เรื่องเล่าที่บางจาก จากชีวิตลูกจ้าง สู่ ชีวิตที่พอเพียง


จากชีวิตลูกจ้าง สู่ ชีวิตที่พอเพียง

เรื่องเล่าที่บางจาก จากชีวิตลูกจ้าง สู่ ชีวิตที่พอเพียง

ว่าที่เรือตรีเฉลิมพล  บุญฉายา

 

                สัญญาณดี ๆ  ส่งมาจากคุณคณพัฒน์  ทองคำ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือ ฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่ามีครอบครัวหนึ่งดำเนินวิถีชีวิตอย่างน่าสนใจ ผมจึงนัดแนะกับพี่คณพัฒน์ลงไปพิสูจน์ความน่าสนใจที่นั่น

            เมื่อถึงที่นัดหมายพวกเราไม่รอช้า ขับรถยนต์คันกะทัดรัด ตรงไปยังพื้นที่เป้าหมาย สองข้างมีบ้านเรือนอยู่ริมถนนไม่กี่หลัง มีสวนปาล์มกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บางสวนโตพอสำหรับการเก็บผลผลิต  แซมด้วยร่องรอยของการทำนากุ้งที่ปัจจุบันนี้ถูกทิ้งร้าง

            พี่คณพัฒน์บอกให้ผมชะลอรถชิดซ้ายลงข้างทาง เอาร่มเงาของต้นขนุนอาศัยเป็นที่จอดรถชั่วคราวกันแดดที่ร้อนระอุ พี่คณพัฒน์พยักหน้าเป็นสัญลักษณ์บอกว่าลงได้แล้ว เดินนำหน้าผมไปทักทายเจ้าของบ้าน

            สตรีวัยกลางคนเข้ามาต้อนรับพวกเรา เธอคือนางลิ้นจี่  ทองวิจิตร อายุ ๔๙ ปี เชิญให้สองผู้มาเยือนนั่งดื่มน้ำคลายกระหาย นายหัวคณพัฒน์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการบอกให้พี่ลิ้นจี่ทราบว่าเราต้องการมาทำความรู้จักและต้องการเรียนรู้การดำเนินชีวิตของครอบครัวนี้เพื่อจะได้นำเสนอสิ่งดี ๆ ที่ค้นพบให้เพื่อนบ้านหรือคนอื่น ๆ ได้รับทราบ

            ระหว่างที่นั่งดื่มน้ำผมกวาดสายตามองไปรอบบริเวณบ้านเห็นโอ่งงรองน้ำฝน  ไหปากแคบวางอยู่ทางซ้ายมือของตัวบ้านหลายใบ ริมรั้วปลูกมะนาว มองไปทางขวาเห็นต้นขนุน มะนาว พริกขี้หนู และกอจาก มองไปด้านหลังเต็มไปด้วยกอจาก มองผ่านถนนไปด้านหน้าเห็นบ่อเลี้ยงปลา ต้นมะพร้าวสลับกับมะนาว ไม่น่าเชื่อบนเนื้อที่ ๔ ไร่ ของบ้านเลขที่ ๑๔๕/๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งภรรยาเจ้าของบ้านนั่งอยู่ตรงหน้าผมขณะนี้จะสามารถจัดการที่ดินได้เยี่ยมจริง ๆ

            ลิ้นจี่พาพวกเราลงไปดูพื้นที่หลังบ้านซึ่งเต็มไปด้วยกอจาก จะเรียกว่าป่าจากก็คงไม่แปลกนัก เธอเล่าว่าที่ตรงนี้เป็นมรดกที่พ่อของสามีมอบให้พี่ชายสามี เธอและสามีนำเงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตมาซื้อที่ดินแปลงนี้จำนวน ๒ ไร่ เพื่อทำการเกษตร พวกเราเดินข้ามสะพานที่ทอดผ่านลำรางขนาดเล็กไปยังร้านยอ  เธอสาธิตวิธียกยอให้พวกเราดูอย่างทะมัดทะแมง

            เราสามคนออกมาจากป่าจากเดินตรงไปยังสวนสารพัดต้นไม้ฝั่งตรงข้ามบ้าน ซึ่งอยู่กันคนละฟากถนน ที่ดินบริเวณนี้เป็นมรดกของสามีพี่ลิ้นจี่ มีเนื้อที่ ๒ ไร่  เราพบชายวัยกลางคนกำลังก้ม ๆ เงย ๆ อยู่บริเวณต้นมะนาว จึงเข้าไปทักทาย ชายผู้นี้ไม่ใช่ใครที่ไหนเขาคือเจ้าของสวน นายวิโรจน์  ทองวิจิตร อายุ ๔๙ ปี ผมและพี่คณพัฒน์สังเกตการณ์อยู่ครู่หนึ่งจึงขอตัวพี่วิโรจน์ไปนั่งรอที่บ้าน เพื่อไม่เป็นการรบกวนเวลาทำงาน

          พักใหญ่พี่วิโรจน์ เดินขึ้นมาจากสวน วงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการจึงเริ่มขึ้น วิโรจน์ เล่าว่าพื้นเพตนและภรรยาเป็นคนที่นี่แต่ไม่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ตำบลปากพูน ก่อนหน้านี้เขาและภรรยามีอาชีพรับจ้างดูแลนากุ้งให้เจ้าของกิจการ ค่าจ้างแต่ละเดือนแม่จะไม่มากนักแต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครอบครัว เขาเลี้ยงดูลูกชาย ๒ คน และลูกสาวอีก ๑ คน ให้ได้ร่ำเรียนจนมีอาชีพที่มั่นคง ปัจจุบันลูกชายคนโตรับราชการตำรวจ ครองยศสิบตำรวจเอก ลูกชายคนที่สองรับราชการทหาร ครองยศจ่าเอกแห่งกองทัพเรือ ลูกสาวคนสุดท้องเพิ่งเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

          พี่ลิ้นจี่เล่าประสบการณ์ของการดูแลนากุ้งให้ฟังว่า ธุรกิจนากุ้งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง บางครั้งขาดทุนนับแสน ดังนั้นหากไม่มีเงินทุนหมุนเวียนอย่าคิดทำธุรกิจนี้บทเรียนจากการเป็นลูกจ้างดูแลนากุ้ง ทำให้เขาไม่พร้อมที่จะเสี่ยงทำธุรกิจประเภทนี้แม้จะมีพรรคพวกมาชักชวนให้ลงทุนร่วมกัน

          เมื่อภาระที่ต้องส่งเสียลูกเริ่มเบาลงประกอบกับธุรกิจนากุ้งก็ค่อย ๆ ปิดตัว เงินที่เก็บหอมรอบริบมาตลอดชีวิตถึงถูกนำมาสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับครอบครัว วิโรจน์นำเงินจำนวนนี้มาซื้อที่ดินจากพี่ชายเพื่อสร้างบ้านและทำการเกษตร เขาอนุรักษ์ ต้นจากริมน้ำไว้ พร้อม ๆ  กับปลูกต้นจากเพิ่มเติม  ในขณะเดียวกันเขาเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของหมู่บ้าน ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกมะพร้าว ปลูกมะนาว แซมด้วยการปลูกพริกขี้หนูสวน และกล้วย เพื่อสร้างรายได้ก่อนที่มะนาวจะให้ผลผลิต นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้วิธีผลิตปุ๋ยชีวภาพจากโครงการที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน เขาปฏิเสธที่จะปลูกปาล์มเพราะต้องลงทุนสูงและต้องลงทุนเรื่อย ๆ กว่าปาล์มจะให้ผลผลิตต้องต้องมีเงินสำรองไว้จำนวนหนึ่ง พี่ลิ้นจี่เรียกว่า "ปาล์มมีเงินนอนมาก"

          กิจวัตรประจำวันของวิโรจน์และลิ้นจี่ เช้าประมาณตี ๓ - ตี ๖ สามีภรรยาคู่นี้จะไปยกยอ ที่ร้านยอหลังบ้าน ลิ้นจี่เล่าว่าคืนไหนที่ติดกุ้งพวกเขาแทบจะไม่ได้นอนเพราะต้องยกยอทุก ๆ ๕ นาที ประมาณ ๗ โมงเช้า จะเลือกกุ้ง เลือกปลา ไปส่งที่แพรับซื้อ ปลาตัวเล็กที่ไม่สามารถขายได้เธอจะนำไปปล่อยที่บ่อเลี้ยงปลาหน้าบ้าน ส่วนหนึ่งก็จะเลือกไว้สำหรับปรุงอาหาร ๘ โมงเช้าพี่ลิ้นจี่จะเข้าครัวทำอาหาร ส่วนพี่วิโรจน์จะไปจัดการกับจากหลังบ้าน

          ลิ้นจี่เล่าถึงการทำจากว่าเป็นงานที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นจากการตีงวงสำหรับงวงจากใหม่ที่ยังไม่ให้น้ำตาล จะมีไม้สำหรับตีงวงหนึ่งงวงจะตี ๑๐๐ ครั้งต่อวัน ต้องตีติดต่อกัน ๕ วัน เรียกว่าตี ๕ มื้อ แล้วหยุดไป ๕ วัน วันที่ ๖ จะใช้มีดปาดงวงตาลดูว่ามีน้ำตาลออกจากงวงหรือไม่ หากมีน้ำตาลแสดงว่าใช้การได้จะนำกระบอกน้ำตาลมาสวมที่งวงวงเพื่อรองรับน้ำตาล  ทว่าหากน้ำตาลยังไม่ออกต้องตีงวงตาลต่ออีก ๕ มื้อ  เมื่อน้ำตาลออกจากงวงแล้วจะสามารถเก็บผลผลิตได้จนกว่าจะปาดงวงตาลหมดทั้งงวง น้ำตาลที่ได้จากนำมาเก็บไว้ในไหปากแคบ (เท) เพื่อหมักให้เป็นน้ำส้มจาก

          หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว ลิ้นจีจะพักผ่อน ส่วนวิโรจน์จะลงสวนรดน้ำ       ต้นมะนาว  ดูแล บำรุงรักษาต้นมะนาว เก็บผลมะนาวรอแม่ค้ามารับซื้อ จนกว่าจะเที่ยงวิโรจน์จะคลุกอยู่ในสวน หลังรับประทานอาหารเที่ยงแล้ววิโรจน์จะรับจ้างตัดหญ้าในสวนปาล์ม

          ตกเย็นหลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว วิโรจน์และลิ้นจี่จะมาสรุปรายรับรายจ่ายแต่ละวันแล้วบันทึกลงในบัญชีรับจ่ายครัวเรือน ลิ้นจี่เล่าให้ผมฟังอย่างภาคภูมิใจว่าเขาทำบัญชีครัวเรือนมากว่า    ๔ ปี โดยการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำให้เธอรู้ว่าแต่ละวันครอบครัวของเธอมีรายได้มาจากไหนมีรายจ่ายอะไรบ้าง  รายจ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็นต้องลด จะหาช่องทางเพิ่มรายได้จากไหน ประหยัดเท่าไรหรือต้องหาเพิ่มเท่าไร รายจ่ายกับรายได้จึงจะสมดุลกัน  ข้อมูลจากบัญชีครัวเรือนทำให้เธอสามารถวางแผนจัดการเศรษฐกิจในครัวเรือนของได้ชัดเจน

นอกจากนั้นผลพลอยได้ลิ้นจี่ได้รับรางวัลจากการบันทึกบัญชีครัวเรือนเป็นร่ม หรือแก้วน้ำ    หรือแม้แต่เงิน อยู่เสมอ ๆ แม้ว่าหลายครัวเรือนหมดกำลังใจที่จะบันทึกบัญชีครัวเรือนเนื่องจากในบัญชีมีแต่รายจ่าย มีภาระหนี้สิน แต่ลิ้นจี่และวิโรจน์ยังยืนหยัดที่จะบันทึกต่อไป และทำให้เพื่อนบ้านเห็นความสำคัญต่อการทำบัญชีเพราะถือเป็นทางทำข้อมูลครัวเรือนโดยตรง ทำให้สามารถจัดการเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ถูกต้องตรงจุด

             รายได้เฉลี่ยเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท  ถ้าเปรียบเทียบกับใครหลายคนอาจจะดูน้อย แต่สำหรับครอบครัวทองพิจิตรแล้ว พวกเขาดำรงชีพได้อย่างสบาย แถมยังมีเงินเหลือเก็บ เพราะชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ เก็บผักหญ้าข้างบ้าน  หาปู หาปลาหลังบ้าน จัดการที่ดินให้เหมาะสม ใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรือนเป็นฐานในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือน

            ได้เวลาที่จะต้องล่ำลาเจ้าของบ้าน ผมและพี่คณพัฒน์กลับมาด้วยหัวใจที่เบ่งบานและมีความหวัง  หากพวกเราสามารถถ่ายทอดบทเรียนดี ๆ ที่ครอบครัวทองพิจิตรให้พี่ ๆ น้อง ๆ ของเราได้เรียนรู้เป็นแนวทางในการจัดการตัวเอง ภาวะหนี้สิน ภาวะความจน  ต้องแปรเปลี่ยนมาเป็นสุขภาวะบนฐานแห่งความพอเพียงได้ไม่ยากนัก

 

 

หมายเลขบันทึก: 269559เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

" รายได้เฉลี่ยเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท  ถ้าเปรียบเทียบกับใครหลายคนอาจจะดูน้อย แต่สำหรับครอบครัวทองพิจิตรแล้ว พวกเขาดำรงชีพได้อย่างสบาย แถมยังมีเงินเหลือเก็บ เพราะชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ เก็บผักหญ้าข้างบ้าน  หาปู หาปลาหลังบ้าน จัดการที่ดินให้เหมาะสม ใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรือนเป็นฐานในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือน"

  • เป็นตัวอย่างที่ดีในภาวะบ้านเมืองในขณะนี้
  •  และการดำรงชีวิตที่เพียงพอเป็นสุขค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • พอเพียงและเพียงพอ
  • ตามอ่านอยู่เนี่ย
  • ลองพิมพ์ใน wrod ใช้อักษร Tahoma 16 point นะครับ
  • แล้ว copy มาวางใน gotoknow
  • จะทำให้อ่านง่ายขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท