เหตุขัดแย้งเพราะ "คำพูด"


"พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"

เหตุขัดแย้งเพราะ "คำพูด"

 
      คุณเคยมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ….."ทำไมคนนั้นเค้าไม่พูดกับเรา" หรือ "ทำไมเพื่อนที่คุยด้วยเป็นประจำ เค้าแสดงสีหน้าบึ้งตึงกับเรา หรือ "ทำไมลูกน้องถึงแสดงกิริยาก้าวร้าวกับเรา" คำตอบจะมีจากหลายหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การไม่ถูกชะตากันแบบว่าไม่รู้ทำไม เห็นหน้าคนนี้ทีไร รู้สึกไม่ชอบเอาเสียเลย หรือความรู้สึกหมั่นไส้ เพราะชอบแสดงกิริยาโอ้อวดประจบเจ้านาย วัน ๆ ไม่ยอมทำงาน หรือเห็นคนอื่นเก่งหรือดีกว่าเป็นไม่ได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญและอาจจะถูกมองข้ามไปได้ นั่นก็คือ "คำพูด" ที่คุณสื่อสารออกไป โดยที่คุณเองไม่รู้เลยว่าคำพูดเหล่านั้นจะส่งผลไม่ดีต่อตัวคุณ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคุณกับผู้ที่คุณพูดด้วย ทั้งนี้ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจเนื่องความคิด ความรู้สึกที่พวกเค้ามีต่อคำพูดของคุณ ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกไม่ชอบใจ หมั่นไส้ โกรธเคือง เสียใจ หรือน้อยเนื้อต่ำใจ
      ลักษณะของคำพูดที่นำพาความขัดแย้ง พบว่าในบางครั้งผู้พูดอาจไม่คิดอะไร แบบว่าพูดจนติดเป็นนิสัย จนไม่รู้ตัวว่าคำพูดเหล่านี้จะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำร้ายตัวเอง ชนิดที่ว่าสร้างศัตรูแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลย หากยิ่งเจอคนที่มีความไวต่อความรู้สึก หรือพวก SENSITIVE แล้วล่ะก็ ยิ่งไปกันใหญ่ คุณเชื่อไหมว่า คำพูดสามารถเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูได้ ทั้งนี้ลักษณะของคำพูดที่ไม่ดี ซึ่งจะส่งผลในแง่ลบกับตัวคุณเอง (Negative Wording) มีดังต่อไปนี้
      พูดเหน็บแนม - แบบว่าไม่พูดต่อว่าตรง ๆ แต่จะพูดเสียดสี แดดดัน กระแหนะกระแหน บางคนชอบพูดเหน็บแนมจนเป็นนิสัย ไม่รู้ตัวเองว่าพูดอะไรไป "เหน็บจนชิน" เช่น ทำไมคราวนี้คุณส่งรายงานการขายมาให้ฉันเร็วจัง เห็นทุกทีส่งช้าเป็นประจำ หรือ ที่บริษัทคุณเค้าสอนให้ทำรายงานผู้บริหารแบบนี้เหรอ ไม่เข้าท่าเลยนะ เป็นต้น คำพูดแบบนี้อันตรายค่ะ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายเค้าไม่ชอบหรือโกรธคุณ ชนิดที่ว่าคุณเองก็ไม่รู้ว่าทำไมพวกเค้าถึงไม่ชอบคุณ
      พูดโผงผาง - เป็นคำพูดที่เสียงดัง โผงผาง เอะอะโวยวายไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน การให้คำปรึกษา การว่ากล่าวตักเตือนลูกน้อง การแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ แบบว่าพูดโผงผางได้ทุกสถานการณ์ เช่น เฮ้ย ทำไมทำงานแบบนี้ สอนแล้วไง ไปทำมาใหม่ เป็นต้น คำพูดแบบนี้จะทำให้คนฟังเข้าใจผิดคิดว่าคุณมีกิริยาที่ก้าวหน้า ไม่สุภาพ ไม่เคารพ ยิ่งคุณทำงานเกี่ยวกับงานขายหรืองานที่ต้องมีจิตสำนึกของการให้บริการ (Service Mind) แล้วล่ะก็ อันตรายค่ะเพราะอาจทำให้ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากเข้ามาหาหรือพบคุณเลย
      พูดเกินจริง - อาจจะเป็นการโอ้อวดมากเกินไป พวกอวดรวย อวดปริญญาหรือความรู้ อวดความฉลาด/เก่ง ความความสวย/หล่อ คำพูดโอ้อวดจะเป็นลักษณะของการพูดแบบภาคภูมิใจจนโอเวอร์เกินไป เช่น คุณรู้ไหม หัวข้อนี้เคยเชิญวิทยากรมาพูดแล้วหลายคน พูดไม่เข้าใจเลยสักคน แต่เวลาฉันพูดคนฟังเข้าใจและรู้เรื่องหมดเลย หรือ เด็กคนนี้ที่เลือกเข้ามาทำงาน เก่งมากเลย ทำโน้น ทำนี่ได้ แบบไม่ต้องสอนเลย รู้เรื่องไปหมดทุกอย่าง ไม่มีใครทำได้อย่างเด็กที่เลือกเข้ามาเลย คุณรู้ไหม เป็นต้น คำพูดแบบนี้ระวังค่ะ เพราะคนที่คุณพูดพาดพึงถึง อาจพลอยเดือดร้อนไปด้วย เพราะความหมั่นไส้หรือไม่ชอบหน้า
      พูดประจบสอพลอ - เป็นการประจบ พูดเอาใจในทุกเรื่อง เห็นดีเห็นงามไปทุกอย่าง เพียงแค่หวังตำแหน่งในหน้าที่การงาน หวังให้คนสรรเสริญเยินยอ หวังความก้าวหน้าหรือมั่นคงในอาชีพ เป็นคำพูดที่ขาดความหวังดีหรือความจริงใจอย่างแท้จริง เช่น ใช่เลย เหตุผลที่นายชี้แจงมาถูกต้อง เป็นเหตุผลที่ดีมากที่พวกเราในทีมทุกคนเห็นชอบ จริงไหม พวกเรา (แบบว่าถูกหรือไม่ถูก - พูดไปก่อนเลย)
      พูดดูถูก - พูดเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกด้อยคุณค่า หรือทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถและศักยภาพเท่าไหร่นัก เช่น ฉันคิดว่าคุณทำโครงการพันล้านนี้ไม่ได้หรอก อย่างคุณเหรอทำโครงการเล็ก ๆ ก็พอ หรือ คุณแน่ใจเหรอว่าคุณสามารถปิดการขายสำหรับลูกค้ารายนี้ได้ เอาอย่างนี้ก็แล้วกันให้คุณ xxxxx ไปทำดีกว่า คำพูดแบบนี้จะเป็นการปิดกั้นการพัฒนาความสามารถของพนักงาน เพราะพวกเค้าจะรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า ในที่สุดจะผลทำให้พวกเค้าไม่สนใจที่จะพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เลย
      พูดนินทา - เป็นการพูดลับหลัง ให้ร้ายคนอื่น มีทั้งเรื่องหรือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง เพียงเพื่อความพอใจ ความสบายใจที่อยากให้คนอื่นมีความรู้สึกไม่ดีกับคนที่กำลังนินทาอยู่ เช่น คุณรู้จักผู้จัดการที่มาใหม่ซึ่งทำงานในหน่วยงาน xxxx ไหม ลูกน้องมาบ่นว่าเค้าทำงานไม่เป็นเลย สั่งอะไรก็ไม่รู้เรื่อง พูดอยู่แต่ในลำคอ และคุณรู้ไหมเค้าชอบอยู่คนเดียวด้วยนะ วัน ๆ ไม่เห็นสุงสิงกับใครเลย เป็นต้น คำพูดแบบนี้ต้องระวังค่ะ เพราะอาจสร้างความขัดแย้งกับให้คุณอย่างไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้ หากคนที่คุณนินทารู้ว่าคุณพูดอะไรออกไป ….อย่าลืมนะคะว่า หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง
      พูดแบบคิดไปเอง - เป็นคำพูดคุณคิดเอาเอง โดยไม่ถามเหตุผลอะไรเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้เลย เช่น นี่คุณ xxxx วางแผนไว้แนบเนียนจริง ประชุมใกล้เที่ยง แล้วมายืมเงินผม โดยอ้างว่าไม่ได้หยิบกระเป๋าเงินมา (ทั้ง ๆ ที่คุณ xxxx ลืมเอากระเป๋าเงินมาจริง ๆ ) หรือ เอ้า คุณ xxxx ทำไมตอบลูกค้าไปแบบนี้ ลูกค้าเค้ามาบอกผม ต่อไปวันหน้าวันหลังเวลาจะพูดอะไรไปต้องปรึกษาผมก่อนนะ (คำพูดแบบนี้ไม่มีการไตร่ถามเหตุผลก่อนเลย คิดไปเองหรือฟังความข้างเดียว โดยคิดว่าคุณ xxxx ต้องผิดเสมอ)
      พูดโยนความผิด - การปัดความรับผิดชอบในงานที่ตนเองทำ หรืองานที่ตนเองต้องควบคุมดูแลรับผิดชอบ เช่น รายงานที่ส่งผิดไป ฉันไม่ได้เป็นคนทำ คุณ xxxx ลูกน้องฉันต่างหากที่คุณต้องไปตรวจสอบและถามเหตุผล เป็นต้น คุณรู้ไหมว่าคำพูดแบบนี้จะดูแย่มากสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า เพราะเป็นการชี้ให้เห็นชัดว่าหัวหน้าไม่มีความเป็นผู้นำที่ต้อง…กล้าทำ กล้าพูด กล้าคิด และกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ/ดูแลรับผิดชอบ
      คำพูดทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ หากคุณหลีกเลี่ยงได้ขอให้คุณเลี่ยงไม่พูดออกมาซะดีกว่า จงคิดเสียว่า "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" เพราะคำพูดในเชิงลบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับตัวคุณ มีแต่ผลเสียที่คุณจะได้รับ โดยจะส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานระหว่างคุณกับคนอื่น ๆ และความขัดแย้งนี้เองจะเป็นบ่อเกิดของความไม่ร่วมมือประสานงานกัน ความไม่ช่วยเหลือในการทำงานต่างๆ ที่คุณเองอาจต้องการจากคนอื่นหรือแม้แต่ลูกน้องของคุณเองก็ตาม
 
 
 
ที่มา : http://www.hrcenter.co.th/
เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน >
คำสำคัญ (Tags): #kmanw3
หมายเลขบันทึก: 267565เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คำพูดสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดทั้งความขัดแย้ง และ ความร่วมมือจริง ๆ ค่ะ

เคยไปเข้าอบรมหลักสูตร การสื่อสารข้ามสายงาน กับ อ.อุไรวรรณ อยู่ชา

อาจารย์ชี้ให้เห็นสาเหตุที่ทำงานแล้วเกิดปัญหาจาก คำพูด และทัศนคติ

ได้ชัดเจนมาก การป้องกันคือ เปิดใจมีทัศนคติที่ดีต่อกันก่อน และ

พูดภาษาดอกไม้ต่อกัน ซึ่งหลังอบรมได้นำมาใช้ ได้ผลค่ะ ทำให้การทำงาน

ราบรื่นขึ้น อาจารย์สอนดีมาก สอนด้วยกิจกรรม Workshop และจำลอง

สถานการณ์ ทำให้เข้าใจง่าย เห็นภาพสาเหตุและการป้องกันแก้ไขชัดเจน

และสนุกมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท