เรียนรู้กับครูของแผ่นดิน


เราโชคดีที่บรรพบุรุษของเรามีความรอบรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และได้สั่งสม เพิ่มพูน ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน

เรียนรู้

กับครูของแผ่นดิน


ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคำเรียกขานในเชิงยกย่องบุคคลที่สั่งสมประสบการณ์จนมีความรอบรู้หรือเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง และนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าสามารถชี้นำสังคมได้ โดยก้าวข้ามขีดจำกัดของการเรียนรู้ในระบบการศึกษา

และคำที่มักจะมาควบคู่กัน คือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นพื้นฐานความรู้หรือความรอบรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้และมีประสบการณ์สืบเนื่องต่อกันมาทั้งทางตรงคือ สั่งสมประสบการณ์ด้วยการปฏิบัติเอง และทางอ้อม คือ เรียนรู้จากผู้อาวุโสในชุมชน หรือความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา หรืออาจกล่าวได้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เอง ทำได้เอง โดยอาศัยศักยภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย และสืบทอดเพิ่มพูนจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่บรรพบุรุษของเรามีความรอบรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และได้สั่งสม เพิ่มพูน ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยอาศัยเรียนรู้จากการปฏิบัติผ่านด้วยตนเอง และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม และกลายเป็นต้นทุนการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าของคนรุ่นต่อมาในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ ถ้าเราสามารถพัฒนาเชื่อมต่อกับความรู้หรือภูมิปัญญายุคใหม่ได้ ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

จากการเดินทางไปในภาคต่างๆ ได้มีโอกาสได้พบปะกับบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากประชาชน นักวิชาการและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน ซึ่งนอกจากจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว ท่านเหล่านี้ยังได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันมีค่ามหาศาลให้กับคนทุกกลุ่มด้วยความเต็มใจ

ท่านเหล่านี้จึงถือเป็นครูของแผ่นดินโดยแท้

หมายเลขบันทึก: 269238เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2009 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คำว่านักปราชญ์กับปราชญ์ชาวบ้านมีความหมายไม่เหมือนกัน
ปราชญ์ชาวบ้านมีการเรียกกันจนเปรอะในระยะหลังๆนี้
คนที่ถูกเรียกก็ยิ้มที่มุมปาก
"ปราชญ์ชาวบ้าน" เป็นคำใหม่ที่บัญญัติกันขึ้นมาใหม่
เพื่อให้ฟังแล้วดูดี เป็นคำยกย่องให้เกียรติ ทั้งๆที่ก็รู้อยู่ในใจว่าเขาไม่ใช่นักปราชญ์
คนที่จะเป็นนักปราชญ์ ให้คิดดูรอบๆตัวเราหายากมากที่จะเรียกได้อย่างสนิทปาก

มีคนหนึ่งที่คนไทยสมควรเรียกท่านนั้นคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าเป็นนักปราชญ์ได้อย่างเต็มปาก

นอกนั้นลองนึกๆดู ไม่รู้จะเรียกใครว่านักปราชญ์ได้อีก

ในทางกลับกันคำว่า "ปราชญ์ชาวบ้าน" กลับเรียกกันพร่ำเพรื่อจนเปรอะเลอะเทอะกันไปหมด
ผู้เรียกก็เพี้ยน ผู้ถูกเรียกก็ยิ่งยิ้มแฉ่ง
น่าจะเปลี่ยนคำเรียกกันใหม่ได้แล้ว
เพราะเรียกกันอย่างไม่จริงใจ คนถูกเรียกก็ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ

เรียก"ครูของแผ่นดิน" แทนคำว่า "ปราชญ์ชาวบ้าน" ดีกว่าครับ

ขอบคุณครับคุณเมธินี คุณภราดร พัชรวรรณ ที่แวะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ท่านเหล่านั้นหรือใครก็ตามจะได้รับการยกย่องหรือเรียกขานว่าอย่างไร อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าแต่ละท่านคิดและทำอะไรให้เหมาะสมกับที่ได้รับการยกย่อง

 

มีไม่น้อยที่เราได้ยินคนเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้านแล้วก็พากันอมยิ้ม

และก็มีไม่น้อยเช่นกันที่เราได้สัมผัสกับท่านเหล่านั้นแล้ว สามารถค้อมคารวะให้ด้วยความจริงใจ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท