คนไร้บ้าน : การจัดบริการด้านที่พักอาศัยชั่วคราว


เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ผมก็อดสงสัยเปรียบเทียบไม่ได้ว่า คุณสมบัติตามข้อ ๑ ที่กำหนดเงื่อนไขอายุ ๑๘ ขึ้นไป มีความเดือดร้อนไม่มีที่พักอาศัย หรือไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเร่ร่อนอยู่ในที่สาธารณะ เป็นคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง (บ้านมิตรไมตรีจึงเป็นสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งไปโดยปริยาย ?) ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราย้อนกลับไปที่คำถามบรรทัดแรกว่า "คนไร้บ้าน" กับ "ไร้ที่พึ่ง" ต่างกันอย่างไร และมีความหมายอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างกับ "homeless" และ "คนเร่ร่อน-จรจัด"

 

(๑)
ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า "คนไร้บ้าน" ในบ้านเรา จะมีความหมายเดียวกันกับคำว่า "homeless" หรือไม่ 
หรือจะเป็นเพียงแค่การสร้างวาทกรรมหรูให้กับ "คนเร่ร่อน" "คนจรจัด" ทำนองเดียวกับ "ยาม้า" เป็น "ยาบ้า" -- ก็คงต้องดูกันต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาก็ได้มีการแยก "คนไร้บ้าน" ออกมาต่างหาก
รับผิดชอบโดย "สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน (สคส.)" เมื่อแรกตั้งชื่อว่า "สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส (สสส.)" ภายใต้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ได้มี
ประกาศกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้าน
เป็นประกาศที่มีเนื้อหา ๓ หน้ากระดาษเอ ๔ รวมเนื้อหา ๗ ข้อ


ประกาศฉบับดังกล่าว เกริ่นนำว่า...

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๕ ระบุว่าบุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในประเภทต่างๆ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัย หรือคนไร้บ้านด้วย และได้ให้ความสำคัญกับการดูแลคนไร้บ้าน เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ ด้านสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงจัดตั้งศูนย์คนไร้บ้านขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้านไว้ ดังนี้.....


โดยในประกาศฉบับนี้ มิได้ให้นิยามความหมายของคำว่า "คนไร้บ้าน" แต่ก็ได้ให้ความหมายของ "ผู้ใช้บริการ" ว่าหมายถึง คนไร้บ้านตามคุณสมบัติของหลักเกณฑ์นี้ (ซึ่งได้ให้รายละเอียดไว้ ดังนี้)


ข้อ ๑. ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการจัดสวัสดิการตามหลักเกณฑ์นี้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๑.๑ มีสัญชาติไทย
๑.๒ อายุตั้งแต่ ๑๘ ปี ขึ้นไป
๑.๓ สามารถช่วยเหลือตัวเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้
๑.๔ ไม่เป็นโรคติดต่ออันตรายหรือติดยาเสพติดให้โทษ
๑.๕ ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน
๑.๖ มีความเดือดร้อนไม่มีที่พักอาศัย หรือไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเร่ร่อนอยู่ในที่สาธารณะ


ข้อ ๒. การติดต่อเข้ารับบริการ
๒.๑ ผู้ประสงค์จะเข้าพักอาศัยให้ยื่นคำขอตามแบบที่ทางราชการกำหนดไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน หรือที่สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

๒.๒ ผู้ยื่นคำขอจะต้องส่งหลักฐานหรือบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอย่างอื่นที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารรับรองจากส่วนราชการหรือองค์กรเอกชนที่เชื่อถือได้

๒.๓ ในกรณีผู้ไม่มีหลักฐานให้เจ้าหน้าที่สอบข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยหรือสัญชาติใด

๒.๔ ผู้ที่เจ้าหน้าที่ส่ง ให้ทำหนังสือส่งตัวถึงหัวหน้าศูนย์คนไร้บ้าน

๒.๕ ผู้ที่จะได้เข้าอยู่ในศูนย์คนไร้บ้านจะต้องได้รับอนุมัติให้เข้าอยู่ได้จากอธิบดี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน


ข้อ ๓. การจัดสวัสดิการ
๓.๑ ให้บริการด้านปัจจัยสี่ตามสมควรแก่อัตภาพ

๓.๒ ดำเนินการตามกระบวนงานสังคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพ

๓.๓ ให้บริการด้านที่อยู่อาศัยตามที่ทางราชการกำหนดให้ไม่เกิน ๑๕ วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอาจได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้พักอาศัยต่อไปได้อีกไม่เกิน ๒ ครั้งๆ ละไม่เกิน ๑๕ วัน


ข้อ ๔. และ ข้อ ๕. ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติตัวระหว่างที่พักอาศัย และการดำเนินการกรณีมีการละเมิดข้อห้ามหรือกฎหมายระหว่างที่พักอาศัย


ข้อ ๖. สิทธิการเข้าพักอาศัยในศูนย์คนไร้บ้านให้ถือว่าสิ้นสุดเมื่อ
๖.๑ เมื่ออธิบดีสั่งให้ออกจากศูนย์คนไร้บ้านตามข้อ ๕
๖.๒ เมื่อครบกำหนดเวลา ตามข้อ ๓.๓


ข้อ ๗.
เมื่อผู้ใช้บริการหมดสิทธิ์เข้าพักอาศัยในศูนย์คนไร้บ้านตามข้อ ๖ ผู้ใช้บริการจะต้องออกจากศูนย์คนไร้บ้านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และจะเรียกร้องค่าขนย้ายหรือค่าใช้จ่ายอย่างใดๆ จากทางราชการมิได้


 

(๒)
สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน (สคส.) : รายละเอียดจากเว็บไซต์
เมื่อลองสืบค้นรายละเอียดที่เว็บไซต์ http://co-welprotection.com  ใช้เวลาอยู่เกือบชั่วโมง แล้วก็เดาเอาว่าได้มีการจัดโครงสร้างการบริการ ๔ รูปแบบ ดังนี้ (http://co-welprotection.com/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=43&Itemid=11)

๑. บ้านมิตรไมตรี ๔ ภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่
ภารกิจ: ๑) บริการที่พักอาศัยชั่วคราว ระยะเวลา ๑๕ วัน ๒) จัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ๓) จัดกิจกรรมฝึกอาชีพระยะสั้น ๔) เสริมสร้างการออมทรัพย์

๒. บ้านสร้างโอกาส ๔ แห่ง ได้แก่ อ่อนนุช วัดสวนแก้ว ปากเกร็ด ธัญบุรี
ภารกิจ: ๑) บริการที่พักอาศัยชั่วคราว ระยะเวลา ๖ เดือน ๒) จัดกิจกรรมฝึกอาชีพระยะสั้น ๓) เสริมสร้างการออมทรัพย์

๓. บ้านพักใจ จังหวัดสระบุรี
มีภารกิจ: ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจของผู้เลิกยาเสพติด และฝึกทักษะอาชีพการเกษตรและอาชีพเสริม ระยะเวลา ๓-๖ เดือน

๔. ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต ๑-๑๒ (กทม.) ให้บริการสวัสดิการสังคมเฉพาะหน้า ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชนเมือง ติดตามให้ความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมและประสานการดำเนินงานเครือข่ายบริการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่


ถึงตรงนี้ ผมเข้าใจว่าประกาศกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการข้างต้น เป็นประกาศสำหรับการจัดบริการในรูปแบบของ "บ้านมิตรไมตรี" ทั้ง ๔ แห่ง (?)

 

(๓)
สงสัย - เปรียบเทียบ

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ผมก็อดสงสัยเปรียบเทียบไม่ได้ว่า
- คุณสมบัติตามข้อ ๑ ที่กำหนดเงื่อนไขอายุ ๑๘ ขึ้นไป มีความเดือดร้อนไม่มีที่พักอาศัย หรือไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเร่ร่อนอยู่ในที่สาธารณะ เป็นคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง (บ้านมิตรไมตรีจึงเป็นสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งไปโดยปริยาย ?) ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เราย้อนกลับไปที่คำถามบรรทัดแรกว่า "คนไร้บ้าน" กับ "ไร้ที่พึ่ง" ต่างกันอย่างไร

- เมื่อหันกลับไปพิจารณาถึงระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยบ้านพักชั่วคราวคนจนเมือง พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่กำหนดระยะเวลาพักอาศัยยาวถึง ๑๘๐ วัน ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะขอเข้าพักอาศัยในบ้านพัก ไว้ (ในข้อ ๖) ดังนี้ ๑) ผู้ที่ประสบสาธารณภัยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย ๒) ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่และยังไม่มีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ๓) ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ๔) บุคคลหรือกลุ่มชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย. คุณสมบัติที่กำหนดว่า "ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง" เป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความหมายเดียวกันกับ "มีความเดือดร้อนไม่มีที่พักอาศัย หรือไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเร่ร่อนอยู่ในที่สาธารณะ" หรือไม่


ดังนั้น ผมจึงสรุปเองว่า 
เงื่อนเวลาที่กำหนดให้ใช้บริการในบ้านมิตรไมตรีไม่เกิน ๑๕ วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอาจได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้พักอาศัยต่อไปได้อีกไม่เกิน ๒ ครั้งๆ ละไม่เกิน ๑๕ วัน (รวมแล้วไม่เกิน ๔๕ วัน) เป็นหน้าที่ เป็นงานที่ต้องจัดการในหน่วยงาน - - เป็นลักษณะของบ้านน้อยต้นซอย กลางซอย ก่อนถึงบ้านใหญ่ท้ายซอย

ฯลฯ


บางทีการทำบ้านชั่วคราวย่อยๆ แบบนี้ กระจายทั่วไป
ทำงานร่วมกับเครือข่ายและภาคประชาชน อาจได้ผลเร็ว กระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักได้มากกว่า

หมายเลขบันทึก: 267536เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 03:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ด้วยมีบุคคล ชื่อนายอุดร เรืองวิวัฒวิทยา มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง แต่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีที่พักอาศัย จะช่วยเหลืออย่างไรดีคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท