น้ำหมักชีวภาพใช้แล้ว พืชโตดีจริงหรือ?


น้ำหมักชีวภาพจะช่วยเสริมธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม พืชได้ธาตุอาหารครบ ทำให้พืชเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต

คุณภาพของน้ำหมักชีวภาพ

 

           “น้ำหมักชีวภาพ” เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด ระหว่างนักวิชาการกับผู้ที่ใช้น้ำหมักชีวภาพ โดยฝ่ายวิชาการบอกว่า น้ำหมักชีวภาพไม่มีธาตุอาหารพืช ฝ่ายที่ใช้ก็บอกว่า ไม่สนใจว่าจะมีธาตุอาหารหรือไม่ แต่ใช้แล้วได้ผล พืชเจริญเติบโตงอกงามดี ทำให้กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นหน่วยงานวิจัย ต้องศึกษา และหาคำตอบมาอธิบายให้ได้ว่า น้ำหมักชีวภาพไม่มีธาตุอาหารพืช หรือมีก็น้อยมากนั้น ทำให้พืชเจริญเติบโตงอกงามได้ผลผลิตดีได้อย่างไร และผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้ คือ คุณสุนันทา ชมภูนิช คุณอมรา หาญจวณิช และคุณวรรณรัตน์ ชุติบุตร กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยทั้ง 3 ท่าน ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ เรื่อง “คุณภาพน้ำหมักชีวภาพ” และเราได้นำมาฝากท่านผู้สนใจ ดังต่อไปนี้

 

                น้ำหมักชีวภาพ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกิดจากเกษตรกรนำเศษพืช สัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นไปหมักกับกากน้ำตาล และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีการผลิตและการนำน้ำหมักไปใช้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ กรรมวิธีในการหมัก ระยะเวลาที่หมักตลอดจนวิธีการใช้กับพืช และการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ น้ำหมักชีวภาพแยกเป็น 2 ประเภท ตามวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิต ดังนี้ คือ

 

                1. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช วัสดุหลัก ได้แก่ พืชผักต่าง ๆ ผลไม้ วัชพืช ตลอดจนพืชสมุนไพร

                2. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์ วัสดุหลัก ได้แก่ ปลา หอยเชอรี่ ไข่ไก่ นมสด แมลง เศษชิ้นส่วนของสัตว์ มูลสัตว์ ตลอดจนขยะในครัวเรือน

 

                     กระบวนการที่เกิดขึ้น จุลินทรีย์ต่าง ๆ มีทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการออกซิเจน จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ผลิตเอนไซม์ออกมาทำการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน จากวัสดุที่นำมาใช้ในการหมักให้มีโมเลกุลเล็กลง บางส่วนของสารเหล่านั้นถูกน้ำไปใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ ส่วนที่เหลือจะปะปนอยู่ในของเหลวที่เกิดจากการหมัก ดังนั้น ในน้ำหมักชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วย น้ำ จุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีชีวิต และซากจุลินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ ธาตุอาหารพืช และเศษชิ้นส่วนวัสดุที่นำมาหมัก

 

                    ผลการวิเคราะห์น้ำหมักชีวภาพในโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำหมักชีวภาพของกลุ่มงานวิจัยเกษตรเคมี จำนวน 25 ตัวอย่าง สรุปได้ว่า น้ำหมักชีวภาพมีธาตุอาหารพืช แต่ธาตุอาหารหลักมีน้อยไม่เพียงพอ มีธาตุอาหารรอง คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน โดยเฉพาะแคลเซียมที่มีการเคลื่อนย้ายได้น้อยในพืช พืชมักแสดงอาหารขาด และที่น่าสนใจ คือ ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม ซึ่งวิเคราะห์พบเกือบทุกธาตุในแต่ละตัวอย่าง ธาตุอาหารเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับพืช โดยเป็นส่วนประกอบของระบบเอนไซม์ และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่าง ๆ ในพืช พืชใช้ในปริมาณน้อยมาก ถ้ามากเกินไปกลับเป็นพิษกับพืชและส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายได้น้อยในพืช นอกจากนี้ ดินที่ปลูกพืชนาน ๆ มักขาดธาตุอาหารเหล่านี้ หรือบางครั้งถูกดูดซับไว้ไม่ละลายออกมาเป็นประโยชน์กับพืช จึงทำให้พืชมักแสดงอาการขาด เมื่อเกษตรกรนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้กับพืช น้ำหมักชีวภาพจะช่วยเสริมธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม พืชได้ธาตุอาหารครบ ทำให้พืชเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต

 

                   เกษตรกรมักประสบด้วยตนเองว่า หลังการใช้น้ำหมักชีวภาพทำให้ลดการใช้สารเคมี และจะสังเกตเห็นว่าเริ่มมีสัตว์ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น นก ไส้เดือน และสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ คือ จุลินทรีย์ จุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณรากพืชบางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และมีความสามารถสร้างสารควบคุมการเจริญเติบโตพืชได้ จุลินทรีย์จะเปรียบเสมือนผู้สร้าง ที่คอยให้ปุ๋ย และสารควบคุมการเจริญเติบโต หรือฮอร์โมนแต่ต้นพืชอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องซื้อสารสังเคราะห์ที่มีราคาแพงอีกต่อไป ดังนั้น การใช้น้ำหมักชีวภาพไม่ว่าจะฉีดพ่นให้พืช หรือราดลงดิน ร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ตลอดจนการถนอมรักษาอินทรีย์วัตถุไว้ในแปลงโดยไม่เผาทำลาย เมื่อปฏิบัติต่อไประยะหนึ่งจะเกิดความสมดุลในระบบนิเวศ อาจมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีบ้างเพื่อให้เกิดผลผลิตสูงสุด ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว ผลผลิตที่ได้ยังมีความปลอดภัยในการบริโภค ตลอดจนเป็นแนวทางมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ที่เป็นทางเลือกสำคัญในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต

ที่มา : พรรณนีย์ วิชชาชู. 2546. จดหมายข่าวผลิใบ. ปีที่ 6, ฉบับที่ 2, ประจำเดือน มีนาคม : 16.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2685เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2005 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท