พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ตอน กาลามสูตร ทางแยกสำคัญของวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา


พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์

ต้องขอเรียนว่า บทความตอนนี้จัดอยู่ในขั้นแหวกแนวไปจากความเข้าใจทั่วๆไปที่พบในสังคมเลยก็ว่าได้ และเป็นประเด็นสำคัญทีเดียวครับทื่ทำให้ผมเขียนบทความชุดนี้ขึ้นมา
เพราะเรามักจะนิยมอธิบายหลักกาลามสูตรว่าเป็นแนวทางของพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีผลดีที่ทำให้เศาสนาพุทธดูจะเป็นแนวคิดที่ร่วมสมัย เมื่อประกอบเข้ากับคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บุคคลที่เป็นสัญญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์เข้าด้วยว่า หากจะมีศาสนาไหนสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ได้ ศาสนานั้นน่าจะเป็นศาสนาพุทธ เข้าให้ ผู้ที่ศรัทธาและอยากให้พุทธศาสนาดูทันสมัยยิ่งพร้อมจะเข้าใจไปว่า นักวิทยาศาสตร์รับรองความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนาเข้าให้ ทั้งๆที่ไม่มีข้อบ่งชี้อะไรอีกเลยที่บอกว่าไอน์สไตน์ศรัทธาในพุทธศาสนา ที่กล่าวประโยคนั้นมาก็เพียงต้องการเปรียบเทียบโดยชี้ในประเด็นที่พุทธศาสนาเชื่อว่าปรากฏการณ์และความเป็นไปของมนุษย์ ไม่ได้กำหนดโดยสิ่งมีชีวิตผู้ทรงอำนาจไดๆ หากแต่มีธรรมชาติของมันเองที่เราเข้าไปรับรู้ เท่านั้น และในประโยคนั้นดูน่าจะมาจากผลของการศึกษาคัมภีร์ในชั้นหลังพระไตรปิฎกอีกด้วย
(ซึ่งอธิบายขอบเขตของพระพุทธศาสนากว้างขวางออกไปจากเดิม)
ประโยคนั้นน่าจะเป็นเพียงการท้าทายศาสนจักรตะวันตกมากกว่าจะมาจากความศรัทธาในพุทธศาสนาของไอน์สไตน์ครับ
และในอีกหลายๆด้านที่ไอน์สไตน์อธิบาย ก็ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าอธิบายอย่างที่บางท่านพยายามจะทำให้เข้าใจไปตามนั้น (และตัวท่านเองก็ยินดีเข้าใจไปตามนั้นโดยสุจริต) เช่นในหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" เกือบทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตามคติพราหมณ์ซึ่งเป็นต้นรากของพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นสิ่งที่มาค้นพบในพุทธกาล จึงควรให้เครดิตกับพราหมณ์มากกว่าพระพุทธเจ้า หากต้องการจะเปรียบเทียบกับไอน์สไตน์ในประเด็นนั้นๆนะครับ

กาลามสูตรมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ในแง่ของการแสดงให้ประจักษ์ในทางไดทางหนึ่งก่อนจะเชื่อว่าจริง แต่ความจริงแล้วหลักกาลามสูตรข้ามขอบเขตของการเชื่อไปแล้วครับ และทำให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเพียง "ความเชื่อที่ละเอียด" เท่านั้นเอง
หลักกาลามสูตรแจงออกได้ 9 ข้อคือ
1 อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
2 อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆกันมา
3 อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้
4 อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา
5 อย่าได้ยึดถือโดยสอดคล้องตามตรรก
6 อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน
7 อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ
8 อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตน
9 อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้
10 อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

หากพิจารณาแบบวิทยาศาสตร์ที่เราคุ้นเคยจนครบทั้ง 10 ข้อแล้วเราจะพบว่า ในชีวิตของเราอาจจะไม่มีอะไรที่ควรเชื่อเลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะในข้อที่ว่า อย่าได้เชื่อโดยสอดคล้องตามตรรก อย่าได้เชื่อถือโดยตรึกตามอาการ ซึ่งดูเหมือนจะปฏิเสธแนวทางวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ
หากเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ดูเหมือนเราสามารถนำเอาหลักกาลามสูตรมาใช้ได้แค่เพียงบางส่วน เพราะหากใช้ทั้งหมด ก็จะไม่มีอะไรให้เชื่อได้อีก

เปล่าครับ ความจริง (สัจจะ) ที่พุทธศาสนาอธิบายนั้น เป็นความจริงที่สอดคล้องกับแนวทางทั้ง 10 โดยไม่ต้องละเว้นข้อไดเลย
หากอ่านพระสูตรนี้ต่อไปอีกสักหน่อยเราจะพบว่า พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางเพิ่มเติมไว้คือ

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า

1 ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
2 ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ
3 ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
4 ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

หากรวมมาถึงตรงนี้แล้ว เราจะพบว่า บางประเด็นที่กำลังถกเถียงกัน และฝ่ายไดฝ่ายหนึ่งเสนอให้ใช้หลักกาลามสูตรมาตัดสินนั้น ดูเหมือนจะเป็นการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมเอาเลย เพราะจะเอาหลัก 4 ข้อดังกล่าวมาใช้กับแง่มุมของกายภาพ หรือการเมือง ไม่ได้
แนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงประทานมานี้ แสดงให้เห็นว่าพระสูตรนี้ จำกัดขอบเขตไว้ที่กายและใจของเรานี่เอง
คำว่า ธรรม คือ ความจริง ครับ ท่านประทานแนวทางการพิสูจน์ความจริงด้วยการเข้าไป รู้ โดยตรง
เป็นการรู้ในแบบเดียวกับที่เราเห็นภาพสีแดงก็รู้ว่าสีแดง เราสัมผัสกับผิวที่เย็นก็รู้ว่าผิวนี้เย็น
การรับรู้ด้วยตนเอง แม้จะเห็นพ้องต้องกันได้ ว่านี่สีแดง ว่านี่กลิ่นกุหลาบ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งได้ ต้องรับรู้ด้วยตนเอง
ผู้ที่ไม่เคยได้กลิ่นกุหลาบย่อมไม่รู้ ผู้ที่ไม่เคยเห็นสีน้ำเงินย่อมไม่รู้ และไม่สามารถอธิบายถ่ายทอดให้รู้ได้

การ รู้ จึงเป็นเครื่องมือการทดสอบ ความจริง ของพุทธศาสนาครับ ไม่ใช่เพียงความเชื่ออันละเอียดอย่างวิทยาศาสตร์
การ รู้ เป็นการทดสอบ ความจริง ที่มีขอบเขตที่ กายและใจ ของเรานี่เอง รู้ จากการรับรู้ของเรา สำหรับคติพุทธ เพราะมีเรา จึงมีสรรพสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพราะมีสรรพสิ่งต่างๆ จึงมีเรา สรรพสิ่งต่างๆจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่มีตัวเรา เข้าไปกำหนดหมายรู้
และการ รู้ นี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการเจริญสติภาวนา เพื่อแจ้งถึงความจริงและหลุดพ้นจากทุกข์ สิ้นธุระไดๆแล้ว เมื่อได้ รู้ ลงไปตรงๆถึงความเป็นตัวเรา ที่เข้าไปหมายมั่น ในตัวเรา และการรับรู้ของตัวเรา แล้วไปกำหนดสรรพสิงที่รับรู้

ผมจึงเสนอว่า กาลามสูตร แท้จริงคือทางแยกสำคัญของวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา ไม่ใช่ทางร่วมครับ

แล้ว "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" หรือว่าควรจะเป็น ไอน์สไตน์พบ พราหมณ์เห็น (มาตั้งนานแล้ว)" กันแน่

หมายเลขบันทึก: 263068เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 06:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ชอบวรรคนี้ของอาจารย์มากค่ะ จับใจเลยทันทีที่อ่านจบ "เรารักษาศีลไม่ใช่เพื่อให้ใครเห็นว่าเราเป็นคนดีนะ เราทำไปเพราะเรามีความสุขของเราเงียบๆต่างหาก "

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท