What is Neoclassical Economics?


ไม่อยากให้สับสนกับ NCE ในการแบ่งสำนักเศรษฐศาสตร์มหภาคนะครับ คือ มันมีการแบ่งสำนักคิดตามวิธีการศึกษา (Methodology) และตามประเด็นศึกษา (Subject) ที่กล่าวข้างต้นเป็นการแบ่งสำนักคิดตามวิธีการศึกษา (Methodology)

วันนี้เรียนวิชา Empirical Institutional Economics สอนโดยศาสตราจารย์ Jon Groenewegen จาก TU Delft เรียนเรื่องเกี่ยวกับการเปรียบเทียบเศรฐษศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics; IE) กับเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค (Neo-Classical Economics; NCE)

เนื่องจากจำได้ว่า พวกเราที่เดนฮากหลายคนเคยตั้งคำถามกับผมไว้ว่า ตกลงแล้ว NCE นี่มันคืออะไรกันแน่นั้น ผมคิดว่าบทความที่อ่านในวันนี้น่าจะช่วยให้กรอบกว้างๆได้บ้าง บทความนี้ชื่อ What is Neoclassical Economics? เขียนโดย Christian Arnsperger และ Yanis Varoufakis ตีพิมพ์ลงในวารสาร Post-Autistic Economics Review เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2006 อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ชำนาญใน NCE อาจจะมีข้อถกเถียงบางประการ แต่ผมก็คิดว่า กรอบที่ผู้เขียนวางไว้ให้กรอบที่โอเคเลย

ก่อนจะเข้าเรื่อง หลายคนอาจจะเตะตากับชื่อวารสาร Post-Autistic Economics Review คำว่า Autistic Economics ก็คือเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั่นเอง เค้าเรียกว่า Autistic Economics เพราะว่า เศรษฐศาสตร์เริ่มพัฒนาไปในทางที่เริ่มพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ก้มหน้าก้มตาอย่กับสูตรและตัวเลขของตัวเอง ไม่สุงสิงสาขาอื่น รวมถึงไม่สามารถอธิบายโลกจริงๆได้อีกด้วย !!

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า วารสารนี้มีจุดเริ่มต้นจากประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น Main stream มากๆ และนักเรียนที่นั่นก็อยากจะให้ทางมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่นั่นก็ค่อนข้างต่อต้านเรื่องนี้อย่างจริงจัง นักเรียนและนักวิชาการที่ต้องการการเปิดกว้างจึงสร้างชุมชนและวารสารนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์กระแสรองมากขึ้น ฉะนั้นด้วยความกดดันเหล่านี้ ในบทความ บางทีเราจะได้กลิ่นของความโกรธแค้นอยู่บ้าง สำหรับในประเทศเนเธอร์แลนด์อาจารย์บอกว่า เค้าไม่ต่อต้านหรอก เค้าแค่ไม่สนใจไปเลยต่างหาก อย่างที่ Erasmus นี่คณะเศรษฐศาสตร์นั้นขอให้คนที่ทำงานกระแสรองไปทำที่อื่นแทน

เอาล่ะ มาเข้าเรื่อง...

ประเด็นของการเขียนบทความนี้ก็คือ เนื่องจากว่า เหล่านักเศรษฐศาสตร์กระแสรองพยายามจะโจมตี NCE แต่หลายๆครั้งคำโจมตีเหล่านั้นมักจะพลาดเป้า เพราะนักเศรษฐศาสตร์ NCE ก็บอกว่า จริงๆแล้วมันไม่มีหรอก NCE น่ะ มีแต่ Scientific Economics และตัวทฤษฎีก็พัฒนาไปจนกระทั่งข้อโจมตีเดิมๆถูกแก้ไปแล้ว และพัฒนาไปสู่ทฤษฎีที่ครอบคลุมโลกความเป็นจริงมากขึ้น ผู้แต่งจึงมองว่าหากเราระบุได้ว่า NCE นี่มีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะสามารถถกเถียงมันได้ชัดเจนและถูกเป้ามากขึ้น

ผู้เขียนเสนอว่า ลักษณะสำคัญของ NCE มี 3 ประการ โดยดูจากลักษณะวิธีการศึกษาดังนี้

  1. Methodological Individualism
  2. Methodological Instrumentalism
  3. Methodological Equilibration

1. Methodological Individualism (MI ; ตัวย่อนี่คิดเองเพื่อความสั้นครับ) คือ วิธีการศึกษาปรากฎการณ์ทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกชนเป็นหลัก ปัจเจกชนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ปรากฎการณ์ทางสังคมใดๆก็ตาม โครงสร้างสังคมใดๆก็ตามต่างเกิดขึ้นจาก พฤติกรรมของปัจเจกชน และการปฏิสัมพันธ์กันของปัจเจกชน

บทความของ Hodgeson ที่อ่านในวันเดียวกันนี้ได้ขยายความเกี่ยวกับMI เอาไว้อย่างเข้าใจได้่ง่าย โดยสรุปคือว่า คอนเซปของ MI นั้นจริงๆแล้วค่อนข้างสับสนพอสมควร เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์เองไม่ค่อยจะเขียนชัดเจนมากนักว่า ข้อสมมติที่เกี่ยวข้องกับวิธีการศึกษาของเขาคืออะไร แต่เท่าที่รวบรวมได้ก็คือว่า มีตั้งแต่วิธีการศึกษาที่ศึกษาเฉพาะปัจเจกชนเท่านั้น ไม่สนใจโครงสร้างทางสังคมเลย จนกระทั่ง โครงสร้างทางสังคมและสถาบันเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการวิเคราะห์ แต่ทั้งสองอย่างต่างเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมและการปฏิสัมพันธ์ของคนในเวลาเดียวกัน MI ในแบบแคบแบบแรกนั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้เนื่องจากพอพูดถึงปัจเจกชน หรือ identity ของเขา เรื่องภาษา วัฒนธรรมก็เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว หรือ General Equilibrium Model ก็ยังมีราคาที่เป็นตัวกลางระหว่างปัจเจกชนและก็เป็นโครงสร้างในสังคม

โดยสรุปคือ หนึ่งคุณสมบัติของ NCE คือ จะเอา ปัจเจกชนเป็นศูนย์กลางในการศึกษา หรือ วิธีการอธิบายปัจจัยเชิงสังคมอื่นๆจะต้องมีความเชื่อมโยงและเป็นเหตุมาจากการปฏิสัมพันธ์กันของปัจเจกชน ไม่มีปัจจัยเชิงสังคมใดๆเลยที่คงอยู่ได้แม้ไม่มีมนุษย์อยู่

2. Methodological Instrumentalism (MI2) คือ วิธีการศึกษาที่เชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นเครื่องเพื่อตอบสนองเป้าหมายเท่านั้น เป็นตัวที่บ่งบอกถึงเป้าหมายของมนุษย์ ตอนแรกที่ผมเห็นอันนี้ก็คิดในใจว่า มันมีด้วยเหรอทฤษฎีที่ไม่ได้มองพฤติกรรมเป็นลักษณะนี้ พอนึกดีๆก็ตอบได้ว่า มีอยู่ อย่างน้อยก็คือทฤษฎี Evolutionary Game Theory ทฤษฎีนี้ แม้จะใช้ลักษณะการแสดง payoff ของทฤษฎีเกมส์ แต่ผู้เล่นในเกมส์ไม่ได้เลือกตามความต้องการของตน แต่พฤติกรรมได้ถูกกำหนดตายตัวเอาไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี คำว่า Instrumentalism ที่ผมเคยศึกษาจากคอร์สวิชา Methodology of Economics หรืออะไรประมาณนี้มีความหมายที่ต่างไป ความหมายของคำว่า Instrumentalism ที่ว่านี้คือว่า ตัวทฤษฎีที่คิดขึ้นที่ใช้สำหรับการศึกษานั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องสมจริงแต่อย่างใด สมมติฐานไม่ต้องสมจริงก็ได้ แต่หากมันใช้การได้ ให้คำอธิบายหรือทำนายได้อย่างมีเหตุมีผล และมีแนวโน้มถูกต้อง ก็นับว่าใช้ได้ ซึ่งผมเองคิดว่า การตีความ Instrumentalism แบบนี้ ดูจะตรงกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมากกว่า คือ ตรงกับสิ่งที่ Milton Friedman กล่าวไว้ ใน the Methodology of Positive Economics ที่มีอิทธิพลต่อวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลังจากนั้นเป็นอันมาก

3. Methodological Equilibration คือวิธีการศึกษาที่มีความเชื่อเบื้องหลังว่า พฤติกรรมใดๆก็ตามของปัจเจกชน หรือตัวแปรบางอย่างจะมีจุดดุลยภาพ หรือเป็นสถานการณ์/รูปแบบพฤติกรรมที่ จะเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่ต่างไปจากนี้ เว้นแต่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกที่ทรงพลังเข้ามามีบทบาท หากเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆน้อยๆ พฤติกรรมอาจจะออกจากรูปแบบ (Pattern) ไปบ้าง แต่ก็จะกลับสู่รูปแบบเดิมในไม่ช้า

อย่างไรก็ดี จุดนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนของการอธิบาย NCE แบบนี้เพราะในปัจจุบันทฤษฎีเศรษฐศาสตรืกระแสหลักก็มีการอธิบาย disequilibrium แล้ว อย่างไรก็ดี เรอาจจะมองได้กว้างๆว่า หากมีการคำนึงถึงดุลยภาพแล้วละก็ อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นทฤษฎีในข่าย NCE

ส่วนที่เหลือของบทความมีการอธิบายเอาไว้ด้วยว่า เหตุใด เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงกลายมาเป็นกระแสหลักได้ด้วย แต่หากอยากอ่านก็ลองติดต่อมาจะลองส่งบทความไปให้อ่านเพิ่มเติมดูครับ

เสริมเพิ่มเติมจากบทความอีกหน่อยหนึ่งว่า ไม่อยากให้สับสนกับ NCE ในการแบ่งสำนักเศรษฐศาสตร์มหภาคนะครับ คือ มันมีการแบ่งสำนักคิดตามวิธีการศึกษา (Methodology) และตามประเด็นศึกษา (Subject) ที่กล่าวข้างต้นเป็นการแบ่งสำนักคิดตามวิธีการศึกษา (Methodology) แต่หากดูตามประเด็นศึกษา (Subject) ละก็ จะแยกออกได้เป็นหลายสาขามาก เช่นเศรษฐศาสตร์การเงิน , การคลัง, พัฒนา, เกษตร, หนึ่งในนั้นคือเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ทีนี้ ในเศรษฐศาสตร์มหาภาคนี่เองที่มีการแยกเป็นสำนักตามลำดับเวลา เช่น สำนักคลาสสิค , Keynesian, Monetarist, New classical economics , ฯลฯ การแบ่งในระดับย่อยนี้อาจมีส่วนซ้อนเหลื่อมกับการแบ่งในระดับวิธีการศึกษาบ้างแต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้เนื่องจากจะทำให้ประเด็นซับซ้อนไปมากกว่านี้ สำหรับลักษณะของ NCE ในเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น สามารถหาอ่านได้ใน Textbook เศรษฐศาสตร์มหภาคทั้งระดับพื้นฐาน Z (Basic) และระดับกลาง (Intermediate) ได้ทั่วไปครับ

ก็หวังว่าจะให้ภาพ NCE ได้ไม่มากก็น้อย ครับ สามารถถกเถียงหรือตั้งคำถามได้นะครับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผม และคนอ่านคนอื่นๆครับ

 

บรรณานุกรม

Arnsperger C., Varoufakis, Y. (2006) What Is Neoclassical Economics?. Post-Autistic Economics Review . Issue 38, article 1.

Hodgson, G.M. (2007) Meaning of Methodological Individualism. Journal of Economic Methodology, 14(2), June, pp.211-26

Friedman, Milton. [1953] 2007. The Methodology of Positive Economics. In thePhilosophy of Economics, ed. Daniel M Hausman, 145-178. New York: Cambridge University Press.

หมายเลขบันทึก: 264137เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังค่ะ ได้ความรู้มาก ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท