ตามหาร้านอินเตอร์เน็ต (3) จบ


      ค้างเอาไว้หลายวัน (จนเกือบลืมไปแล้ว) ว่าเล่าเรื่องที่ไปกลุ่มแม่พริกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  2549 ยังไม่จบเลย  (เพิ่มนึกออกเมื่อกี้นี้เองค่ะ  เพราะ  กำลังจะเขียนบันทึกใหม่เกี่ยวกับกลุ่มแม่พริกซึ่งผู้วิจัยเพิ่งไปมา) งั้นขอเล่าต่อเลยนะคะ

      วันนั้นหลังกลับจากกลุ่มพระบาทวังตวงแล้ว  ผู้วิจัยได้มาเก็บภาพบรรยากาศในวันออมต่อ (ในช่วงบ่าย  ซึ่งสมาชิกค่อยๆทยอยมาเป็นระยะๆ) นอกจากนี้แล้วยังมีการพูดคุยกับคณะกรรมการเกี่ยวกับบันทึกความร่วมมือตำบลละแสนด้วย  สำหรับแผนงานที่ต้องปฏิบัติเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณลงมา  ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าสำหรับพื้นที่แม่พริกนี้คงจะเน้นการดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก  คือ 

      1.การขยายสมาชิกในพื้นที่  และการตั้งกลุ่มใหม่ในตำบลต่างๆ  เรื่องนี้คณะกรรมการ  รวมทั้ง อ.ธวัช  ซึ่งเป็นประธาน  จะเริ่มดำเนินการไปแล้ว  คือ  ในส่วนของการตั้งกลุ่มใหม่  ได้มีการไปพูดคุยกับกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการออมวันละ 1 บาท  และได้นำแผ่นพับที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นไปมอบให้กับพื้นที่ต่างๆแล้ว  ในส่วนของการขยายสมาชิกในพื้นที่  จะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ทุกเดือน  แต่ในเดือนมิถุนายน  2549  จะเป็นวาระพิเศษ  เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี  ทางกลุ่มจะเปิดรับสมัครสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ  (อายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยมีกติกาว่า  ผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี  จะต้องนำบุคคลอื่นมาสมัครพ่วงด้วย 1 คน  ,  ผู้ที่มีอายุระหว่าง 70-79 ปี  จะต้องนำบุคคลอื่นมาสมัครพ่วงด้วย 2 คน , ผู้ที่มีอายุระหว่าง 80-89 ปี  จะต้องนำบุคคลอื่นมาสมัครพ่วงด้วย 3 คน สาเหตุที่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษขึ้นมาเช่นนี้  เนื่องจาก  ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในเรื่องการรักษาพยาบาลและการเสียชีวิตสูง  ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของกลุ่มจึงต้องมีการกำหนดกติกาพิเศษนี้ขึ้นมา

      2.การทำวิสาหกิจชุมชน  ซึ่ง๕ระกรรมการกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะทำ "ปุ๋ยอินทรีย์" จากมูลวัว  เนื่องจาก  อำเภอแม่พริก  เป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงวัวมากที่สุดในจังหวัดลำปาง  ทำให้มีมูลวัวเป็นจำนวนมาก  ในปัจจุบันจะมีพ่อค้าคนกลางจากจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่มารับซื้อมูลวัวเหล่านี้  ทางกลุ่มจึงคิดที่จะทำ "ปุ๋ยอินทรีย์" จากมูลวัว  ขณะนี้ได้มีการออกแบบโรงเก็บมูลวัวแล้ว  ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 150,000 บาท  ทางกลุ่มจะขออนุมัติงบประมาณจากทาง อบต.และเทศบาลในการสร้างโรงเก็บมูลวัว  หากทำได้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว  ต่อไปจะมีการขยายการออมจากการออมด้วยเงินเพียงอย่างเดียว  เป็นการออมด้วยมูลวัวก็ได้ค่ะ

      ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน  ในช่วงบ่าย3-4 โมง  คณะกรรมการได้เคลียร์เงินและเคลียร์บัญชีการออมเงินของสมาชิก  ปรากฎว่าเงินครบตามจำนวนสมาชิกที่มาออม  ทุกคนมีความสุขกันมาก  ส่วนผู้วิจัยก่อนจะกลับได้ไปหาพ่อหลวงของบ้านแม่พริก  เพื่อให้พ่อหลวงทำกระปุกออมสินไม้ไผ่ให้  ตอนแรกก็กลัวว่าพ่อหลวงจะไม่รับทำเหมือนกัน  เพราะ  เราไม่มีแบบไปให้  (ความจริงมีตั้ง 2 แบบ ค่ะ  แบบที่หนึ่งไม่ค่อยถูกใจสักเท่าไหร่  แต่ทำง่าย  ส่วนแบบที่สองถูกใจมาก  แต่ทำยากมากค่ะ) คุยไปคุยมา  ปรากฎว่าพ่อหลวงรับปากว่าจะทำให้  ผู้วิจัยดีใจมาก  พ่อหลวงคิดราคากระปุกละ 10 บาท (ถูกมากค่ะเมื่อเทียบกับกระปุกออมสินเซรามิกส์และกระปุกออมสินไม้ไผ่ที่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ไปสอบถามราคามา)  ผู้วิจัยสั่งทำ 100 กระปุกก่อน  แล้วจะค่อยๆทยอยสั่งทำอีกค่ะ

      วันนั้นเลยกลับที่พักด้วยความ Happy ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27140เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท