อันเนื่องแต่ ว ๘ : การแจ้งเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฏร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑


บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หมายถึง บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘)

 

สืบเนื่องจากบันทึกก่อนหน้านี้ เรื่อง
สังเขป มาตรการคุ้มครองสิทธิและพิทักษ์สิทธิบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร


๑. เกริ่นนำ

ประสาคนที่เกี่ยวข้องอย่างห่างๆ กับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนเช่นผม ก็ย่อมจะคุ้นเคยกับระเบียบและประกาศหลักๆ ๓ ประการ ได้แก่
๑) ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

๒) ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ และ

๓) ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (พ.ศ. ๒๕๔๘)

และนานๆ ที จะได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือเวียนหรือข้อหารือระหว่างสำนักทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เว็บไซต์กรมการปกครอง  จนต่อเมื่อได้มี พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเห็นว่าผมต้องกลับไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วละ


๒. สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
ในเอกสารใกล้มือระบุว่าสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง (กับผมและคนใกล้ชิดผม) มีดังนี้

๒.๑ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยจัดส่งข้อมูลที่มีอยู่ในความรับผิดชอบให้สำนักทะเบียนกลางเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลทะเบียน (เพิ่ม ม.๑๒ วรรคสอง)

๒.๒ แก้ไขเรื่องการแจ้งการเกิดกรณีเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งโดยให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจหรือ พม.ที่รับตัวเด็กไว้ต้องทำบันทึกการรับตัวเด็กระบุรายละเอียดที่เกี่ยวกับตัวเด็กเท่าที่จะทราบได้ และให้เจ้าหน้าที่ พม.ในเขตท้องที่เป็นผู้แจ้งการเกิดให้แก่เด็กโดยต้องมีหลักฐานบันทึกการรับตัวเด็กด้วย (แก้ไข ม.๑๙ )

๒.๓ เพิ่มเติมการแจ้งการเกิดกรณีเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานสงเคราะห์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แจ้งการเกิดให้แก่เด็ก (เพิ่ม ม.๑๙/๑)

๒.๔ กรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและ สัญชาติของเด็กได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน (เพิ่ม ม.๑๙/๒)

๒.๕ การจัดทำทะเบียนบ้านและการลงรายการบุคคลพิจารณาจากการมีสิทธิอาศัย อยู่ในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น (๑) ทะเบียนบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย (แก้ไข ม.๓๖ วรรคหนึ่ง) (๒) ทะเบียนบ้านสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวและคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ รมว.มท.กำหนด (แก้ไข ม.๓๘) และ (๓) สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นที่ไม่ได้จัดทำทะเบียนบ้านให้จัดทำทะเบียนประวัติให้ไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด (เพิ่ม ม.๓๘ วรรคสอง)

๒.๖ กำหนดบทลงโทษ ให้ครอบคลุมกรณีหัวหน้าหน่วยงานสงเคราะห์ไม่แจ้งเกิดให้เด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในการอุปการะตามมาตรา ๑๙/๑ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (แก้ไข ม.๔๗ (๒))

พร้อมกันนี้ ก็ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ได้มีการแก้ไขหลักการของกฎหมายเดิมหลายประการ ผู้สนใจรายละเอียดอาจสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์กรมการปกครอง


เอกสารเล่มนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมการปกครองครับ

 


๓. นิยามความหมาย
บางทีผมว่า เราอาจจำเป็นต้องย้อนกลับ เพื่อให้เข้าใจได้ตรงกัน--เข้าใจความหมายได้ตรงกัน


คนต่างด้าว หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย (พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔)

คนต่างด้าว หมาวถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓)

คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ตามกฎกระทรวง กำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๒) หมายถึง
๑) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้วแต่กรณี และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

๒) คนต่างด้าวซึ่งได้รับผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

๓) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

๔) คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๔) หมายถึง
๑) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้วแต่กรณี และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

๒) คนต่างด้าวซึ่งได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรของคนดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หมายถึง บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘)


๔. การจัดทำทะเบียนบ้านและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
ผมว่าสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคุณูปการต่อ "บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ตามที่ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้แก่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดทำทะเบียนบ้านและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งออกตาม ม. ๓๘ แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว (ผมนำเสนอไว้ในหัวข้อ ๒.๕) โดยมีสาระสำคัญ คือ

ข้อ ๑ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านและบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ได้แก่

(๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเนื่องจากการสละสัญชาติไทย การถูกถอนสัญชาติไทยหรือการเสียสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และยังไม่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว

(๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

(๓) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งมีเงื่อนไขว่าไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ หรือมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(๔) บุตรของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทย

ข้อ ๒ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำทะเบียนประวัติ ตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ได้แก่
(๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการผ่อนผันไว้อย่างชัดเจนเป็นเวลาน้อยกว่าห้าปี หรือไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทย

(๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร นอกจากกลุ่มบุคคลตามข้อ ๑ และ (๑) ของข้อนี้

........

เอาเข้าจริงๆ แล้ว "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ก็น่าจะถูกจัดอยู่ในหมวดอื่นๆ ข้อ ๒ (๒) นี่ละครับ

ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า แนวปฏิบัติสำหรับการเริ่มต้นนั้น จะเป็นอย่างไร ผมหมายถึงว่าเป็นการดำเนินการจัดทำทะเบียนโดยปกติโดยไม่ต้องรอนโยบายเฉพาะกิจหรือสั่งการเป็นครั้งคราว ซึ่งการเริ่มต้นครั้งนี้น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการจัดทำฐานข้อมูล/การจัดการกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง


ไหมละ ผมเขียนมาเสียยาว
ไม่ได้พูดถึง ว ๘ เสียเลย

ผมเขียนมายาวๆ เพียงจะบอกว่า
บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มิใช่กลุ่มเดียวกันกับบุคคลไร้สัญชาติหรือต่างด้าว


เอาเป็นว่า เพื่อเป็นการไถ่โทษ
ท่านที่ประสงค์จะอ่านหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท ๐๓๐๙.๑/ว ๘ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
เรื่อง การแจ้งเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฏร
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

 

โปรด คลิก เพื่อดาวน์โหลด
โดยพลัน !!!

 

หมายเลขบันทึก: 266543เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2009 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แนะนำบันทึกของคนที่เพิ่งเสร็จวิทยานิพนธ์ด้านนี้ค่ะ

อ.ไหม กิติวรญา รัตนมณี

http://gotoknow.org/blog/aliensinthaicivilregistrationbykitiwaraya

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท