ฮิวแมนนอยด์ อีกก้าวการพัฒนาหุ่นยนต์ไทย


ฮิวแมนนอยด์ อีกก้าวการพัฒนาหุ่นยนต์ไทย

ด้วยความร่วมมือล่าสุดระหว่าง สมาคมหุ่นยนต์ไทย-เนคเทค-ซีเกท หวังยกระดับศักยภาพเยาวชนไทยและเศรษฐกิจ ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียน สู่การประยุกต์ใช้จริง ...

วิวัฒนาการที่ล้ำหน้าในปัจจุบัน ได้ขยายและกระจายตัวอยู่แทบจะทุกที่ในสังคม ทั้งภาคอุตสาหกรรม เชิงพาณิชย์ ตลอดจนภาคการศึกษาและการดำเนินชีวิต ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยการผลักดันและปลูกฝังความรู้ให้แก่เยาวชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สะท้อนกลับมาสู่สังคม พร้อมขยายศักยภาพไปยังต่างประเทศและระดับโลกต่อไป

 

ยนต์ฮิวแมนนอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2552” (Thailand Humanoid Soccer Competition 2009) ความร่วมมือระหว่าง สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และยานยนต์ แก่นิสิตนักศึกษา พร้อมทั้ง กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร และหาตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ชิงโลก (World Robocup 2010) ณ ประเทศสิงคโปร์...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยรายละเอียดว่า การจัดแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทยฯ ในครั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากเนคเทคและซีเกท รวม 2,200,000 บาท โดยสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากซีเกท ที่สนับสนุนการจัดแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ เป็นเวลานานกว่า 7-8 ปี ด้วยความมุ่งหวังในการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การสนับสนุนจากเนคเทคถือเป็นสัญญาณที่ดีของวงการเทคโนโลยีไทย เนื่องจาก หน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญและสนับสนุนกิจกรรม ถือเป็นอีกขั้นความสำเร็จของการพัฒนา

นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ให้รายละเอียดต่อว่า หลายประเทศที่เป็นประเทศเจริญแล้ว ต่างมีนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในประเทศเกิดกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ และเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม เชื่อว่า การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฯ ในประเทศไทยครั้งนี้ จะสามารถปลูกฝังการทำงานด้วยตนเองและทีม รวมถึง การนำความรู้นอกห้องเรียน มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และสังคม จากการรับและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทั้งภายในและภายนอกประเทศ พบว่า ผลงานของนักเรียนนักศึกษาที่ส่งเข้าแข่งขันในแต่ละปี มีการพัฒนาฝีมือและอยู่ในแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง สมาคมฯ จึงเตรียมส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เด็กหันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยการแข่งขันครั้งนี้ จะมีการอบรมเพื่อเตรียมพื้นฐานความรู้แก่ผู้ร่วมแข่งขัน หลังจากนั้นจะเป็นการคัดเลือกด้วยโจทย์การทดสอบ และตัดสินด้วยการประดิษฐ์หุ่นยนต์

เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงเยาวชนได้โดยง่าย ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ ความบันเทิง เกมส์ และการเรียน เมื่อเกิดช่องทางที่เด็กสามารถเข้าถึงและตอบรับเทคโนโลยีได้ ผู้เกี่ยวข้องก็ควรเร่งหาโอกาสที่จะกระตุ้นให้เด็กสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต สมาคมฯ เตรียมเปิดพื้นที่สำหรับจัดการแข่งขันในระดับบุคคลธรรมดาแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจการประดิษฐ์และเทคโนโลยีด้านดังกล่าว นอกจากนี้ ภาครัฐควรเพิ่มบทบาท ผลักดัน และต่อยอดโครงการ เพื่อเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) ที่ให้การสนับสนุนสมาคมหุ่นยนต์ไทย อธิบายว่า การสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นพันธกิจหลักของเนคเทค โดยไม่จำกัดเพียงการพัฒนานักวิจัยในระดับสูง แต่ครอบคลุมถึง การเตรียมบุคลากรระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การจัดกิจกรรมกระตุ้นความรู้ความสนใจ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้นโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านดังกล่าว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ครอบคลุมเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณ โทรคมนาคม และสารสนเทศ

ผอ.เนคเทค อธิบายต่อว่า กิจกรรมแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เนคเทคสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนที่ร่วมโครงการเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมแข่งขันในเวทีระดับชาติ และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ โดยเนคเทคได้มอบทุนสนับสนุนในโครงการดังกล่าว จำนวน 500,000 บาท เนื่องจาก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดระดับโลก การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองผู้พิการ ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุให้สามารถช่วยเหลือตนเองและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ภาคเอกชนที่เห็นประโยชน์และสนับสนุนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ด้วยทุนกว่า 1,700,000 บาท ชี้แจงว่า ซีเกทมีเหตุผล 2 ประการ ที่สนับสนุนการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ได้แก่ ประการแรก บริษัทฯ ต้องการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนานวัตกรรมของนิสิตนักศึกษา เพื่อก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการออกแบบและประดิษฐ์หุ่นยนต์ ที่สามารถใช้งานได้จริง ประการที่สอง บริษัทฯ ต้องการสนับสนุนการทำงานเป็นทีม ทำให้สมาชิกภายในทีมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน วางแผน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกบวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าว ที่ต้องการต่อยอดความรู้ของนักศึกษา ด้วยการรวมองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อใช้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีการทำงานคล้ายมนุษย์และสมบูรณ์ที่สุด

รองประธานและผจก.ประจำประเทศไทย บ.ซีเกทฯ ชี้แจงต่อว่า จากความร่วมมือระหว่างซีเกทและสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านหุ่นยนต์ของนักศึกษาไทยนานกว่า 7 ปี ในปี 2552 นี้ บริษัทฯ สมาคมหุ่นยนต์ไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และเนคเทค จึงมีความเห็นให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ที่มีระดับความยากสูงขึ้น เพื่อขยายศักยภาพของเยาวชนไทย ด้วยความหวังว่า กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และช่วยเตรียมความพร้อมใกล้เคียงกับการทำงานจริง ด้วยอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับโลก



ด้วยความฝันที่เต็มไปด้วยความหวังและความพยายามจากผู้เกี่ยวข้อง ที่ร่วมผลักดันและฝ่าฟัน เพื่อสร้างชื่อเสียงและสนับสนุนวงการเทคโนโลยีของไทย ให้สามารถพัฒนาศักยภาพให้ไกลกว่าที่เคย ภายใต้ความเชื่อมั่นจากความสำเร็จหลายครั้ง ที่เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลในระดับนานาชาติหรือระดับโลกมาครอง ยิ่งกลายเป็นแรงผลักที่คอยหนุนให้แวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยขับเคลื่อนต่อไป จากพื้นฐานที่ผู้เชี่ยวชาญกระตุ้นให้เยาวชนได้ซึมซับ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป...

 

ปิยุบล ตั้งธนธานิช
[email protected]



บทความจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 10 มิถุนายน 2552

คำสำคัญ (Tags): #humanoid#หุ่นยนต์
หมายเลขบันทึก: 267372เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This is a good reference for a Humannoid website.... Testing the link only

Humanoid

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท