลกนรก ท้าวทศราชจึงไม่มีที่ดินอยู่อาศัยต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ต่อมาพระนารายณ์เห็นใจท้าวทศราชจึงลดโทษให้ด้วยการยินยอมให้ท้าวทศราชมีที่อยู่อาศัย แต่ต้องขออนุญาตและกระทำการบูชาพระภูมิเจ้าที่ในบริเวณนั้นเสียก่อน ซึ่งก็คือการบูชาพระโอรสทั้ง 9 ของพระองค์นั้นเอง ต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ขึ้นสืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน ดังนี้
1.พระชัยมงคล                                  ปกคลองบ้านเมือง
2.พระนครราช                                  ปกครองป้อมปราการ
3.พระเทเพน                                     ปกครองป่าเขา
4.พระชัยศพณ์                                  ปกครองยุ้งฉาง
5.พระคนธรรพ์                                 ปกครองเรือนหอ
6.พระธรรมโหรา                              ปกครองสวน ไร่ นา
7.พระเทวะเถระ                                ปกครองวัด
8.พระธรรมิกราช                               ปกครองพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งปวง
9.พระทาสธารา                                  ปกครองห้วย หนอง คลอง บึง และลำธาร เป็นต้น

                นอกจากนี้ยังมีตำนานความเชื่อในแบบท้องถิ่นนิยมของที่นี่ซึ่งเชื่อเกี่ยวกับทวดตาเดียวเล่าเอาไว้ว่า  ท่านอาจจะเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่แต่เดิมก็ได้  ด้วยความเป็นห่วงผู้ที่เข้ามาขอใช้สถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ไว้ประกอบสำมาอาชีพเลี้ยงตนในอนาคต ท่านจึงคอยเฝ้าดูแลความปลอดภัยภายในวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ให้เป็นปกติสุขดังปัจจุบัน  บางคนก็เชื่อว่าหากใครมีเรื่องไม่สบายใจอะไรก็ขอให้เข้ามาทำการบนบานสานกล่าวบอกท่านไว้  ท่านก็จะช่วยให้สมดั่งมุ่งหวังทุกคนไปจนมีการสร้างศาลบูชาท่านเพิ่มจากเดิมมีเพียงศาลเดียวเป็น 3 ศาลในปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่าการบูชา หรือพิธีกรรมในการบวงสรวงท่านนั้นให้ใช้อาหารคาวหวานอะไรก็ได้  แต่ห้ามนำเนื้อหมูมาบูชาท่าน  จึงมีหลายคนเชื่อว่าท่านทวดตาเดียวอาจจะดำรงตนเป็นมุสลิมก็เป็นได้  อนึ่ง  เคยมีเรื่องเล่าในหมูนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนเล่าว่า  เคยมีนักศึกษาชายคนหนึ่งได้ขับรถผ่านไปยัง “ซอยคุณยายสปีด”  หรือซอยๆหนึ่งอันกั้นกลางระหว่างวัดโคกนาว(ป่าช้าโคกเน่า ในอดีต))  กับป่ายางร้าง(ห้างโลตัส  หน้า ม.อ.ในปัจจุบัน)แล้วปรากฏว่านักศึกษาคนดังกล่าวไปเจอเข้ากับผียายสปีด  หรือผีตายโหงตัวขาดที่ว่ากันว่า “ดุ” ที่สุดซอยหนึ่งของเมืองไทยหลอกเอา  ด้วยความกลัวจึงเข้ามาบนบานขอให้ทวดตาเดียวช่วย  ปรากฏว่าหลังจากไปไหว้ขอพรทวดตาเดียวแล้วสติของนักศึกษาคนดังกล่าวก็กลับคืนมาไม่ขวัญหนีดีฝ่อเหมือนครั้งที่เจอผีหลอกในตอนแรกๆ  ทำให้หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะบารมี  และอำนาจของทวดตาเดียว หรือเจ้าพ่อตาเดียวท่านช่วยไว้นั่นเอง  ศาลทวดตาเดียว  หรือเจ้าพ่อตาเดียว ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการบูชาของนักศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่มาอย่างยาวนาน เรียกว่าใครเข้ามาเรียนที่นี่ก็จะต้องกราบไหว้บูชากัน ถามไถ่ดูหลายๆคนยืนยันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์จริง  ยิ่งใกล้วันสอบปลายภาคยิ่งเห็นเครื่องเซ่นไหว้มากมายกว่าปกติ คนที่นี่เขาเชื่อกันอย่างนั้น


*****ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือทวดในรูปสัตว์(ทวดงู,ทวดจระเข้,ทวดช้าง และทวดเสือ)                 
  เขียน,เรียบเรียง        :        อ.คุณาพร  ไชยโรจน์
  ถ่ายภาพประกอบ     :        กิตติพร  ไชยโรจน์
  www.siamsouth.com/ศิลปวัฒนธรรมไทยภาคใต้
  วันศุกร์ที่ 7 พฤษจิกายน 2551/เวลา 13.29 น.

คำสำคัญ (Tags): #ทวด
หมายเลขบันทึก: 271936เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท