LEAVING FOR SEATTLE: ไปจริงแล้วคราวนี้


      ตื่นเต้นไหม ใจหายไหม 

      ไม่ตื่นเต้น แต่ใจหายนิดหน่อยดีที่พี่จ๋ามาด้วย วันเดินทางเป็นวันที่บ้านพี่หนุ่ยทำกับข้าวเลี้ยงส่ง น้าแอ๋วกับน้าอาทิตย์มาด้วย ทานเสร็จก็ไปส่งน้าๆ ที่บ้าน กลับมาพาอ๋องไปส่งที่รีสอร์ท (อ๋องมาช่วยทำกับข้าวให้นอนที่บ้านไม่ยอมนอน) กลับมาไปลาพ่อกับแม่พี่หนุ่ยที่ห้อง อาบน้ำ แล้วทยอยลงมานอน stand by หน้าทีวีกันสามคน (ลืมไปว่า ตอนบ่ายไปทานข้าวเที่ยงกับพี่ก๊อง แล้วก็ไปถอย LCD มาจากเซนทรัลกัน แต่เขาส่งให้อีกวัน เลยไม่มีโอกาสได้ชม) ฉันตื่นมาก่อนตอนตีหนึ่งครึ่ง ทยอยปลุกพี่หนุ่ย พี่จ๋า ออกจากบ้านไปถึงสนามบินตีสองเห็นจะได้ ฉันกะพี่จ๋าเอากระเป๋าไป wrap เพราะกลัวโยนแล้วจะเปิดออก ทั้งๆ ที่เอาสายคาดอีกทีนึงแล้วแต่ยังไม่ไว้ใจ (ตม.จะได้ไม่อยากตรวจด้วย เพราะห่อซะแน่นหนาสมราคาร้อยแปดสิบมาก) ความเห็นส่วนตัวเห็นว่ากระเป๋าเดินทางควรเป็นแบบซิปแต่ต้องให้สภาพคงรูปหน่อย ไอ้พวกราคาไม่กี่ร้อยไม่ควร ไม่ปลอดภัย
      เสร็จก็ไป check-in มีคนรอเยอะเหมือนกัน แต่ระบบการทำงานของ northwest ใช้ได้ทีเดียว ตรวจกรองเอกสารและของต้องห้ามก่อน แล้วค่อยปล่อยไป check-in ฉันกะพี่จ๋าลุ้นน้ำหนักกระเป๋ากันตัวโก่ง เพราะมีอยู่สองใบที่ไม่ได้ชั่งมาก่อน กับอีกใบที่เผื่อน้ำหนักมาน้อย สรุปว่าใบที่หนักสุกเกือบ 21 กก. โล่งอก ผ่านฉลุยทั้งสี่ใบ ร่ำลาพี่หนุ่ยอยู่พักนึง สงสารที่ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนอยู่ (กวน) เป็นเพื่อน แต่ยังไงก็คุยกันทาง msn ทุกวันเหมือนเดิม เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าห่างกันมาก พี่หนุ่ยกลับบ้านหลังจากส่งฉันกะพี่จ๋าเข้าเกท แล้วโทรมาเข้ามือถือพี่จ๋า น้ำตารื้นเลยฉัน
      ฉันกะพี่จ๋าออกเดินทางเวลา 5.30 น.ตามเวลาโดยสายการบิน northwest เที่ยวบิน NW26 ไปยังนาริตะ ที่ญี่ปุ่น ใช้เวลาบินหกชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนเครื่องใหญ่กว่าบินไปซีแอตเติล เที่ยวบิน NW8 ออกจากนาริตะเวลา 16.10 น. ใช้เวลาบินอีกเก้าชั่วโมงก็ลงสู่สนามบินทาโคมา รัฐวอชิงตันซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใต้กว่าซีแอตเติล (ซีแอตเติลไม่มีสนามบิน) วันที่ลงอากาศไม่ดี มีหมอกและฝนปรอยทั้งวัน
      เราสองคนไปติดคิวที่ตม.อีกเกือบชั่วโมง อยู่ๆ ระหว่างรอก็มีเจ้าหน้าที่มะกันเดินมาถามโน่นนี่นั่นแล้วพูดว่า วีซ่าพี่จ๋าน่าจะมีปัญหา ฉันกะพี่จ๋าเริ่มกังวล เนื่องด้วยในวีซ่าระบุไว้ชัดเจนมากว่า การได้วีซ่าไม่ได้รับประกันว่าจะได้เข้าประเทศ ขึ้นกับตรวจคนเข้าเมืองที่อเมริกา โห! อะไรกันเนี่ย คิดกันไปต่างๆนานา ว่าอาจจะเป็นเรื่องกระเป๋าที่มีชื่อพี่จ๋าติดอยู่ว่ามาแค่ห้าวันทำไมมียา หรือของกินเยอะมาก คิดกันไปกังวลกันไป จนตม.เรียกพี่จ๋าก่อนแล้วเรียกฉันตามไปสัมภาษณ์พร้อมกัน ถามโน่นนี่เช่น เป็นหมอหรือ มาทำอะไร กี่ปี รู้เปล่าว่า J-1 visa มีข้อห้ามอะไรบ้าง แล้วก็ถามพี่จ๋าว่าจะอยู่กี่วัน กลับวันไหน ขอดูตั๋วเครื่องบิน เอาเงินมาคนละเท่าไหร่ ฉันบอกประมาณสามพันยูเอส พี่จ๋าบอกหมื่น ตม.ทำตาโต พี่จ๋าหมายถึงหมื่นไทย ตม.เลยบอกให้ฉันขอตังค์จากพี่จ๋าเอา แล้วก็ประทับตราเข้าประเทศให้ทั้งสองคน โดยพี่จ๋าอยู่ได้ถึงธันวาโน่น

     คิดกันเอาเองว่า เขาคงกลัวพี่จ๋ามาอยู่ถาวร หางานทำ พอเห็นว่ามีตั๋วกลับแล้วก็เลยปล่อย
     ความกังวลยังไม่หมดเพราะกระเป๋ายังไม่ได้ตรวจ ลงจากตม. มาเอากระเป๋า เหลืออยู่ไม่กี่ใบที่หมุนอยู่บน carousel ลำเลียงออกมา เจ้าหน้าที่ไม่ตรวจซักใบเป็นไปได้ไงเนี่ย ไม่อยากเชื่อ ก่อนออกส่งกระเป๋าเข้าไปหมุนตรวจอีกที แล้วเดินไปรอข้างนอก เนื่องจากกระเป๋าหลายใบและหนัก ลากไม่ได้เลยต้องใช้รถเข็น ต้องหยอดตังค์เสียค่ารถเข็นสองคันจำไม่ได้แล้วว่ากี่เหรียญ เสร็จแล้วจึงเข็นรถไปยังลานเรียกแทกซี่ซึ่งอยู่ชั้นสามอาคารจอดรถ คนขับเป็นแขกโพกผ้าชาวอินเดีย อัธยาศัยดี ชวนคุยตลอดทาง ชี้โน่นนี่ให้ดู ฉันปรินต์แผนที่บ้านและเส้นทางจาก google ไปให้ด้วย จากสนามบินมาบ้าน shirley ใช้เวลาประมาณครึ่งชม. เสียค่ารถบวกทิปไป 60 เหรียญ สองพันหนึ่งร้อยบาทไทย แม่เจ้า ที่บ้านมีคุณลุง Jack ซึ่งเป็น Professor of Physiology เป็นคนรอรับ Jack ช่วยยกกระเป๋า ทั้ง Jack และ Shirley ยังถามเลยว่ากระเป๋าน้ำหนักเกินหรือเปล่า เปล่าเลยค่ะคุณลุง และคุณป้า
     บ้าน Shirley น่ารัก ฉันมีห้องส่วนตัว แต่เป็นสองเตียง ใช้ห้องน้ำร่วมกับอาเจี้ยน (คิดว่าเป็น resident ศัลย์ J1 visa เหมือนกัน) ส่วนอีกคนคือ prakas เป็น oncologist อยู่ห้องข้างบน ชั้นใต้ดินมีครอบครัวอยู่ประกอบด้วย จิม แอนนี่ และลูกน่ารักสองคนคือเอลลาและเอริค
     หมดแรงออกไปไหนกันเลยนอน ตื่นมาทุ่มนึง ต้มน้ำร้อนกินมาม่าโรยด้วยปลาเล็กปลาน้อยโนริโกะซื้อมาจากเมืองไทย รอเจอ Shirley แล้วก็กลับมานอนหลับเป็นตาย






คำสำคัญ (Tags): #เดินทาง
หมายเลขบันทึก: 271705เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2009 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท