การเดินทางโดยไม่(ต้อง)อยากถึงเป้าหมาย


เมื่อลองดูเข้าไปที่ “ความอยาก” ผมก็รู้สึกได้ว่ามันมาคู่กับ “ความกลัวจะไม่ได้อย่างที่อยาก” เจ้าความกลัวนี่เองที่มาก่อกวนทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดแรงบีบเค้นในใจอยู่ตลอดเวลา

                ระหว่างขับรถฝ่าการจราจรยามเช้าวันเสาร์ ที่แม้ไม่คับคั่งนักแต่พฤติกรรมของเพื่อนร่วมทางก็ชวนให้รำคาญใจได้ไม่น้อย ผมพยามยามตามดูความหงุดหงิดของตัวเองเมื่อถูกบีบแตรใส่เสียงดังลั่นตอนที่ผมพยายามเบี่ยงซ้ายตัดไปสองสามเลนเพื่อเข้าซอย ทั้งหงุดหงิดเพื่อนร่วมทางที่ไม่รู้จักมีน้ำใจและโมโหตัวเองที่เข้าช่องทางผิดในเวลาที่รีบเร่งแบบนี้...หลังส่งผู้โดยสารถึงที่หมายได้ทันเวลาพอดิบพอดี ผมก็ขับรถกลับบ้านอย่างสบาย ๆ ในระหว่างทางนั้น ความหงุดหงิดที่ผ่านไปเมื่อหลายนาทีก่อนได้ทำให้ความคิดหนึ่งผุดขึ้น

                เดิมผมเข้าใจว่าในการเดินทางหรือการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ เราจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดและต้องมีความปรารถนา (Passion) หรือ “อยาก” อย่างมากพอที่จะผลักดันตัวเองหรือทีมให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น สิ่งนี้จะช่วยสร้างความมุ่งมั่น (Commitment) ต่อการทำงานหรือการเดินทางนั้น... แต่วันนี้ความ “อยาก” ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายกลับทำให้ผมเกือบไปไม่ทันเวลา แถมต้องหงุดหงิดตัวเองและสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมทางคนอื่นด้วย (ตอนนี้คิดได้แล้วว่าตัวเองเป็นคนผิด อย่าไปโกรธคนที่เขาบีบแตรใส่เลย) ผมตระหนักขึ้นว่าเจ้าความอยากไปให้ถึงเป้าหมายนี่เองที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับการเดินทาง

                แท้จริงแล้วความมุ่งมั่นควรมาจากการตระหนักในหน้าที่ของตัวเองในการ “ทำเหตุ” โดยไม่ต้อง “อยากได้ผล” โดยมีพื้นฐานสำคัญที่ว่าเป้าหมายนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญเพียงพอที่เราจะทุ่มเทกำลังให้ เมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าเรามี “หน้าที่” อย่างไรต่อเป้าหมายนั้นและวางแผนการทำภารกิจนั้นอย่างรอบคอบ เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้วสิ่งที่เราต้องทำก็มีเพียงการทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่านั้น ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นเองเมื่อเรา “ทำเหตุ” อย่างเพียงพอ อย่างเช่นในการเดินทาง เราก็เพียงขับรถไปเรื่อย ๆ ด้วยเส้นทางและความเร็วที่เหมาะสม ก็จะไปถึงเป้าหมายได้อย่างทันเวลา

                เมื่อลองดูเข้าไปที่ “ความอยาก” ผมก็รู้สึกได้ว่ามันมาคู่กับ “ความกลัวจะไม่ได้อย่างที่อยาก” เจ้าความกลัวนี่เองที่มาก่อกวนทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดแรงบีบเค้นในใจอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลาคับขัน เช่น มีอุปสรรคหรือวิกฤตที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เจ้าความวิตกกังวลนี้ก็จะเป็นตัวขัดขวางทั้งสติและปัญญา หลายครั้งถึงกับแสดงตัวออกมาเป็นอาการทางกาย มือไม้สั่นจนทำอะไรไม่ได้ หรือถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ

                ลองดูลงไปให้ลึกอีกหน่อยก็รู้สึกได้ว่า เจ้าความอยากนี้มี “ตัวฉัน” อัดแน่นอยู่ การทำภารกิจด้วยความอยากจึงมีตัวฉันนี้เองเป็นเดิมพัน เพราะถ้าไม่สำเร็จ “ตัวฉัน” ก็ต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปด้วย ดังนั้นการจะละความอยากนี้ได้ก็ต้องถอด “ตัวฉัน” ออกไปให้ได้ก่อน จะทำได้ก็ต้องอาศัยความ “ใจถึง” ไม่น้อยทีเดียว...ใจถึงที่จะถูกตำหนิหรือถูกดูหมิ่น ใจถึงที่จะเสียผลประโยชน์ ใจถึงที่จะรับผลต่าง ๆ นานาเมื่อภารกิจนั้นไม่สำเร็จ

                เมื่อเราใจถึงพอ ก็จะไม่ผูก “ตัวฉัน” เข้ากับความสำเร็จหรือความล้มเหลว ก็จะไม่ต้องวิตกกังวล มีแต่ทำภารกิจไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด...

นับแต่นี้ ผมคงจะต้องฝึกตัวเองให้ใจถึงพอที่จะเดินทางหรือทำงานโดยไม่ต้องอยากไปให้ถึงเป้าหมายอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 266426เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2009 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • แวะมาเติมเต็มกำลังใจ ตามที่ปราถนาค่ะ
  • มีความสุขมากๆ ค่ะ กับวันของครอบครัว วันอาทิตย์และทุกๆ วันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท