เหนือวิทยาศาสตร์ ๘


ต่อจาก เหนือวิทยาศาสตร์ ๗  


          ตรงนี้นึกดูให้ดี  บางคนอาจจะคิดว่า "ความเห็น" นี้มันมาจากการที่เราเล่าเรียนในโรงเรียนเรื่อยๆ มา  เรามีความเห็นอย่างนี้  นั่นแหละแปลว่าเขารู้นิดเดียว  เขาไม่รู้ลึกลงไปถึงว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั้น  มันทำให้เกิดเวทนา  ที่เราได้เล่าเรียนในโรงเรียนตลอดเวลาทั้งหมดนั้นมันทำให้เกิดเวทนา  คือความรู้สึกที่ถูกใจ  หรือไม่ถูกใจ  หรือยังรู้สึกอะไรไมรู้  อันนี้ต่างหากที่ทำให้ สร้างความเห็นยึดมั่นถือมั่น  อย่างเหนียวแน่นขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้แต่ความคิดเห็น สิทธิเรื่องการเมือง  เรื่องอะไรอย่างโลกๆ  ก็เหมือนกัน  มันก่อรากฐานมาจาก สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ที่มันเข้าไปทำให้จิตใจของเรา ชอบ หรือ ไม่ชอบ ตามหลักพุทธศาสนา  หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า มีหลักอย่างนี้

          ทีนี้วิชาสมัยใหม่ของฝรั่ง  หรือของพวกอื่น อาจจะเป็นอย่างอื่น นี้อะไรจะจริง อะไรจะใช้ประโยชน์ได้  ชนิดไหนจะใช้ประโยชน์  ก็ไปคิดดูก็แล้วกัน  พูดสนุกๆ ว่า เหมือนอย่างว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคไหน  เราก็มีทิฎฐิที่เกิดขึ้นว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคไหน จะไปลงคะแนนเสียงให้พวกนั้น  ที่เกิดความชอบที่เป็นทิฏฐิอันนี้ขึ้นมา นี้ก็มาจากเวทนาที่เกิดจากการกระทำของพรรคการเมืองพรรคนั้นก็ได้  หรือแม้ที่สุดแต่ว่า ที่เราไปคิดเข้า แล้วมันเกิดความรู้สึกในใจ เป็นเวทนาก็ได้  อันไหนไปในทางให้เราชอบ เราก็ชอบความรู้สึกอันนั้น  แล้วจึงเกิดความเห็นว่า เราชอบพรรคการเมืองพรรคนี้  แต่คนทั่วไป เขาคงไม่อธิบายอย่างนี้  เขาอธิบายแต่ผิวๆ ว่า ความเห็นของเขานั่นแหละ  ความเห็นของเขา เป็นของคนฉลาด จะตัดสินเอาเองตามความฉลาดของเขา  ว่าพรรคการเมืองนั้นต้องดี  พรรคการเมืองนี้ต้องไม่ดี  แต่ถ้าพูดตามแบบของพระพุทธเจ้าว่า ทิฏฐิอันนี้  เกิดขึ้นมาจากเวทนา  คือมันลึกกว่า  เป็นกำปั้นทุบดิน  เมื่อเราไปนึกถึงการเมืองพรรคไหน  เราสบายใจ  เราแน่ใจ  มันทำให้เราฝังหัวในพรรคการเมืองพรรคนั้น  หรือมีทิฏฐิขึ้นมาว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นดีแน่

          นี้ลองคิดดูทีว่า  คำพูดของใครจะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน  คำพูดของพระพุทธเจ้า หรือว่าคำพูดของคนพวกนั้น  จะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน  ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  "ทิฏฐิมันมาจากเวทนา  ที่มันประทับใจลงไป  ประทับใจจนเป็นทิฏฐิรูปนี้ขึ้นมา" นี่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ  ในโลกก็ยังเป็นอย่างนี้

          เรื่องทางศาสนา  ทางมิจฉาทิฏฐิมีมากมาย จนถึงกับว่ามี ๖๒ ชนิดโดยละเอียด  โดยย่อก็มี ๒ -๓ ชนิด  เช่นว่า นัตถิกทิฏฐิ  อุจเฉททิฏฐิ  สัสสตทิฏฐิ  ทุกอย่างทุกชนิดของทิฏฐิ  มาจากสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  หรือผัสสะที่ให้เกิดเวทนา

 

หมายเลขบันทึก: 266291เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2009 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท