การอบรมไลเคนที่ผ่านมา


ไลเคน

จากปัญหามลพิษทางอากาศในจังหวัดลำปาง  ซึ่งมีสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่อง  สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ได้พัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ    ไลเคน 1เป็นเครื่องมือ  สำหรับใช้เป็นต้นแบบในชุมชนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ  ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่บ้านวังหม้อ หมู่ 2 ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง  ระหว่างเดือนพฤษภาคม ตุลาคม 2550  ด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ในปี 2551 เยาวชนที่ได้รับการอบรม ได้นำกรอบแนวคิดและกระบวนการ ไปใช้อบรมให้กับเครือข่ายชุมชนบ้านเจดีย์ซาว  

                ผลการวิจัย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักต่อปัญหามลพิษทางอากาศในชุมชนและต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการ  รวมทั้งสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือได้เอง  โดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จะเป็นกลุ่มหลักที่มีความพร้อมต่อการใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือตรวจวัด   ซึ่งการพัฒนาการมีส่วนร่วมที่ได้มีลักษณะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันโดยผ่านการปฏิบัติการ  ในกรอบการมีส่วนร่วมของประชาชนและการตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยใช้ไลเคน ตามขั้นตอน ดังนี้

1)       ขั้นเตรียมความพร้อม เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและสถานการณ์มลพิษทางอากาศในชุมชน  ตรวจสอบการรับรู้ปัญหาและความต้องการเข้าร่วมจัดการ ตลอดจนหาแนวร่วมที่มีความพร้อมในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ ทั้งในด้านเวลา ความรู้พื้นฐานและความสมัครใจ

2)       ขั้นตอนการสร้างกระบวนการเรียนรู้  ประกอบด้วยการสำรวจและทำแผนที่มลพิษในชุมชน  การอบรมให้ความรู้ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และการทดลองใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือ  เพื่อให้สร้างองค์ความรู้เรื่องอากาศและการใช้ไลเคนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ

3)       ขั้นตอนการสร้างรูปแบบการตรวจสอบอากาศ เพื่อหาแนวทางการนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้ตรงตามศักยภาพของกลุ่มแนวร่วมและสภาพพื้นที่  โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน  และ  5 กลุ่มสำรวจ   ทำการสำรวจต้นมะม่วง ซึ่งใช้เป็นจุดสำรวจไลเคนที่แสดงจุดลงในแผนที่   และต้นมะม่วงแต่ละต้นให้มีสมุดบันทึกไลเคนประจำต้น เพื่อใช้เปรียบเทียบผลคุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา  ทั้งนี้ คุณภาพอากาศในชุมชนจะได้จากการรวมและวิเคราะห์ผลอากาศของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน        

4)       ขั้นตอนการสรุปองค์ความรู้  เพื่อทบทวนการดำเนินงานและวางแผนการพัฒนาไปสู่การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและถ่ายทอดกระบวนการที่ได้สู่ชุมชนอื่น ในลักษณะเครือข่ายการจัดการมลพิษทางอากาศได้ต่อไป 

               

              ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยประชาชนนี้จะมีประโยชน์มากขึ้นหากได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะสามารถขยายผลในลักษณะเครือข่ายการเฝ้าระวังได้ต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ได้นี้เหมาะสมที่สุดสำหรับชุมชนบ้านวังหม้อเท่านั้น  การนำไปใช้กับชุมชนอื่นจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขชุมชนและปรับให้สอดคล้องบริบทของพื้นที่ก่อนเสมอ

ดำเนินการโดย :- สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง

กฤติกา   ป้อมเผือก* , สิริวัฒนา   ใจมา*, รัชดาภรณ์   บุญสาระวัง*  และ  ชาลีนี   วัฒนวรรณะ*

* นักวิชาการสิ่งแวดล้อม

คำสำคัญ (Tags): #ไลเคน
หมายเลขบันทึก: 265985เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2009 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท