องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการศึกษาไทย


การศึกษาไทย

          บาว นาคร*

สืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาฟรี 15 ปี นั้น เป็นนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรในชุมชนที่ได้รับผิดชอบจัดการด้านการศึกษาและได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีภารกิจหน้าที่ในด้านการจัดการศึกษาในท้องถิ่น แต่อีกด้านหนึ่งความพร้อมด้านการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่นั้น ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการ ทั้งทางด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ทำให้การถ่ายโอนภารกิจมีการหยุดชะงักลงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น เทศบาล นั้นได้มีการจัดการศึกษาอยู่ก่อนแล้วก็สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นโรงเรียนในความรับผิดชอบของเทศบาล ส่วนในการรับผิดชอบของ อบต. นั้น บางที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการศึกษาได้ และถ้าหากมีการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาแล้วก็จะทำให้อบต.ที่ไม่มีศักยภาพที่สามารถจะบริหารจัดการได้ และอาจจะส่งผลต่อระบบการศึกษาของไทยทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็ก ในบางส่วนนั้นก็ได้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว

เมื่อมาพิจารณาถึงนโยบายด้านการศึกษาฟรี 15 ปีของนโยบายรัฐบาลปัจจุบันนั้น ระบบการจัดสรรงบประมาณและการจัดการด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะมีวิธีการและกระบวนการอย่างไรจะทำให้มีการจัดระบบการศึกษาของไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งส่วนการปฏิรูปการศึกษานั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อเสนอไว้ ดังนี้

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน มติชน (2550) ได้เสนอทางเลือกทางออกของการศึกษาไทยจึงน่าจะต้องคิดทบทวน และออกแบบ (Design) สังคมใหม่เพื่อเด็กและเยาวชน ดังต่อไปนี้ 1) ในเชิงนโยบายของรัฐ ต้องเน้นการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายภาคสังคม การศึกษา ชุมชน ครอบครัว คุณภาพประชากร เด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น 2) หลักสูตรการศึกษา ระบบการเรียนรู้ต้องสร้างหลักสูตรใหม่ยกเลิกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี พ.ศ.2542 ระบบราชการต้องยุติบทบาทการกำหนดหลักสูตรการศึกษาของชาติ มีองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านหลักสูตรการศึกษาขึ้นโดยตรง เพื่อกำหนดองค์ความรู้แต่ละระดับจากกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอนให้ลดเนื้อหาน้อยลง เน้นการเรียนรู้ประชาธิปไตย 3) การปรับเปลี่ยนระบบแอดมิสชั่นส์ใหม่ ระบบการสอบคัดเลือกต้องมีหลายมิติเปิดโอกาสเชื่อมโยง และใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และมีจำนวนไม่มากนัก  4) การสร้างเครือข่ายภาคประชาชน (Social Network) การขับเคลื่อนภาคประชาธิปไตยประชาสังคมแนวราบด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม งานวิจัยภาคสนามด้วยการตั้งโจทย์คำถามวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น 5) การรื้อปรับองค์กรสนับสนุน ช่วยเหลือภาคสังคม การศึกษา คุณภาพชีวิต เด็กและเยาวชนให้เกิดแนวคิดที่เกิดความสนใจร่วมกันได้ (Mutual Interests) 6) ผลักดัน สภาเด็กและเยาวชน ให้เกิดขึ้นด้วยการรวมตัวกันในวิถีทางประชาธิปไตย

ส่วนทางด้าน วิทยากร เชียงกุล ได้สรุปแนวทางการปฏิรูปการจัดการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพและความเป็นธรรม ไว้ดังนี้ คือ 1)  ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารเรื่องการศึกษาให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพและมีวิสัยทัศน์เพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น โดยลดขนาดและลดบทบาทของการบริหารแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง   2) ลงทุนปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยของเด็กวัย 3 – 5 ปีทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำอย่างเร่งด่วน3)แก้ปัญหาเด็กออกกลางคันในระดับประถมมัธยม และปัญหาโรงเรียนในเขตยากจนที่มีคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนในเขตร่ำรวยอย่างจริงจัง4)ปฏิรูปการจัดสรรและการใช้งบประมาณเรื่องการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น   5) ปฏิรูปด้านคุณภาพ  ประสิทธิภาพ และคุณธรรมของครูอาจารย์อย่างจริงจัง  6)  เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลสอบแข่งขันและการคัดเลือกคนเข้าเรียน มหาวิทยาลัยรัฐ  จากการสอบแบบปรนัยที่เน้นคำตอบสำเร็จรูปเป็นการวัดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองที่สะท้อนความรู้ความสามารถที่เป็นองค์รวมเชิงวิเคราะห์ได้ 7) พัฒนาการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยที่สามารถจูงใจ ให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันได้เรียนแค่ชั้นประถมศึกษาได้สนใจและได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง  8) วางแผนและลงทุนพัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจสังคม  เช่น  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  คอมพิวเตอร์  ช่างฝีมือ  ศิลปิน  นักประดิษฐ์  นักออกแบบฯลฯ  มากกว่าที่จะปล่อยให้มีการขยายตัวตามความพร้อมของครูผู้สอนในสถาบันการศึกษา 9 )ระดมทุนเพื่อพัฒนาหรือปฏิรูปการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังอย่างถือเป็นวาระสำคัญของชาติ  โดยการปฏิรูปการเก็บภาษี  เช่น  เก็บภาษีมรดก  เพิ่มภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า  ภาษีการบริโภคฟุ่มเฟือย  10)ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเชื่อมโยงกับการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบทำให้ประชาชนและชุมชนเข้มแข็งขึ้น

การศึกษาซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำอย่างไรจะให้ระบบการศึกษาไทยที่นับว่า ไม่มีความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และไม่มีความทั่วถึง และมีความแตกต่างในการจัดการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำอย่างไรจะให้การจัดการศึกษาหรือระบบการศึกษาไทย มีคุณภาพและมีความเป็นธรรมกับประชาชนทุกคนในประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษา จะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาบุคลากรและระบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อรองรับการจัดการศึกษาในอนาคต และเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาในท้องถิ่น รวมทั้งมีการจัดหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้น การศึกษาจะมีคุณภาพได้ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงทำเพื่อรักษาฐานอำนาจและการบริหารจัดการของตนเองไว้ ควรที่จะร่วมกันคิดร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืนต่อไป

 



* บุญยิ่ง ประทุม. [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 265691เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2009 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท