ครูตี๋
นาย สมรรถ ครูตี๋ เอี่ยมพานิชกุล

หลักสูตรและความสำคัญของหลักสูตร


หลักสูตร

     1.1 ความหมายของหลักสูตร

                คำว่า หลักสูตร (Curriculum) ใจทิพย์  เชื้อรัตนพงษ์ (2539 : 12 ) ว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Currere แปลว่า Running Course หมายถึง ช่องทางสำหรับวิ่ง ซึ่งนำมาใช้ในทางการศึกษา หมายถึง แนวทางสำหรับการเรียนรู้ (A Course of Study) ซึ่งมีศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกคำหนึ่ง คือ Syllabus ซึ่งแปลว่า ประมวลการสอน คำนี้ประเทศไทยนำมาใช้ทั้งในความหมายของหลักสูตรและประมวลการสอน ดังเช่นที่หลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2503 ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Syllabus for the Lower Elementary Education, B.E.2503” และต่อมาภายหลังใช้คำว่า “Curriculum” แทนคำว่า “Syllabus” ดังเช่นหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Lower Secondary School Curriculum B.E.2521 (Revised Edition B.E.2533)”

                มีนักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายและให้ความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายท่าน อาทิ

                สงัด  อุทรานันท์ (2532 : 5) กล่าวว่าหลักสูตร จะหมายถึง Curriculum มีลักษณะเป็นเอกสารที่กล่าวถึงจุดมุ่งหมาย โครงสร้างและเนื้อหาวิชาอย่างย่อ ๆ

                สุมิตร  คุณากร (2520 : 23) ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 2 ระดับ คือ หลักสูตรในระดับชาติ กับหลักสูตรในระดับโรงเรียน ดังนี้

                        1) หลักสูตรในระดับชาติ หมายถึง โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะสอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้

                        2) หลักสูตรระดับโรงเรียน หมายถึง โครงการที่ประมวลความรู้ และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้

                เอกวิทย์  ณ ถลาง (2521 : 175) ให้ความหมายว่าหลักสูตร คือมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียนเนื้อหาวิชา ทัศนคติ แบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลกันเข้าแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็ก ถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น

                ธำรง  บัวศรี (2532 : 6) กล่าวว่า หลักสูตร คือแผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้น เพื่อแสดงถึงจุดหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรมและมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผูเรียนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ตามจุดหมายที่คัดเลือกมาจากความรู้สาระต่าง ๆ

                สงัด  อุทรานันท์ (อ้างในทัศนีย์  บุญเติม, 2551 : 1415) อธิบายโดยอ้างแนวคิดของ Lavatell, Moore, and Kaltsounis ว่า ประสบการณ์ตามนิยามนี้ประกอบด้วย

                        1)    ความคิดรวบยอด (Concept หรือมโนมติ หรือมโนทัศน์) ที่ตัดเลือกมาจากความรู้สาระต่าง ๆ

                        2)    ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการแสวงหาความรู้ความเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทักษะด้านภาษา

                        3)    กระบวนการสำหรับการพิจารณาคุณค่าและการตัดสินใจ

                        4)    กระบวนการทางสติปัญญา

                                                5)            ประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 265647เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2009 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท