ปรากฏการณ์ปัญหา "โลกเสมือนจริง"


การรับสื่อของเด็กและเยาวชนมากจนเกินไป โดยไม่มีคนคอยแนะนำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ทำให้เกิดปัญหาสังคมที่แปลกแตกต่างไปจากยุคเดิม

          ปรากฏการณ์ จากกระแส “ฟ้ามิอาจกั้น” การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว การเคลื่อนที่ของสื่อที่ยากต่อการควบคุม เริ่มก่อเกิดปัญหาสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย  ที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามากนัก เข้าใจว่า “ปัญหาของเยาวชน” ในปัจจุบัน ส่วนมากก็มาจากการเสพสื่อ ที่หลากหลายและไม่ได้มีการกลั่นกรอง นั่นเอง
         ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ จะทวีความรุนแรง ต่อเนื่องไปในอนาคต หากผู้ใหญ่ที่ดูแลปัญหาอยู่ ยังไม่ก้าวรุก เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา อย่างจริงจัง
           ได้อ่านเรื่องราว ที่น่าสนใจ และหยิบยกมาพูด คุย ในBlog เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และ ชวนกันเฝ้าดูปรากฏการณ์ ยกเหตุการณ์ต่างๆมาเป็น กรณีศึกษา และวิจัย ครับ


          ปลัด วธ.เผยเด็กติดเกม-แชทรูม แยกแยะชีวิตจริง-โลกเสมือนจริงไม่ออก เกิดปัญหาข่มขืนเกลื่อน เด็กในสถานพินิจฯ สารภาพทำความผิดเพราะถูกเพื่อนชักจูงและเลียนแบนมาจากหนัง ข่าวรุนแรง อินเทอร์เน็ตและหนังสือการ์ตูน

           คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ไทยมีหนังสือพิมพ์ 58 ฉบับ มีผู้อ่าน 21.6 ล้านคน ชอบอ่านข่าว ร้อยละ 87.2 ซึ่งหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายดีที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ไทยรัฐ "คม ชัด ลึก" เดลินิวส์ มติชน ผู้จัดการ ข่าวสด บ้านเมือง สยามรัฐ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และมีนิตยสารอีกประมาณ 800 ฉบับ ส่วนสื่อโทรทัศน์พบว่า ครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท มีอยู่ 2.6 ล้านครอบครัว ร้อยละ 30-50 เป็นสมาชิกยูบีซี และร้อยละ 6-10 เป็นสมาชิกเคเบิลโทรทัศน์ท้องถิ่น ที่สำคัญมีร้านค้าซีดี วีซีดีในกรุงเทพฯ มากถึง1.6 หมื่นแห่ง รองลงมาเชียงใหม่ 200 แห่ง

             "การรับสื่อของเด็กและเยาวชนมากจนเกินไป โดยไม่มีคนคอยแนะนำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ทำให้เกิดปัญหาสังคมที่แปลกแตกต่างไปจากยุคเดิม จากการวิจัยเรื่องเปิดใจเยาวชนในสถานพินิจฯ ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้กระทำผิด พบว่าเกิดจากเพื่อนชักจูง ร้อยละ 76.1 เลียนแบบภาพยนตร์ ร้อยละ 56.1 ข่าวความรุนแรงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ร้อยละ 40.6 รายการโทรทัศน์ ร้อยละ 32.7 อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 31.9 และหนังสือการ์ตูน ร้อยละ 17 เด็กมีปัญหามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เด็กติดเกม ติดแชทรูมจนเกิดเป็นสังคมไซเบอร์ขึ้นมา เด็กกลุ่มนี้จะแยกแยะการใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริงไม่ออก คิดว่าข้อมูล พฤติกรรมสื่อลามกในอินเทอร์เน็ตสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ จนเกิดปัญหาข่มขืนท้องแท้งทิ้งในที่สุด" ปลัด วธ.กล่าว

             ดังนั้น ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของ วธ.จึงต้องดำเนินการเชิงรุก ซึ่งนอกจากการศึกษาข้อมูล ทำวิจัย จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม 75 จังหวัดและในสถานศึกษาแล้ว ยังจัดทำระบบเรตติ้งให้เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ โดยประสานขอความร่วมมือกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทุกช่องให้ความร่วมมือผลิตเนื้อหาตามทฤษฎีแล้ว

ที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก(mthai.com)

 

หมายเลขบันทึก: 26598เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2006 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่งก็หนักใจมากกับพฤติกรรมของเด็กสมัยนี้ที่เน้นวัตถุมากกว่าจิตใจ กระแสของวัตถุนิยมในยุคนี้แรงจริงๆ บางที่ก็ต้องหันกลับไปมองรุ่นพ่อ แม่ว่าเค้าสอนอะไร หรือใช้แนวคิดในการ ดำเนินชีวิตไปในรูปแบบไหน เพราะแน่นอน เด็กก็เหมือนผ้าขาว ถ้าเค้ามีประสบการณ์พื้นฐานอย่างไรก็จะไปตามแนวนั้น แต่หากเขามีภูมิคุ้มกันโดยได้รับแนวความคิดที่ดีๆฝึกให้คิดเยอะๆเขาก็น่าที่จะทวนกระแสได้อย่างมีความสุข อย่าว่าแต่เด็กเลย อย่างเราๆ บางที่ก็สับสนเหมือนกัน..

อาจารย์ AW ครับ

          เมื่อก่อนผมเคยทำงานร่วมกับพี่น้องชาวไทยภูเขา บนดอยสูง ห่างไกลทุรกันดาร อย่างมาก ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด จุดเทียนในตอนกลางคืน สื่อที่เรารับตอนนั้นมีเพียงวิทยุทรานซิสเตอร์เท่านั้น  ต่อมาไม่กี่ปี บนดอยเจริญขึ้นครับ มีการใช้ไฟปั่น มีทีวี อยู่ ๑ เครื่อง ก็มาดูกันทั้งหมู่บ้าน ต่อมาอีกไม่กี่เดือน ผมก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เด็กๆเยาวชน หัวแดงกันทั้งดอยเลยครับ เข้าใจว่า ช่วงนั้นที่บางกอกนิยมทำสีผม สีแดง สีเหลือง น้องๆบนดอยก็ทำตาม บ้าง ก็เกิดปรากฏการณ์ เอาอย่างบ้าง

         จริงอยู่ที่เราไม่สามารถควบคุม สื่อ เรื่องราวจากข้างนอกได้เลย แต่นักพัฒนาไม่ว่าจะอยู่ในสถานะ หน้าที่ใด ต้องเน้นเรื่องของ การรู้เท่าทันข้างนอก ขณะเดียวกัน มีงานพัฒนาที่สวยงามที่เน้นให้ชาวบ้านมองตัวเอง และพัฒนาสิ่งดีงามที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ให้เกิดการสืบสาน สืบทอด ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ท้องถิ่น ไม่ให้เลือนหายไป ก่อนที่ ทุนนิยม จะฉาบวิถีชีวิตแน่น  จนกระเทาะไม่ออก ลืมรากของตนเอง

            ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะรู้เท่าทันสื่อ ได้อย่างไร เราจะใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างไร ตอนนี้เริ่มมีการรุกคืบ เข้ามาใช้สื่อขององค์กรภาคประชาชนบ้างแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชน บ้าง  และที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ อินเทอร์เนตทีวีทางเลือก ซึ่งก็กำลังพัฒนาอยู่ครับ

ขอบคุณความคิดดีๆของคุณจตุพรมากเลย หายากนะคะคนที่จะทำงานเพื่อชุมชนเพื่อเยาวชนของชาติจริงๆ อย่างนี้ทำให้ได้รู้ว่าต่อไปคงจะต้องฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณจากสื่อเลยดีมั๊ยคะ  เปิดเทอมนี้จะทำดูจริงๆจังๆซะที  ผลเป็นยังไงจะเขียนมาเล่าให้ฟังนะคะ ขอถามอะไรนิดนะคะ ถึงแรงบันดาลใจของคุณจตุพรที่ทำงานนี้น่ะค่ะ อ่านดูแล้วน่าสนใจและน่าชื่นชมจัง

อาจารย์ AW (อีกครั้ง)

           ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่เข้ามา ลปรร.และ ถามถึงแรงบันดาลใจ ที่เข้ามาทำงานพัฒนา โดยเฉพาะชุมชนรากหญ้า คนชายขอบ

  1. ผมเป็นคนจนอยู่ในชนบท ชายขอบครับ หลังเขา บนดอย วันหนึ่งมีโอกาสดีได้พัฒนาศักยภาพผ่านระบบการศึกษากระแสหลัก
  2. เป็นคนใน(Insider) มีความสุข ความพึงพอใจกับวิถีชุมชนของตนองที่คุ้นเคย
  3. เป็นคนใน (Insider) ที่รู้สึก รู้สา กับความเจ็บปวดกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมที่ไม่ค่อยเท่าเทียมกัน
  4. ทำงานใน "วิชาชีพทางด้านสุขภาพ" ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนตลอดเวลา เรียนรู้ และอยู่กับชีวิต "ชีวิตสอนชีวิตครับ"
  5. มีคนให้โอกาสในการทำงาน และ พยายามหาโอกาสให้กับตัวเองครับ
  6. เชื่อใน "ศักยภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์" ครับ

        เมื่อเดือนก่อนพี่ชายซึ่งเป็นนายทหารคนหนึ่ง บอกให้ผมว่า "ความดีเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ" และผมก็จดจำไว้ครับ

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ "แรงบันดาลใจ" ครับ อาจารย์

 

ขอเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เชื่อว่า "ความดีเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ" ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท