บทความพิเศษ.........“ บอกลาปีชวด-หนู ต้อนรับปีฉลู-วัวนำโชค 2552 ”


วัวนำโชค

บทความพิเศษ.........“ บอกลาปีชวด-หนู  ต้อนรับปีฉลู-วัวนำโชค 2552 ”

                ในโลกนี้นั้นไม่มีอะไรจะอยู่ยั่งยืนยงค้ำฟ้า  แม้นหลักศิลาที่ว่าแกร่งโดนหนึ่งหยดน้ำถาโถมเข้าใส่  สักวันก็ย่อมแตกและแหลกสลายประหนึ่งเสี้ยวแห่งกาลเวลาที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับเหลือเพียงความทรงจำฝากให้ระลึกไว้ ณ ห้วงเวลาหนึ่ง  ปีชวด-หนูที่แสนวายวุ่นด้วยเรื่องราวต่างๆของปี พ.ศ. 2551 กำลังเดินย่างเหมือนรถไฟที่เตรียมเทียบท่าเข้าสู่เรือนสถานีสุดท้ายฉันใด ความทรงจำที่ดี หรือไม่ดีเราก็คงต้องจำจด หรือละทิ้งเพื่อเตรียมต้อนรับปีใหม่ที่จะเดินย่างเข้ามาให้เราสัมผัสกันในไม่ช้า  “ฉลู-วัวนำโชค 2552” (รึเปล่า?) 
                ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2542 หน้า 1062 ได้อธิบายความหมายของคำว่า “วัว” เอาไว้ว่า “วัว  น.  ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด bos Taurus ในวงศ์ bovidae เป็นสัตว์กีบคู่ ลำตัวมีสีต่างๆ  เช่น น้ำตาลนวล  เขาโค้งสั้น  มีเหนียงห้อยอยู่ใต้คอถึงอก  ขนปลายหางเป็นพู่  บ้างก็เรียกว่า โค” 
                นอกจากนี้ยังมีคำโบราณ รวมถึงสำนวนของไทยที่บอกเล่าลักษณะนิสัยของคนประเภทต่างๆ โดยเชื่อมโยง หรือเปรียบกับวัว เช่นคำว่า
                “วัวเขาเกก”  หมายถึง  คนประเภทเป็นอันธพาล เป็นนักเลงหัวไม้  ชอบเกะกะเกเร
                “ วัวลืมตีน”  หมายถึง  คนที่ไปได้ดิบได้ดี และกลับลืมสถานะเดิมของตน
                “ วัวสันหลังหวะ”  หมายถึง  คนที่มีความผิดติดตัว  แล้วจึงต้องคอยระแวดระวังหรือหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าใครจะมาคิดร้ายต่อตน
                “วัวหายล้อมคอก”  หมายถึง  เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วจึงคิดที่จะป้องกัน
                สำนวนโบราณของไทยเราที่เกี่ยวข้องกับวัวในแบบยาวๆก็มีนะครับ เช่นคำว่า “แม่สื่อแม่ชักไม่ได้เจ้าตัว เอาวัวพันหลัก”  ซึ่งหมายถึง  ประมาณชายหนุ่มที่ใช้ให้แม่สื่อไปติดต่อกับหญิงสาวที่ตนแอบชอบอยู่แต่ไม่ได้ตัวหญิงสาวนั้นมาเป็นภรรยา  เลยเอาแม่สื่อมาทำภรรยาแทน เป็นต้น
                ในกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ของ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส  ท่านได้แต่งบทกลอนเกี่ยวกับโค คุณลักษณะ  และคุณความดีแห่งการเกิดเป็นคนเอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า
                “พฤษภกาสร          อีกกุญชรอันปลดปลง
                โทนนต์เสน่งคง      สำคัญหมายในกายมี
                 นรชาติวางวาย       มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
                 สถิตทั่วแต่ชั่วดี       ประดับไว้ในโลกา.....”
                แปลแบบง่ายๆ คือ วัว-ควาย เมื่อตายจากไปแล้ว มันยังเหลือเขา  เหลือหนังอันสง่าเอาไว้  มนุษย์เมื่อตายหรือสิ้นบุญลาลับจากโลกไปแล้วคงเหลือแต่คุณความดีให้คนรุ่นหลังได้ระลึก
                ในเมืองไทยเองมีความเชื่อรวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับวัว หรือโค อยู่เป็นอันมาก เช่น พิธีแรกนาขวัญ ซึ่งจะมีพระราชพิธีใหญ่โตจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  มีการเสี่ยงทายอาหารที่พระโคเลือกด้วยว่าการเกษตรกรรมของประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด  พิธีกรรมดังกล่าวนี้ล้วนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรอันถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้มีกำลังทั้งกาย-ใจ สร้างผลผลิตข้าวเลี้ยงดูชนในชาติอย่างไม่ขัดสนในภายภาคหน้า  จึงจัดได้ว่าพิธีกรรม หรือความเชื่อเกี่ยวกับวัวในประเทศไทยนั้นล้วนแฝงไปด้วยนัยหลายหลากประการ  อันค้ำให้เกิดสมดุลแก่ทั้งคน สัตว์ ธรรมชาติ เป็นอาทิ  เนื่องด้วยเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับวัวนี้มีความสำคัญในพิธีกรรมหลายอย่างในไทย  จึงไม่แปลกที่ตราประจำจังหวัดน่านจะใช้ตราเป็นรูปพญาวัวเป็นสัญลักษณ์  ผู้เขียนพยายามสืบค้นหาข้อมูลดูจึงพอทราบได้ว่า  รูปสัญลักษณ์ประจำจังหวัดน่านนั้นเป็นรูปพญาโคเผือกที่ชื่อ “อศุภราช”  แบกพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองอยู่บนหลัง  และเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปวัวเผือก  หากพูดถึงโคอศุภราช  หรือโคอุสุภราช  ซึ่งหลายคนเรียกกันว่า “โคนนทิ” แล้ว  ทำให้เข้าเค้าว่าตราประจำจังหวัดน่านอาจจะได้รับอิทธิพลทางศิลปะ และความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไม่มากก็น้อย  เพราะพญาโคอุสุภราช หรือนนทินี้เองล้วนเป็นข้าพระเป็นเจ้าแห่งองค์อิศวร  หนึ่งใน “ตรีมูรติ ทั้ง 3”  (ตรีมูรติ  หมายถึง  เทพสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  ประกอบไปด้วย  พระอิศวร  พระนารายณ์  และพระพรหม)ตำนานเล่าถึงเรื่องราวของพญาโคนนทิ ว่า  มารดาของพญาโคนนทิ คือนางโคสุรภี  ซึ่งกำเนิดขึ้นมาในคราวกวนเกษียรสมุทร(กูรมาวตาร)ถึงนางโคสุรภีจะเป็นแม่โคสารพัดนึก  คือพระอิศวรท่านต้องการอะไรนางโคก็จะเนรมิตให้ได้สมดั่งใจมุ่งหวังทุกประการ  แต่ด้วยความชอบเป็นการส่วนพระองค์ที่ต้องการได้พญาโคเพศผู้สักตนหนึ่งมาเป็นเทพพาหนะ  ท่านจึงขอให้พระกัศยปเทพประชาบดี  หรือพระกัศยปเทพบิดร จำแลงกายเป็นพญาโคเพศผู้ร่วมสังวาสจนนางโคสุรภีตั้งท้องให้กำเนิดพญานนทิขึ้นมา  จากนั้นพระอิศวรจึงให้พรแก่นนทิว่าขอให้เป็นเจ้าแห่งสัตว์จตุบาท(สัตว์สี่เท้า)แต่บัดนี้เป็นต้นไป  แต่บางตำนานก็เล่าแตกต่างออกไปว่า  เดิมทีโคนนทิเป็นบริวารของพระอิศวรอยู่แล้ว  กล่าวคือ  นนทิเป็นเทวดาในพระอิศวรเจ้า  ทำหน้าที่เป็นเทพเสนาบดี  ครั้งพระอิศวรทรงระบำ  นนทิจะทำหน้าที่ตีตะโพน  เมื่อพระอิศวรจะเสด็จไปยังสถานที่ใดพระนนทิ หรือเทพบุตรนนทิจะจำแลงกายเป็นโคหนุ่มให้พระองค์ประทับ  เป็นต้น
                นอกจากความเชื่อในเรื่องพญาโคนนทิเป็นโค ศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือการเอารูปโคนนทิไปเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดน่านแล้ว  ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเทวะประจำวันศุกร์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับวัว หรือโค อย่างลึกซึ้ง  กล่าวคือผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งในประเทศอินเดียและในประเทศไทยล้วนมีความเชื่อร่วมกันว่าเทพประจำวันศุกร์ คือพระศุกร์ นั้นท่านเป็นเทวะแห่งโค ทั้งหลายเนื่องด้วยเชื่อว่าพระศุกร์ท่านถูกสร้างขึ้นมาจากวัว และท่านก็ทรงวัวเป็นเทพพาหนะดังมีตำนานเล่าสืบทอดมาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพว่า
                สุวกำนำโคศุภโค                         หน้าแด่นใบโพ
                ยี่สิบเอ็ดเสด็จประสงค์
                ถึงโรงพิธีโดยจง                          กราบทั้งสี่องค์
                เธอทรงยินดีปรีดา
                ร่ายเวทวิเศษศักดา                       เป่าต้องกายา
                คาวีวินาศพาดกัน
                พรมน้ำกรดบรรไลยกัลป์            กายคาวีนั้น
                ก็กลายเป็นหนองฟองฟู
                บัดใจกลายเป็นอณู                      ผ้าทิพย์ชมพู
                ห่อหุ้มเป็นกลุ่มเดียวกัน
               วารีพิธีสาปสรรพ                         รดเสกเป่าพลัน
                ห่อนั้นก็เป็นเทวา
               ทรงเครื่องรุ่งเรืองนัยนา                สุดแสนโมรา
               นามว่าพระศุกร์สุกสี
               หรือพระอิศวรได้จัดสร้างพระศุกร์ขึ้นมาจากการนำวัวทั้ง 21 ตัว  มาป่นให้แหลกละเอียด  ใส่ประพรมด้วยของวิเศษนานับประการจนก่อกำเนิดเป็นพระศุกร์ขึ้นมา  ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า  พระศุกร์มีกำลัง 21 ตามจำนวนวัวทั้ง 21 ตัวที่ป่นสร้างขึ้นมาเป็นพระองค์  หากใครจะทำบุญเพราะตนเกิด หรือเชื่อในพระศุกร์จะต้องทำบุญตักบาตรพระ 21 รูป  สวดมนต์คาถา 21 จบ  บ้างก็ว่าควรบวงสรวงในพิธีด้วยการทำข้าวบิณฑ์ 21 ปั้นก็ว่า  นอกจากเรื่องเกี่ยวกับวัวจะเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว  ความเชื่อในพระพุทธศาสนาก็ล้วนปรากฏความเชื่อเกี่ยวข้องกับวัวอยู่เป็นอันมาก อาทิ  ความเชื่อเรื่องแม่วัวเก็บไข่แม่กาขาวไปเลี้ยง ดังมีตำนานทางพระพุทธศาสนาเล่าไว้ว่า  นานมาแล้วยังมีกาเผือก(กาขาว)ผัว-เมียคู่หนึ่ง  ทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ริมธารน้ำในป่าหิมพานต์  อยู่มาวันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหาอาหารไกลจากรังตนจนหาทางกลับมาไม่ถูก  ทำให้นางกาต้องออกตามหาอยู่นานจนในที่สุดมีพายุร้ายพัดกระหน่ำจนนางกาสูญเสียไข่ทั้ง 5 ใบไปหมดสิ้น  ณ เวลาต่อมาไข่ทั้ง 5 ใบที่โดนพายุซัดไหลไปตามลำธารสายหนึ่งมีแม่สัตว์ทั้ง 5 ชนิดเก็บเอาไข่ไปเลี้ยงดูฟูมฟักจนกลายเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ตามลำดับดังนี้
                พระกุกกุสันโธ                                         แม่ไก่เก็บไปเลี้ยง
                พระโกนาคมโน                                        แม่นาคเก็บไปเลี้ยง
                พระมหากัสสโป                                       แม่เต่าเก็บไปเลี้ยง
                พระโคตโม(พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)     แม่วัวเก็บไปเลี้ยง
                พระศรีอาริยเมตเตยโย(พระศรีอารย์)       แม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง
                จากตำนานทางพระพุทธศาสนาเรื่องนี้พอที่จะเห็นคติที่สอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่องได้ว่า  หากจิตใจสูงส่งก็ย่อมส่งผลสามารถฟูมฟักเลี้ยงดูสิ่งที่ดีงามให้ปรากฏออกมาได้เป็นดั่งที่แม่สัตว์ทั้ง 5 เก็บไข่แม่กาขาวได้จากริมแม่ลำธาร นำมาฟูมฟักเลี้ยงดูจนกลายเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ เป็นต้น  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับวัวอันสืบเนื่องเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนานี้เอง  ยังมีเรื่อง “โคนันทวิสาล”  อีกเรื่องหนึ่ง  ที่จะขอนำมาบอกเล่าสู่กันฟัง  ว่าในอดีตพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวัว  หรือโค  เรียกชื่อว่า “นันทวิสาล”  โดยมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเลี้ยงเอาไว้แต่เล็กๆ  จนครั้งนันทวิสาลเติบใหญ่เป็นโคถึกมีกายร่างกำยำแข็งแรง  และเนื่องด้วยความที่พราหมณ์คนดังกล่าวเลี้ยงดูนันทวิสาลมาอย่างกับลูกในไส้  ให้ความรักความเอ็นดูเป็นยิ่งประจวบกับพราหมณ์เองมีฐานะยากจนมาก  คิดได้ดังนั้นแล้วพญาโคจึงสงสารและบอกกับพราหมณ์ผู้เป็นนายว่าให้ไปท้าพนันกับโควินทเศรษฐี  ว่ามีโคถึก กำลังมากมายสามารถลากเกวียนหินกรวดทราย 100 เกวียนได้  โดยให้ท้าเดิมพันในวงเงิน 1000 ตำลึง เพื่อท่านจะได้หลุดพ้นจากความยากจน  พราหมณ์ก็ทำตาม  ครั้งถึงวันพนันปรากฏว่าพราหมณ์ขึ้นไปขี่หลังพญาโคพร้อมดุด่าว่า “เจ้าโคนันทวิสาล  เจ้าจอมเกรียจคร้าน  ขอให้รีบฉุดลากเกวียนไปข้างหน้าแต่โดยไว”  พญาโคได้ฟังก็รู้สึกไม่พอใจและยืนสงบนิ่งไม่ลากเกวียนแต่ประการใด  โควินทเศรษฐีจึงชนะเดิมพันหนึ่งพันตำลึงในที่สุด  ครั้งเสียทรัพย์ไปเป็นจำนวนมากทำให้พราหมณ์โศกเศร้าเป็นยิ่ง  ไม่กินไม่นอนอยู่หลายวัน โคนันทวิสาลก็รู้สึกสงสารอีกจึงเข้าไปปลอบและบอกให้พราหมณ์ไปท้าพนันกับโคนันทเศรษฐีใหม่  โดยคราวนี้ให้เพิ่มวงเงินเดิมพันเป็น 2000 ตำลึง  แต่ท่านต้องไม่ดุด่าว่ากล่าวเราเหมือนเฉกเช่นวันก่อน  ขอให้ท่านกล่าวชมเราแล้วเราจะช่วยให้ท่านชนะพนัน  ครั้งถึงวันพนันพราหมณ์จึงพูดกับโคนันทวิสาลว่า “พ่อโคผู้เจริญ มีพละกำลังมาก ท่านจงฉุดเกวียนนี้ไปให้ถึงยังที่หมายด้วยเถอะ”  โคนันทวิสาลเมื่อได้ยินถ้อยคำชมจึงเกิดกำลังใจกล้าหาญ  สามารถฉุดลากเกวียนไปยังเส้นชัยได้  ทำให้พราหมณ์ชนะพนันได้เงินทั้ง 2000 ตำลึงเป็นของตนและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม  นิทานตำนานทางพระพุทธศาสนาเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  การพูดดีเป็นศรีแก่ตัว หากพูดไม่ดีอาจจะเกิดผลร้ายแก่ตนก็เป็นได้  เป็นต้น
             ในพุทธศาสนานิกายมหายาน หรือที่หลายคนเรียกว่า “ในวัดจีน” นั้นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับวัวที่แปลกไปจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  และพุทธศาสนานิกายหินยาน  ในบางเรื่อง  อาทิเช่น  ในเรื่องของเทพปีศาจตนหนึ่งที่มีกายเป็นมนุษย์  แต่มีหัวเป็นวัว  ที่ชาวจีนเรียกกันว่า “งู้เท้า”  หรือ “หัววัว”  อันเป็นบริวารของพญายม  งู้เท้า(หัววัว)เป็นเพื่อนสนิทกับ เบ้หมิ่ง(หัวม้า)  ทั้งสองทำหน้าที่เป็นมือเท้าให้กับพญายมของประเทศจีน(ถ้าในความเชื่อของประเทศไทย พญายมจะมีบริวารเป็นสุวาณ และสุวัณ)โดยเชื่อกันว่าหากใครสิ้นอายุในภพดังกล่าว  หัววัว-หัวม้าจะมานำดวงวิญญาณไปพบท่านพญายมเพื่อตัดสินพิจารณาคดีและส่งดวงวิญญาณเหล่านั้นไปยังสถานที่ๆควรจะไป เป็นต้น
                อนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกตำนานหนึ่งของจีนเชื่อว่ายังมีเทพนักบัตรตนหนึ่ง มีหัวเป็นวัว มีกายเป็นมนุษย์ แต่งกายด้วยชุดนักปราชญ์  ทำหน้าที่เป็นเทพนักบัตรพิทักษ์สุสานในราชวงศ์กษัตริย์พระองค์ต่างๆในประเทศจีน  โดยมากนิยมปั้นเป็นรูปปั้นไว้ในสุสาน  โดยนิยมสร้างเค้าโครงของใบหน้าให้แลดูน่ากลัวเป็นพิเศษ  ซึ่งเชื่อกันว่าเทพนักบัตรเหล่านี้เอง  ที่มีการปั้นให้ใบหน้าดุเป็นพิเศษนั้น จะมีความน่าเกรงขาม มีพลังอำนาจลึกลับที่จะช่วยป้องปกและคุ้มครองสุสานมิให้พลังชั่วร้ายต่างๆเข้ามาจู่โจมได้  อ่านมาจนถึงตรงนี้ทำให้เราได้รับทราบถึงคติความเชื่อในเรื่องวัว ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  พุทธศาสนานิกายหินยาน(ไทย)  และพุทธศาสนานิกายมหายาน(จีน)  ผู้เขียนจึงขอเพิ่มเรื่องของ “มิโนทอร์” (minotaur) และ “ไลแคนโธรปี” (lycanthropy) อันเป็นความเชื่อของชาวยุโรปตะวันตกเอาไว้ด้วยเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของบทความ  กล่าวคือทั้งสองเรื่องนี้เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มของชาวยุโรปตะวันตกเกี่ยวกับวัว  ที่ว่า “มิโนทอร์” (minotaur)นั้นเป็นวัวต้องคำสาป(บ้างก็ว่าวัวถูกเปรียบได้ดั่งสิ่งชั่วร้าย/เชื่อในบางกลุ่มชน)ดังมีตำนานเล่าขานเรื่องเกี่ยวกับวัวต้องคำสาปนามมิโนทอร์ เอาไว้ว่า  ที่เมืองครีต อันเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในยุโรป  ชายนาม “ไมนอส” ต้องการจะก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์จึงคิดการกระทำบูชาบวงสรวงเทพเจ้าแห่งท้องทะเลชื่อโปไซดอน(เทวะแห่งผืนน้ำ)  บ้างก็ว่า Poseidon  ด้วยการขอให้ท่านเทพส่งวัวเผือกขึ้นมาจากทะเลแล้วตนจะทำการบูชายัญพระองค์ในทันที  ทันใดนั้นท่านเทพก็ช่วยส่งวัวเผือกสุดสวยดั่งผ้าไหมสีขาวขึ้นมาจากผืนน้ำ  ไมนอสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์สมดั่งเจตนารมณ์  แต่เขาไม่ต้องการจะฆ่าวัวเผือกดังกล่าวทิ้งเพราะเสียดายในความงามของมัน  เมื่อไม่ทำตามคำมั่นสัญญาณปรากฏว่าเทพเจ้าโกรธจัดและสาปให้ “ปาซิฟาอี”มเหสีของไมนอสเกิดป่วยเข้าขั้นวิปริตจนต้องร่วมสังวาสกับวัวเผือกตัวดังกล่าวจนเกิดบุตรชายออกมาตนหนึ่งชื่อ “มิโนทอร์” มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีหัวเป็นวัวเพศผู้ขนาดใหญ่  ที่สำคัญมิโนทอร์กินเนื้อ และดื่มเลือดคนเป็นอาหาร  ซึ่งทำให้เกิดความชั่วร้ายต่างๆนาๆตามมาสู่เมืองครีตเป็นอันมาก  สอดคล้องกับความเชื่อในเรื่อง “ไลแคนโธรปี” (lycanthropy) ซึ่งเป็นความเชื่อในแถวยุโรปตะวันตกในหลายประเทศว่าไลแคนโธรปี หมายถึง มนุษย์แปลงร่างหรือกลายร่างเป็นสัตว์  อาทิ  หมาป่า  กระต่าย  กระเข้  เสือ  หรือแม้แต่วัว ซึ่งชาวยุโรปเชื่อกันว่าเป็นความชั่วร้ายด้วยคำสาปของพระเป็นเจ้า  ความเชื่อเรื่องสัตว์โดยเฉพาะวัวของชาวยุโรปตะวันตกจึงดูเชื่อกันคนละทางกับแถวเอเซียอย่างน่าประหลาดใจ  อนึ่ง  ในเรื่องมนุษย์แปลงร่าง  หรือมนุษย์กลายร่างนี้เองในประเทศไทยก็มีความเชื่อกัน  อาทิ  ความเชื่อเรื่องทวดในรูปสัตว์ เช่น เชื่อว่าพระที่เดินทางมาจากทางเหนือของประเทศไทยมาปักกลดลงในบริเวณวัดโลการาม  บ้านสะทิ้งหม้อ  ตำบลสะทิ้งหม้อ  อำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา ท่านกลายร่างเป็นงูจงอางขนาดใหญ่หลังท่านมรณภาพแล้ว เรียกกันว่า “ท่านทวดงูพ่อตาหลวงรอง”  หรือตำนานความเชื่อในเรื่องทวดหัวเขาแดง  จังหวัดสงขลา ที่เชื่อกันว่าท่านทวดหัวเขาแดงเป็นชายชราชาวจีน  ท่านเสียชีวิตลงจากเหตุเรือสำเภาล่มที่ปากน้ำเมืองสงขลา  ต่อมามีคนเห็นจระเข้ใหญ่เวียนว่ายไปมาเชื่อว่าคอยป้องปกปากน้ำเมืองสงขลาไว้  ชาวสงขลาส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าชายชราชาวจีนท่านนั้นได้กลายร่างเป็นจระเข้ทวด เรียกว่าทวดหัวเขาแดง ไปเสียแล้ว  เป็นต้น
               พูดถึงเรื่องวัวมอันน่ากลัวมา 2 เรื่องแล้วนึกขึ้นได้ว่าในห้องรับแขกที่บ้านของผู้เขียนยังมีตุ๊กตากระเบื้องตัวหนึ่งได้รับมาในวันขึ้นปีใหม่ปีก่อน  ตั้งโชว์ไว้อย่างสวยหรู  มันมีความเชื่อกันด้วยนะครับในเรื่องเครื่องประดับตกแต่งบ้านที่เป็นรูปวัว  ในหนังสือชื่อ “ของตกแต่งบ้านบันดาลโชค”  ของ “มงคล  ไพศาลวาณิช”  ปี พ.ศ. 2549 หน้า 68 ได้อธิบายเอาไว้ว่า “การตกแต่งบ้านด้วยตุ๊กตา  หรือรูปปั้นจำลองรูปวัวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสิริมงคลต่อคนในบ้านได้เป็นอย่างดี  เพราะวัวเป็นสัตว์นำความสำเร็จ  เข้มแข็ง  และมุ่งมั่น  อดทนมาสู่คนในบ้าน  ถ้าเป็นรูปปั้นวัวนม  หมายถึง  ความโชคดี และอุดมสมบูรณ์  ถ้าตกแต่งด้วยลูกวัวจะเป็นมงคลในทางสมหวังดั่งปรารถนาทุกประการ”  เขียนมาจนถึงตรงนี้น้องที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆพูดแซวมาว่า “ยังไงก็ไม่ควรเลือกรูปปั้นวัวกระทิงนะ  เพราะอาจสร้างความวุ่นวายให้คนในครอบครัวได้/บางคนเขาเชื่อกันน่ะครับ”  ถ้าเรื่องวันกระทิงนี่เราคงต้องยกให้ประเทศสเปนเขา  เพราะได้ชื่อว่าประเทศแห่งกระทิงดุ  บ้างก็ว่าเป็นเมืองกระทิง  เมืองมาทาดอร์(นักฆ่าวัวกระทิง)ก็ว่า  ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะมีงานประเพณีของเมืองมาดริด(เมืองหลวงของประเทศสเปนอยู่งานหนึ่งที่จะมีการปล่อยวัวกะทิงออกมาให้ไล่ขวิดหนุ่มๆ(ผู้กล้าหาญ)ทั้งหลายที่ใจกล้า ใจถึงพร้อมออกวิ่งหนีวัวกระทิงกันอย่างสนุกสนาม ซึ่งบางปีก็มีคนตายในงานด้วย  เชื่อกันว่าใครที่ได้เข้าร่วมงานประเพณีวิ่งวัวกระทิงดังกล่าวแล้วจะได้รับการยอมรับว่าเป็นชายชาตรีอย่างสมบูรณ์และได้รับความสนใจจากเพศตรงข้ามเป็นพิเศษ  เขียนถึงเรื่องวัวเรื่องโคมาหลายเรื่องแล้วนึกถึงนิทานพื้นบ้านภาคใต้ได้เรื่องหนึ่งถึงที่มาของรูปลักษณะของวัวที่ว่าทำไมวัวถึงไม่มีขน(ความจริงมี แต่สั้นมากๆ) พอได้ความจากนิทานพื้นบ้านภาคใต้เรื่อง “นักเล่านิทาน” ว่าครั้งพระอิศวรสร้างโลกใหม่ๆ(ถ้าทางสายพราหมณ์-ฮินดูว่าพระพรหม เป็นผู้สร้าง)บรรดาสัตว์ทั้งหลายต่างทะเลาะกันอยู่นานเพื่อความเป็นใหญ่ในป่า  สรรพสัตว์ทั้งหลายทะเลาะกันนานเข้าทุกวี่ทุกวันจนอยู่มาวันหนึ่งก็ได้รวมตัวกันออกเดินเท้าไปหาพระอิศวรเพื่อให้ท่านตัดสินว่าใครสมควรจะได้เป็นเจ้าป่าตัวจริง  พระอิศวรท่านก็ว่าหากใครในหมู่สรรพสัตว์สามารถเข้าไปใกล้พระอาทิตย์ได้มากที่สุด  ตนนั้นแหล่ะคือเจ้าป่า  สิ้นเสียงพระเป็นเจ้าสัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลายต่างกรูกันวิ่งเข้าหาพระอาทิตย์  วัวก็อยากเป็นเจ้าป่าแต่วิ่งเข้าไปหาพระอาทิตย์ได้เพียงระยะหนึ่งปรากฏว่าทั้งตัวถูกไฟของพระอาทิตย์แผดเผาเสียจนขนที่ขึ้นปกคลุมสวยงามมอดไหม้จนหมดสิ้น  เหลือเพียงผิวหนังที่แดงก่ำอย่างเจ็บปวดทรมานไว้เพียงแค่นั้นดังปัจจุบัน  ส่วนสัตว์ที่เข้าใกล้พระอาทิตย์ได้มากที่สุดคือ สิงโต สังเกตว่าสิงโตถูกแสงพระอาทิตย์ไหม้ขนไปเกือบทั้งตัว เหลือเพียงแผงคอเท่านั้นที่ยังไหม้ไม่หมด  แผงคอของสิงโตจึงเปรียบเป็นดั่งเกียรติยศที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเลือกเป็นเจ้าป่าจากการประลองครั้งนั้นนั่นเอง(ความเชื่อชาวใต้)
                ถึงวัวจะถูกแสงระอาทิตย์สาดส่องจนไรขนมอดไหม้ไปเกือบหมดสิ้น และพ่ายแพ้ในการประลองคราวนั้น  แต่วัวในหลายพื้นที่ก็ยังถูกเปรียบเป็นดั่งนักสู้ประจำถิ่น  อาทิ  วัวที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลาซึ่งนิยมจัดมาแข่งขันเป็นกีฬาวัวชนกันอย่างกว้างขวาง  โดยวัวที่จะจัดเป็น “วัวชน” นั้นจะต้องมีรูปร่างสง่างาม มีเขาที่แหลมคม  มีโหนกใหญ่  หาง  กีบเท้า  ใบหู  ตา  ฟัน  สีขน  และเสียงร้องต้องถูกต้องตามตำรานิยมในท้องถิ่นนั้นๆ  สนามวัวชนหรือที่เรียกกันว่า “บ่อนวัว”  หรือ “บ่อนงัว”  นี้เองที่ทางจังหวัดสงขลามีอยู่อย่างกระจายในหลายอำเภอ  เช่น
1.สนามบ้านขุนทอง  อำภอจะนะ
2.สนามบ้านน้ำกระจาย  อำเภอเมือง
3.สนามไชย  อำเภอสทิงพระ  เป็นต้น
                นอกจากวัวชนจะเป็นกีฬาพื้นบ้านภาคใต้ที่เป็นที่นิยมกันอย่างมากแล้ว  สัญลักษณ์รูปวัวชนยังปรากฏเป็นตราสโมสรทีมฟุตบอลชายจังหวัดสงขลาในระดับดิวิชั่น 1 อีกด้วย  ถามไถ่ถึงที่มาที่ไปของตราสัญลักษณ์ดังกล่าวพอได้ความว่าเพราะวัวชนเป็นสัตว์นักสู้ที่เมื่อลงสู่สนามแล้วมันจะสู้ไม่ถอย  สู้ตายถวายชีวิต จึงเกิดไอเดียนำเอารูปวันชนมาทำเป็นสัญลักษณ์ หรือตราสโมสรฟุตบอลชายจังหวัดสงขลาขึ้น  อนึ่ง  พูดถึงเรื่องวัวชนวัวนักสู้ของจังหวัดสงขลาแล้วทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องวัวในความเชื่อของชาวใต้ได้อีกเรื่องหนึ่ง  นั่นคือเรื่องของ “วัวธนู”  ซึ่งคงจะมีกันแทบทุกภาค  ทางภาคใต้เชื่อกันว่าวัวธนูนั้นเป็นคติความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์  บ้างก็ว่าเป็น “ไสยดำ”  หรืออวิชาอีกรูปแบบหนึ่ง  หลายคนฝึกเพื่อปราบอริศัตรู  หลายคนว่าเรียนเพื่อให้วัวธนูเฝ้าดูแลบ้าน  ส่วนกรรมวิธีการสร้างวัวธนู(บางที่ใช้ ควายธนู)ตามที่ผู้เขียนเคยเดินทางไปเก็บข้อมูลตามสถานที่ต่างๆ  อาทิ  ในประเทศเขมร  ทางอีสานใต้  ภาคเหนือ  ภาคใต้  รวมถึงในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย  ล้วนเชื่อกันว่าก่อนอื่นจะต้องมีรูปปั้นวัวธนูจากดินศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน(ในหาดใหญ่นิยมนำดินศักดิ์สิทธิ์มาจากควนดินดำ/ให้ข้อมูล  :  พ่อท่านแก้ว/เจ้าอาวาสวัดคลองเรียน)หลังจากที่ได้รูปปั้นวัวธนูแล้วจึงลงคาถาบังคับวัวธนู  และนำน้ำมาทำเป็นน้ำมนต์ด้วยคาถาบางตัว(ขอไม่อธิบาย)  นำน้ำมนต์ที่ได้จากการสวดมาทำการรดลงสู่หลังของวัวธนูพร้อมบริกรรมคาถาควบคุมกำกับวัวธนู  จากนั้นจึงนำน้ำมนต์ที่ได้จากการรดหลังวัวธนูตนดังกล่าวไปประพรมให้รอบๆตัวบ้าน  หรือรอบๆกำแพงบ้านวันละครั้ง  เชื่อว่าวัวธนูจะปกป้องบ้านของผู้เป็นเจ้าของประหนึ่งสุนัขล่าเนื้อที่ซื่อสัตย์ได้  เป็นต้น  เรื่องเกี่ยวกับวัว  ในความเชื่อของทางภาคใต้ยังมีอีกมากผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังในคราวหน้าหากบทความชิ้นนี้ได้กล่าวหรือล่วงเกินผู้หนึ่งผู้ใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

เขียน/เรียบเรียง    :    คุณาพร  ไชยโรจน์
ถ่ายภาพประกอบ   :    กิตติพร  ไชยโรจน์
ห้องคุยกับคุณาพร.....  http://www.siamsouth.com/smf/index.php?board=11.0
www.siamsouth.com /ศิลปวัฒนธรรมไทยภาคใต้/ห้องคุยกับคุณาพร
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษจิกายน ปี พ.ศ. 2552/เวลา 15.38 น.

คำสำคัญ (Tags): #วัวนำโชค
หมายเลขบันทึก: 271934เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท