ห้องเรียนปริญญาเอก: วางแผนอย่างมืออาชีพ


งานทุกระดับสำเร็จได้ด้วยการวางแผนอย่างมืออาชีพ

องเรียนปริญญาเอก: วางแผนอย่างมืออาชีพ

24 มิถุนายน  2552

วันนี้ในห้องเรียนปริญญาเอก วิชา ทฤษฎีการประเมิน นิสิตออกแบบการเรียนของแต่ละคน  โดยมุ่งให้การเรียนวิชานี้เป็นส่วนเสริมสร้างศักยภาพความเป็นนักประเมินที่จะส่งผลให้ความเป็นดุษฎีบัณฑิตในอนาคตอันใกล้ มีความสง่างาน พร้อมทำประโยชน์ต่อวงการศึกษาที่สมภาคภูมิ  แต่ละคน (มีทั้งหมด 6 คน)  นำแผนการเรียนวิชานี้ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในห้องเรียนมีบรรยายกาศเป็นวิชาการดีมาก มีผู้เสนอที่มีความสามารถในการใช้สื่อ PPT และเอกสารที่เตรียมอย่างมีคุณภาพ  มีคำชี้แจงตอบข้อซักถาม ส่วนผู้ฟังก็เล่นบท ฟังให้รู้ ไม่รู้ จะไม่ผ่าน ขอถามให้ชัดเจน   ส่วนบทของผู้สอน ก็ฟัง จับผิด  หาจุดชม และเสริมประเด็นที่หล่นหาย ตลอดจนเติมสีสรรความเคลื่อนไหวในวงวิชาการ ให้เกาะติดสถานการณ์

ทุกคนเริ่มพิจารณาความพร้อมของตนเอง มองหาจุดเด่น ที่จะช่วยให้โครงการบรรลุผล และค้นหาจุดอ่อน  ที่เป็นความเสี่ยงทิ่อาจทำให้การเรียนไม่บรรลุผลตามที่ตนตั้งใจไว้ นั่นคือ การใช้เทคนิค  SWOT  นั่นเอง

จากการตรวจสอบตนเอง ทำให้แต่ละคนมองเห็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนชัดเจน และใช้หลักการวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์ทบทวนความเชื่อมโยงของการละหัวข้อในแผนที่เขียน และพิจารณา ความสมเหตุสมผลขององค์ประกอบภายในแผน  ด้วยการใช้เหตุผลที่มีความสมบูรณ์ด้วยความรู้ในเรื่องที่ทำ  ทำให้ผู้เขียนแผนเองมองเห็นจุดเสี่ยงตามที่พบจากการวิเคราะห์ตนเอง  จุดเสี่ยงนี้ล่ะ จะกระตุ้นให้เจ้าของแผนต้องมีกิจกรรม หรือ ปฏิบัติการลดความเสี่ยง  เช่น  

ถ้าพบว่าความสามารถและทักษะภาษาอังกฤษ เป็นจุดเสี่ยง  คนๆ นั้น ต้องเร่งฝึกฝนตนเองให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในงานที่ต้องทำให้ได้  มิฉะนั้น  การวิเคราะห์แล้วพบ แต่มิได้ปฏิบัติการแก้ไขใดๆ ก็เข้าประเด็น ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม

การเดินทางในระยะทางที่ไกล (จากต่างจังหวัด) โอกาสเกิดความเสี่ยงได้มาก ดังนั้น การหาที่พักที่เหมาะสมอาจเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณา  เป็นต้น

ขอทบทวนเทคนิคการวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์ ด้วยการนำเสนอสไลด์ที่บรรยายในการอบรมครู กทม. เรื่องการประเมินโครงการ เมื่อเดือนพฤษภาคม  ดังนี้

วิธีการวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์
Logical Framework Approach

       เป็นเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบของโครงการ เพื่อตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการกำหนดสาระสำคัญในองค์ประกอบพื้นฐานของโครงการ เทคนิคนี้พัฒนาโดยคณะทำงานของ Norad สนับสนุนให้เผยแพร่เมื่อ 1990 โดย Samset Stokkeland  ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐอเมริกา

       เทคนิคนี้เป็นที่นิยมมากในการพัฒนาและบริหารโครงการ และจัดทำคู่มือ

: Royal Ministry of Foreign  Affaires. 1994.Evaluation of Development Assistance. Handbook for Evaluators and Managers.

: Norad.1998: Programme and Project Cycle management. Manual for Government – to- Government Cooperation

ลักษณะ LFA  : เครื่องมือพัฒนาโครงการ

       เทคนิคการวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือพัฒนาโครงการด้วยการยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก มุ่งให้เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

       สร้างกรอบการพิจารณาตามองค์ประกอบหลักของโครงการ  พิจารณาความสมเหตุสมผลระหว่าง

Ø    ปัจจัยนำเข้าที่กำหนด   

Ø    กิจกรรมที่ออกแบบไว้  และ

Ø    ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้

มโนทัศน์สำคัญของแผนงาน/โครงการ

       การมุ่งวัตถุประสงค์  (เน้นการทำงานอย่างมีเป้าหมาย)

       การมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน (เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ)

       มุ่งสร้างความร่วมมือ (เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง)

       มีการทำงานอย่างเป็นระบบ  และ

       มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง

นิสิตมีแผนที่น่าสนใจ  แสดงให้เห็นว่างานทุกระดับสำเร็จได้ด้วยการวางแผนอย่างมืออาชีพ   ฉบับหน้าจะขอให้นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านระดับนอกห้องเรียน และเชิญชวนผู้สนใจนำแผนหรือโครงการมาร่วมเรียนรู้ด้วย

ข้อดีของการวิเคราะห์บริบท

       คำถามขั้นพื้นฐานที่สำคัญได้พิจารณา จุดอ่อนได้วิเคราะห์ การตัดสินใจมีความถูกต้องสอดคล้องกับสาระสนเทศ

       วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบในโครงการกับปัจจัยภายนอก ได้แนวการปรับปรุงแผน

       ได้หลักการที่เป็นระบบในการกำกับและวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการ

       ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้องในงานด้านต่างๆเข้าใจและ สะดวกขึ้น

       เก็บข้อมูลและประเมินการบริหารจัดการได้อย่างมีมาตรฐาน

       รับประกันความต่อเนื่องของงานได้ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนคนทำงานระหว่างโครงการยังอำเนินการอยู่

 

หมายเลขบันทึก: 271112เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
ธรรมนูญ สะเทือนไพร

ในห้องเรียน เพื่อนที่น่ารัก 2 ท่านได้นำเสนอ log fram อาจารย์และเพื่อน ๆ ได้ช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ท่านอาจารย์ ได้ช่วยชี้แนะความเป็นเหตุเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้นึกถึงหลัก

"อิทัปปัจจยตา" (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี) สรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน

ในห้องเรียนทุกคนได้วิเคราะห์ SWOT วิเคราะห์ตนเอง ตีให้แตก แยกให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นบันใดสู่การวางแผน

ท่านอาจารย์ได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นนักประเมินให้พวกเรา ปอ.วจ.ภาคพิเศษ ขอบพระคุณครับ

รู้สึกภูมิใจและดีใจจัง ที่ท่านอาจารย์เขียนถึงห้องเรียนของหนูค่ะ (หนึ่งใน 6 ที่เรียนในวันนั้น) ถึงแม้ว่าหลังจากที่ได้ฟังการคอมเม้นท์จากท่านอาจารย์แล้วจะรู้ว่าตนยังมีข้อบกพร่องอยู่ แต่ก็จะนำแนวคิดที่อาจารย์ได้บอกในชั่วโมงและเขียนไว้ข้างต้นมาปรับปรุงค่ะ

แหม เจ๋งทั้งน๊าน

เรียนสูงกันขนาดนี้ จบมาแล้ว อย่าลืมคนยากคนจน คนชายขอบเน้อครับอาจารย์

น้องกอล์ฟ

"จุดเริ่มต้นที่ดีมาจากการวางแผน " ไม่ว่าเราคิดจะกระทำการสิ่งใดจำเป็นต้องมีการ Plan ไว้เสมอ ทำให้เราได้ทราบเป้าหมาย วิธีการสู่เป้าหมาย วิธีการลดความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมาย และทำให้รู้อีกว่า "เป้าหมาย" ที่กำหนดไว้นั้น บางครั้งก็ถูกความคลาดเคลื่อนแห่งวิถีประจำวันของชีวิตพรากไปได้เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมี Sub-plan ไว้รองรับเสมอ ยกตัวอย่างเช่น เราวางแผนว่าจะต้องไปทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อสดจากร้านชื่อดัง ซึ่งเราได้วางแผนไว้แล้วว่าจะเดินทางอย่างไร เมื่อใด แต่เมื่อไปถึงร้านปรากฏว่าร้านปิด(เพราะใน Plan ไม่ได้โทรเช็คทางร้านไว้ก่อน=ความคลาดเคลื่อนแห่งวิถีประจำวัน) แน่นอนความรู้สึก Fail ย่อมเกิดขึ้น แต่จะเป็นไรไปในเมื่อเรามี Sub-plan ไว้ว่า ถ้าไม่ได้ทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อสด "ส้มตำไก้ย่างที่ร้านข้าง ๆ ก็ดีเหมือนกัน" เป็นต้น ครับ...การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่ได้รับจากอาจารย์ ทำให้ Plan ของพวกเราดีขึ้น ชัดขึ้น และแน่นอนเรามีหนทางที่จะลดความเสี่ยงไปตามวิถีของแต่ละคนครับ

ดีใจจังเลยค่ะ ที่อาจารย์พูดถึงพวกเรา นิสิต ป.เอก แล้วหนูจะปรับปรุงการเรียน การนำเสนองานให้ดีขึ้นนะคะ ประเด็นในห้องเรียนที่หนูได้ในวันนั้นก็คือ "ผลย่อมเกิดแต่เหตุ" จริง ๆ ค่ะ ขอให้อาจารย์เที่ยวเกาะเต่าให้สนุกนะคะ

ส่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนห้องปริญญาเอกในวันนั้น ทำให้ทราบว่าการกำจัดจุดเสี่ยง และพยายามลดจุดด้อย จะทำให้ความสำเร็จ ความตั้งใจดีที่วางเอาไว้ สำเร็จได้อย่างแน่นอน อาจารย์ให้แนวคิดดีมาก ผมสัญญาว่าจะนำไปปฏิบัติจริงๆไม่ใช่แค่แผนที่เขียนส่งอาจารย์

เรียน อาจารย์ที่เคารพ

ความประทับใจห้องเรียนปริญญาเอกวันนั้นเ ป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเรารู้สึกเหมือนกัน แต่สำหรับผมโอกาสที่ได้เรียนรู้จากงานของอาจารย์ การเรียนรู้จากเพื่อน ทำให้ได้มีมุมมองที่กว้างขึ้นจริงๆ  ยิ่งถ้าเราสามารถเก็บรายละเอียดและวิเคราะห์จุดต่างในแต่ละเรื่องได้อย่างละเอียดรอบครอบ จะทำให้เรานำสิ่งที่ได้ มาสังเคราะห์เป็นการเรียนรู้สำหรับตัวเราได้อย่างมาก สิ่งที่ผมได้จากการวิเคราะห์ SWOT คือ ใช้จุดแข็งเกาะกุมโอกาส ใช้จุดแข็งหลีกเลี่ยงอุปสรรค เอาชนะจุดอ่อนโดยอาศัยโอกาส และลดจุดอ่อนและหลีกเลี่ยงอุปสรรคครับ

ปรีชา สุวรรณทองลูกศิษย์อาจารย์ภาวิณีครับ

ประสบการณ์ในห้องเรียนในวันนั้น จะเป็นสิ่งเตือนใจให้ต้องทำตามแผนที่กำหนดไว้ ถ้าออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง เมื่อรู้ตัวก็ต้องถามตัวเองว่า ทำอะไรแล้วได้อะไร แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป นั่นคือ การมีสติอยู่กับสิ่งที่ทำตลอดเวลา ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินงานตามแผนให้สำเร็จ

จุดเสี่ยงจุดหนึ่งที่ได้รับการแก้ไขจากอาจารย์ คือคำว่า "ความเครียดสำหรับครูหมายถึงความจริงจัง" คำคำนี้เป็นเสมือนปฏิบัติการลดความเสี่ยงของตนเองไปได้มาก กราบขอบพระคุณสำหรับโอกาสที่ท่านอาจารย์มีต่อลูกศิษย์ค่ะ

การวางแผนอย่างมืออาชีพ เป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังคำกล่าวที่มา "วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้ ให้วิธีการคิดอย่างแยบยล แต่ซ่อนไปด้วยหลักการสู่ความสำเร็จ สัญญาค่ะว่าจะนำสิ่งที่อาจารย์สอนไปพัฒนาตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ตามประเด็นที่พิจารณาเกี่ยวกับการวางแผนอย่างมืออาชีพนั้น จากประสบการณ์ (แม้เพียงน้อยนิด)ในการทำงานคลุกคลีเกี่ยวข้องกับแผนงาน นโยบาย ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน

ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงาน/โครงการ/กิจกรรมใด ๆ ในทุกวันนี้ จำต้องอาศัยการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (Swot Analysis) ประกอบไปกับการพิจารณาวิธีการวิเคราะห์ตารางเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework Approach:LFA) ด้วยกันแทบทั้งสิ้น

เนื่องเพราะการวิเคราะห์ดังกล่าว ล้วนเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการออกแบบวางแผนในงานทุกประเภทและในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนรวมในหน้าที่ หรือแม้งาน/เรื่องส่วนตัว เราย่อมสามารถนำหลักการและแนวคิดดังกล่างมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

จิณัฐตา เจียรพันธุ์

การเริ่มเขียนแผนงานโดยใช้การวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์(Logical Framework) แรกเริ่มจะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อเข้าใจหลักการ และมีวัตถุประสงค์ของโครงการที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้มองเห็นถึงความเชื่อมโยงของแต่ละหัวข้อในแผนที่เขียน และฝึกให้เรารู้จักทบทวน พิจารณาถึงความสมเหตุสมผลขององค์ประกอบภายในแผน/โครงการ ต้องลองฝึกเขียนหลายๆ โครงการค่ะ โดยเฉพาะการวางแผนการสำเร็จการศึกษาของตนเอง ร่วมด้วยการวิเคราะห์ตนเอง จะมองเห็นภาพความสำเร็จของโครงการฯ ชัดเจนขึ้นค่ะ

ได้เข้ามาอ่านแนวทางการวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์ ทำให้ตนเองมองเห็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนชัดเจนขึ้น กลับมาทบทวนพิจารณาความสมเหตุสมผลขององค์ประกอบของแผน ทำให้มองเห็นจุดเสี่ยงชัดเจนขึ้น เห็นด้วยและประทับใจกับคำพูดที่ว่า การวิเคราะห์จุดเสี่ยงแล้วพบ แต่มิได้ปฏิบัติการแก้ไขใดๆ ก็เข้าประเด็น “ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม”

ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

นิสิต จุฬา ป.เอก วัดแลประเมินผล

ไม่ได้เรียนที่ ม.เกษตร แต่รู้จัก อ.ภาวิณี เพราะติดตามผลงานของอาจารย์อยู่บ้าง

เรื่อง log frame เป็นแนวความคิดเชิงตรรกะ จริงๆ ปัจจุบันก็นับได้ว่า ได้รับความสนใจพอสมควร มีประโยชน์ในการใช้วิเคราะห์แผน หรือโครงการต่างๆ แต่ถ้าจะมองให้ลึกๆ คิดว่า หลักการมันผสมผสานระหว่าง need assessment + goal based evaluation เข้าไว้ด้วยกัน ถ้าจะให้ดีอยากให้แนวคิดนี้สอแทรก goal free evaluation เข้าไว้ด้วยจะดีมากๆๆๆ

เป็นแค่แนวความคิดหนึ่งค่ะ ทุกอย่างควรยืดหยุ่น ไม่ใช้เคร่งครัดจนเกินไป

อัครเดช จำนงค์ธรรม

“ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม” คำนี้มันโดนใจผมมากๆ ครับ ในการวิเคราะห์ตนเองนั้นมันเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลที่ไม่เปิด..บุคคลที่ไม่เปิดถ้าเปรียบเทียบกับคำเปรียบเปรยก็คือคนที่ทำตัวเองเป็นน้าที่เต็มแก้ว ไม่สามารถรับน้ำได้อีก ดังนั้นบุคคลที่ไม่เปิดจะไม่สามารถนำความรู้ที่ได้มาเพิ่มไปพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเอง ซึ่งองค์ความรู้ของตัวเองนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ หรืออาจจะเก่าจนใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นผู้ที่เรียนปริญญาเอกก็ดี ผู้ที่จะพัฒนาตนเองก็ดี จะต้องเป็นผู้ที่เปิด เปิดกว้างๆ เป็นจุดอ่อนของตัวเองเยอะๆ

จะได้พัฒนาในส่วนนั้น แล้วจะเปลี่ยนจากคำที่ว่า “ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม” เป็น “ผู้รู้ดี เป็นผู้พร้อมพัฒนา”

กราบสวัสดีท่านอาจารย์ ท่านยังเป็นปูชนียบุคคลที่น่ารักเสมอ ดิฉันเคยเรียนที่นี่ ปัจจุบันน่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ พบ file ของท่านโดยบังเอิญ น่ารักนะค่ะ สำหรับดิฉันผู้สูงวัย..ยังทันโลก ทันสมัย.. ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ใช้สื่อที่จัดได้ว่าสุดยอดแล้วในยุคนี้ (อดยิ้ม..เสียมิได้)ท้ายนี้ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงอยู่เป็นที่ปรึกษา ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ลูกศิษย์ไปนานๆนะค่ะ

ด้วยความเคารพรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท