ตอซังข้าว ทำก้อนเห็ดนางฟ้า-นางรม (ประหยัด ง่าย ให้ผลดี)


ตอซังข้าวทำก้อนเชื้อเห็ดได้ผลผลิตดี

      ได้เคยส่งเสริมให้เกษตรกรบนที่สูงเพาะปลูกเห็ดนางฟ้า-นางรมไวบริโภค   แต่ไม่อยากให้เกษตรกรตัดต้นไม้มาเพาะเห็ด แต่ก็หาขี้เลื่อยซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับทำก้อนเห็ดไม่ได้ จึงได้ใช้ฟางข้าวซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่มาทำการเพาะเห็ด ผลปรากฎว่าได้ผลดีทีเดียว ให้ผลผลิตคุณภาพดี แต่เก็บดอกเห็ดได้เพียง 2-3 รุ่น เพราะก้อนเห็ดยุบตัวไว และอาหารในฟางข้าวมีน้อย ต่อมาได้เปลี่ยนมาทดลองใช้ตอซังข้าวซึ่งเป็นวัสดุไร้ค่า เกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์ เหมือนฟางข้าว และมักเผาทิ้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ประกอบกับเคยมีประสบการณ์ในการใช้เพาะเห็ดฟาง เมื่อทดลองเพาะพบว่าได้ผลดีกว่าฟางข้าวมาก เพราะ

       - เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนไวกว่าในขี้เลื่อย เพียง 20-25 วัน

       - เห็ดออกดอกได้นานกว่า

       - ดอกโตกว่า   สีสดกว่า   รสชาดดี

       - ให้ผลผลิตต่อก้อนสูงกว่าในฟางข้าว

สำหรับวิธีการเพาะสามารถทำได้ เช่นเดียวกับ ฟางข้าว ดังนี้

       1.เกี่ยวตอซังข้าวในขณะสด และยังไม่แตกหน่อข้าว 

       2.หั่น เป็น ท่อนขนาด ประมาณครึ่งนิ้ว

       3.ใส่ประสอบ แช่น้ำ 1 คืน นำมาวางหมักให้นิ่ม 1-2 สัปดาห์

       4.เมื่อซังนิ่มแล้ว นำมาบรรจุถุง ขนาด 6-7 ขีด  นึ่งฆ่าเชื้อ  ใส่เชื้อ

       5.บ่มเชื้อ 20-25 วัน  เมื่อเชื้อเดินเต็มก้อนนำไปเปิดดอกเห็ด

      นอกจากได้เห็ดอร่อยๆ ไว้บริโภคแล้ว ยังเป็นการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยไม่ต้องเผาทำลาย ลดมลพิษอีกด้วยครับ

   ฟางข้าว

     

        

       

หมายเลขบันทึก: 266915เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

นึกว่าฟางข้าวดีที่สุดแล้ว เห็นจะเพาะเห็ดอะไรก็ใช้ฟางข้าวเพาะได้ทั้งนั้น ทั้งเห็ดไทย เห้ดเทศ

ถ้าจะเก็บตากแห้งไว้จะดีไหมครับ ท่านเจษฎา

หวัดดี ครับคุณต้นไม้

ฟางข้าวก็ยังใช้ได้ดีเหมือนที่คุณว่าครับ แต่ในตอซังมีอาหารเห็ดมากกว่า สังเกตว่าเวลาเพาะเห็ดฟางตอซังจะให้ดอกเห็ดที่ใหญ่กว่า และสีสวยกว่ามากครับ

ตอซังตากแห้งไว้ก๋ได้ครับ แต่จะเหนียวสับยาก และอาหารเห็ดลดลงครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจค่ะ....ได้ความรู้และไม่ไกลตัวอย่างที่เคยคิด...แต่เอ...บรรจุตอซังที่หั่น...แล้วหมักแล้ว...ต้องนิ่มประมาณไหนคะ..ถึงจะใช้บรรจุในถุงได้...นึกภาพตามแล้วหมักไว้ 1 - 2 สัปดาห์ น่าจะยังสดอยู่พอสมควรเลยค่ะ....

ขอบคุณครับ..คุณเกต

1-2 สัปดาห์ก็ใช้ได้แล้วครับ สำหรับการหมักตอซัง เอาแค่นิ่มพอที่จะอัดลงถุง และไม่มีเสี้ยนตำถุง เป็นอันใช้ได้ครับ ส่วนจะยังมีสีสดอยู่ก็ไม่มีปัญหาครับ แต่จะนิ่มลงอีกมากหากนำไปนึ่งฆ่าเชื้อครับ บางทีหากอัดก้อนหลวมเกินไป เวลานำไปนึ่งก้อนจะยุบตัวลงมากกว่าครึ่ง อันนี้ไม่ดีครับ

ขอบคุณครับ ผมกำลังเริ่มทำเห็ดนางฟ้าแค่เริ่มก็มีปัญหาเรื่องขี้เลื่อยแล้วครับอยู่โคราชหายากพอสมควรครับ นอกจากซังข้าวแล้วเราสามารถใช้ซังข้าวโพดบดทำก้อนแทนขี้เลื่อยได้หรือเปล่าครับเพราะพอหาได้ครับ

สวัสดีครับ ท่านต่อศักดิ์

ซังข้าวโพดใช้ได้ครับ แต่ต้องนึ่งให้สุกเพราะมีเชื้อราสีส้มเยอะ ทางที่ดีควรผสมขี้เลื่อยด้วยจะเก็บดอกเห็ดได้นานกว่า

ขอบคุณครับ "นึ่งให้สุก" นี่หมายถึงนึ่งตอนเป็นซังหรือตอนบดแล้วครับกำลังหาข้อมูลครับเพิ่งเริ่มเตรียมอุปรณ์เกือบครบแล้วครับ

-หม้อนึ่งก้อนได้ถังสแตนเลสต้มเหล้ามา 3 ใบซ่อมนิดหน่อย+หัวแก็ส kb10 3 หัว

-ขี้เลื่อยไม้รวม 3 ตัน

-ดีเกลือ

-ข้าวโพดป่น

-รำระเอียด

-ปูนขาว

กำลังจะลองทำก้อนเองครับซื้อก้อนเขามาเปิดดดอกก้อนหลายบาทอยู่ ต่อไปถ้าทำก้อนได้ก็จะลองเลี้ยงเชื้อเองครับพอดีมีลุงท่านนึงจะสอนให้ครับแต่ยังไม่มีหม้อนึงแรงดันว่าจะหามือ 2 ของใหม่ไม่ไหวครับ พอมีที่ซื้อหม้อนึ่งแรงดันมือ 2 หรือเปล่าครับ ขอบคุณมากครับผม

สวัสดีครับ ท่านต่อศักดิ์

*นึ่งให้สุก หมายถึงตอนทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อย+ซังข้าวโพดเสร็จแล้ว ควรเริ่มจับอุหภูมิให้ได้ความร้อน 90 องศาเซลเซียส เริ่มจับเวลาให้ได้ 3 ชัวโมงครับ

*เป้นห่วงเพราะท่านเพิ่งเคยทำใหม่ ทำครั้งแรกถ้าท่านมีขี้เลื่อยอยู่แล้ว ชุดแรกน่าจะลองทำจากขี้เลื่อยอย่างเดียวก่อน ถ้าดีแล้วจะลองลดต้นทุนโดยใช้ซังข้าวโพด หรือ ฟางข้าวผสมก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ครับ

*ซังข้าวโพด หรือ ฟางข้าวอมน้ำมากกว่าขี้เลื่อย การผสมต้องควบคุมความชื้นให้ดี เน้นแห้งไว้ก่อน แต่ถ้าแฉะ ก้อนเชื้อจะเน่าเสียหาย หลังเก็บดอกชุดแรกไปแล้ว

*หากอยากให้เห็ดออกพร้อมกันในชุดแรก ใส่นำตาลทราย 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ขี้เลื่อย 100 กก. ใส่ นำตาล 1-2 กก) แต่หากอยากให้เห็ดทะยอยออก และ ดอกเห็ดสวย ออกดอกได้นานขึ้น ใช้กากนำตาลแทนนำตาลทรายครับ 100 กก. ใส่ 1 แก้วก็พอ

ขอบคุณครับ ติดปัญหาอะไรจะมาถามนะครับ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท