การเรียนรู้ด้วยตลาดนัดนักเรียน


บูรณาการเรียนรู้ด้วยตลาดนัดนักเรียน

      วันนี้ 24 มิ.ย. 52 เวลา 4.00 น. ผมได้ไปตรวจการจัดสถานที่สำหรับตลาดนัดนักเรียนบริเวณลานวัดหลุ่มข้าว พบว่าฝ่ายการตลาดได้จัดวางแผงขายของเสร็จเรียบร้อยแล้วตามที่ได้ประชุมแบ่งหน้าที่เมื่อวานนี้ ผมถามนักเรียนว่า มาทำกันตั้งแต่เมื่อไร ตี 3 ครับ ในที่ประชุมบอกให้ไปทำตั้งแต่ตี 4 ก็ทัน นี่แสดงว่าตื่นกันตี 2 ครูไม่ได้บังคับนักเรียนเขาจัดการกันเอง

      ตี 4 ครึ่ง มีผู้ปกครองขี่จักรยานมาพร้อมกับนักเรียนนำของมาวางแผงเป็นเจ้าแรก จากนั้นก็ทยอยตามกันมาเรื่อยๆ การร่วมมือระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองคงไม่ต้องไปสอนให้รำคาญใจกันแล้ว ภาพที่ปรากฏแสดงผลให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว ผู้ปกครองที่พาลูกหลานมาถึงตลาดนัดนำสิงค้าขึ้นวางแผนเสร็จแล้วก็ไปยังคอยดูลูกหลานข้างศาลาการเปรียญ มีนักเรียนชั้น ป.3 คนหนึ่ง หิ้วถั่วฝักยาวมา 2 กำ ผู้ปกครองบอกผมว่า เก็บมาจากสวนหลังบ้านเมื่อวานเย็นนี้ ขายกำละ 3 บาท อีกคนเก็บมะนาวใส่ถุง ถุงละ 4 ผล ราคาถุงละ 3 บาท เก็บจากต้นที่บ้าน คนที่นำผักมาขายมากที่สุดวันนี้ได้นำผักบุ้งมาเต็ม 1 คันรถเข็น พอวางได้ประมาณ 10 นาที ขายหมดเลย ปีนี้ฝนแล้งชาวบ้านหาผักบุ้งกินไม่ค่อยได้

      มีเสียงสนทนาภาษาคณิตศาสตร์ระหว่างยายกับนักเรียนชั้น ป.2 คนหนึ่ง ซื้อ 4 บาท ให้แบ็ง 10 ทอนกี่บาท กระบวนการกลุ่มที่อยู่ข้างๆ เริ่มช่วยกันคิด พร้อมกับมีเสียงหัวเราะ มันต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียนจัง ผมคิดอยู่ในใจ  ครูที่มาดูแลนักเรียนตะโกนบอกว่า ยืนอยู่เฉยๆ จะขายได้ไหม ร้องขายเสียงดังๆ หน่อย ซิ ปลาทอดถุงละ 5 บาท ครับ  เร็ว ภารกิจการเรียนรู้จากชีวิตจริงจากตลาดนักเรียนผ่านไปจนถึงเวลาประมาณ 6.00 น. ตลาดเริ่มวาย กิจกรรมนี้ครูไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำสิ่งใดเลย นักเรียนโดยสภานักเรียนเขาจัดการเองทั้งหมด ครูทุกคนในโรงเรียนเพียงไปคอยดูแลเท่านั้นเอง

      ขายของกันได้ทุกคน ขายได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าและความน่าสงสาร แต่สิ่งที่ได้มากที่สุด คือ การเรียนรู้ นักเรียนที่ย้ายเข้ามาใหม่ก็ได้เรียนรู้สิ่งนี้จากโรงเรียนที่เขาไม่เคยพบมาก่อนเมื่ออยู่ที่โรงเรียนเดิม 6.15 น. การต่อรองราคาสินค้าเมื่อตลาดใกล้จะวายได้เริมขึ้นกับนักเรียนที่ขายของไม่หมด บางคนขายจนหมด บางคนเก็บไว้ไปกินไปใช้ที่บ้านต่อไม่ยอมลดราคา นี่ก็เป็นบทเรียนของการรู้จักการตัดสินใจอีกบทเรียนหนึ่งที่ในห้องเรียนสอนให้รู้ไม่ได้

      ฝ่ายการตลาด(กรรมกรหรือผู้บริหารตลาดนัด พวกนี้ไม่นำของมาขาย แต่คอยจัดสถานที่บ้าง เก็บเงินค่าสถานที่บ้าง ทำความสะอาดสถานที่บ้าง) เก็บแผงวางของไปเก็บ ทำความสะอาด บทเรียนชีวิตจริงกับการเรียนรู้ตลาดนัดนักเรียนจบตอนที่ 1  หน้าแถวเสาธงครูและนักเรียนร่วมกันวิเคราะห์กิจกรรม การเรียนรู้การบูรณาการภาษาอังกฤษจากตลาดนัดนักเรียน เข้าห้องเรียนก็บูรณาการการเรียนรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้ในชั่วโมงแรก

      พบกันใหม่คราวหน้า ก.ค.นี้ เงินที่ได้ครั้งนี้ 3-200 บาท ต่อคน แบ่งเก็บแบ่งใช้ ของเหลือเก็บไว้กินไว้ใช้ที่บ้าน แบบนี้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแต่ดั่งเดิมของชุมชนหลุมข้าวจริงๆ ตลาดนัดนักเรียน ขอขอบพระคุณผู้ปกครองทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียนที่เป็นบุตรหลาน ขอบคุณ อบต.ที่ให้ใช้กระแสไฟฟ้า และแสงสว่างจากวัด

หมายเลขบันทึก: 270617เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องการจะนำรูปตลาดนัดนัดเรียนลงให้เห็น แต่พอคลิกใส่รูปจะมีรูปเดิมที่เคยนำลงไปแล้วปรากฏขึ้นมาทุกครั้ง จะนำรูปใหม่มาลงทำอย่างไร ใครทราบวิธีช่วยด้วย ครับ

ครูทมม่ายรู้แล้วใครจะรู้ล่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท