การขับเคลื่อนพลังปัจเจกของท้องถิ่น


....การระดมพลังปัจเจกและชุมชนเพื่อเรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของตนเอง ด้วยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนประชาคมวิจัย ออกแบบให้ชุมชนและปัจเจกสามารถเรียนรู้ที่จะทำการริเริ่มและกำหนดสิ่งต่างๆ ที่เกื้อหนุนการปฏิบัติทุกขั้นตอนของประชาชน ให้มากที่สุด....

           การระดมพลังปัจเจกและชุมชนเพื่อเรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของตนเอง  ด้วยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนประชาคมวิจัย ซึ่งออกแบบให้ชุมชนและปัจเจกสามารถเรียนรู้ที่จะทำการริเริ่มและกำหนดสิ่งต่างๆ ที่เกื้อหนุนการปฏิบัติในทุกขั้นตอนของประชาชนให้มากที่สุด ได้นำมาเป็นฐานคิดส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เช่น

กระบวนการพัฒนาประเด็นการวิจัย (Research Question Development)

  • การค้นหาประเด็นที่เชื่อมโยงกับส่วนรวมของกลุ่มปัจเจกและกลุ่มพลเมืองที่มาเชื่อมโยงกับกระบวนการวิจัย, 
  • การกำหนดประเด็นการวิจัย, 

กระบวนการปฏิบัติทางข้อมูล (Data Manipulation Process)

  • การตั้งคำถาม, วางแผนตอบคำถามและพิสูจน์จากปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ, 
  • การพัฒนาเป็นโครงการและดำเนินการ เพื่อรองรับการจัดการด้วยตนเองของกลุ่มท้องถิ่น
  • การสังเคราะห์และถอดบทเรียน,

การปฏิบัติทางความรู้และผลการสร้างความรู้ในการปฏิบัติ (Result Management and Re-entry Planning)

  • การสร้างความรู้และจัดการความรู้ในการปฏิบัติ, 
  • การยกระดับการจัดการ

          กระบวนการต่างๆภายใต้แนวคิดการออกแบบเหล่านี้  นอกจากจะช่วยให้ท้องถิ่นและกลุ่มพลเมืองของชุมชนในเขตเทศบาลของท้องถิ่นทั้งภาคเมืองและชนบท มีกลไกจัดการเรื่องส่วนรวมที่ตนเองสนใจ และเรียนรู้จากการแก้ปัญหาแล้ว จะช่วยเสริมศักยภาพในการเป็นชุมชนที่ใช้ปัญญาและความรู้เข้าจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ  อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของพลเมือง (Civil Learning) ให้มีจิตวิญญาณแห่งการวิจัยและใช้ปัญญาในการจัดการ (Research-Based Learning by Doing) เริ่มจากการซาบซึ้งและเกิดจิตสงสัย (Questioning Mind) การตั้งคำถาม หาความจริงและพิสูจน์ความสนใจด้วยการปฏิบัติ เป็นต้น โครงการใดของชุมชนใด เริ่มต้นได้จากจุดไหน  กระบวนการวิจัยก็ออกแบบเพื่อขับเคลื่อนและเกื้อหนุนไปตามเงื่อนไขตามนั้น

โครงการของชุมชนที่มีจุดริเริ่มบ้างแล้ว เริ่มผุดขึ้นมาได้หลายระดับ

จังหวัดอุทัยธานี

    (1) เทศบาลตำบลสว่างอารมณ์ : การถอดบทเรียนและการพัฒนาการจัดการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสว่างอารมณ์

    (2) เทศบาลเมืองอุทัยธานี : การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี

จังหวัดชัยนาท

     (3) เทศบาลตำบลสรรพยา : การร่วมใจพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อสรรพยาน่าอยู่

     (4) เทศบาลเมืองชัยนาท : การสร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างสุขภาพด้วยตนเอง เทศบาลเมืองชัยนาท

จังหวัดสุพรรณบุรี

      (5) เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี : การพัฒนาเครือข่ายการจัดการสื่อด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะในชุมชนเมืองสุพรรณบุรี

      (6) เทศบาลตำบลศรีประจันต์ : โครงการศรีประจันต์ แหล่งกำเนิดผู้นำทางปัญญา

จังหวัดกาญจนบุรี

      (7) เทศบาลเมืองกาญจนบุรี : การร่วมสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนเมืองกาญจนบุรี

      (8) เทศบาลพนมทวน : การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เทศบาลตำบลพนมทวน

จังหวัดนครปฐม ( 3 เทศบาล / 3 โครงการย่อย เนื่องจากเพิ่มแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล  ศาลายา)

       (9) เทศบาลนครนครปฐม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและอนามัยสิ่งแวดล้อมในเขตเทศบาลนครนครปฐม

     (10) เทศบาลตำบลสามง่าม : การสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นในการเสริมสุขภาวะของชุมชน

     (11) เทศบาลตำบลศาลายา : ภาคีสร้างเสริมวัฒนธรรมสุขภาพ เพื่อพุทธมณฑลเมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืน

จังหวัดราชบุรี

      (12) เทศบาลเมืองราชบุรี : การวิจัยสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี

      (13) เทศบาลตำบลบางแพ : การเสริมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านหนองม่วง  ตำบลบางแพ  อำเภอบางแพ

จังหวัดสมุทรสาคร

       (14) เทศบาลนคร  นครสมุทรสาคร : การสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างจิตสำนึกและการตื่นตัวในการมีส่วนร่วมของชุมชน ต่อการจัดการสุขภาพขอชุมชนเศรษฐกิจ 2 เทศบาลนคร นครสมุทรสาคร

       (15) เทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา : การพัฒนาเครือข่ายแกนนำการจัดการสุขภาพแบบองค์รวมของตำบลเกษตรพัฒนา

จังหวัดสมุทรสงคราม

        (16) เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม : การสร้างจิตสำนึกเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  เขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม

        (17) เทศบาลตำบลอัมพวา : การเสริมสรางจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ตำบลอัมพวา เทศบาลตำบลอัมพวา

สรุปเพื่อเห็นภาพกว้าง ณ เวลานี้ได้ดังนี้

  • ประเด็นการขับเคลื่อนมีความน่าสนใจหลากหลาย  ครอบคลุมทั้งสุขภาพ  การพัฒนาสังคม  ท้องถิ่น  และสิ่งแวดล้อม
  • โครงการส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหว  บางส่วน 1-2 ชุมชน เริ่มเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม แนวการยกระดับจึงขึ้นต่อเงื่อนไขและความเป็นจริงของพื้นที่
  • กระบวนการขับเคลื่อน ดำเนินการ 2-3 รอบ โดยผสมผสานกันระหว่าง เวทีถอดบทเรียนแล้ววางแผนโดยชุมชน  การประชุมชี้แจงแล้วรับพิจารณาข้อเสนอของท้องถิ่น และการจัดประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนาโครงการย่อยโดยตรง
  • ทุกโครงการและแผนงาน มีรูปแบบพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันของ  เทศบาล  กลุ่มพลเมือง  ชุมชน  และหน่วยงานในพื้นที่  ในเขตชุมชนเทศบาล
  • บางโครงการสามารถสนับสนุนทุนสำหรับเรียนรู้และจัดการเองแล้ว บางโครงการอยู่ในระหว่างการปรับปรุง และบางโครงการอยู่ในระหว่างการพัฒนาขึ้นใหม่
หมายเลขบันทึก: 26271เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2006 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สังฆมนิยม

ขอเจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

      พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเห็นแก่ตัวไม่สนใจสังคมมีความเป็นปัจเจกสูงทอดทิ้งสังคมทอดทิ้งชุมชนทอดทิ้งส่วนรวม โดยทรรศนะส่วนตัวของอาตมามีความเห็นว่าเถรวาทนั้นน่าจะเป็นประเภทแนวชุมชนมากกว่าเพราะมองตามรูปศัพท์ที่ปรากฏในทางพระศาสนานั้นท่านเน้นความเป็นส่วนรวมความเป็นชุมชนความเป็นผู้มีส่วนร่วมสูงมากโดยเน้นระระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจะลองดูศัพท์ที่ท่านใช้เรียกตัวแทนองค์กรหรือสถาบันว่าสังฆะหรือสงฆ์(ชุมชน,สังคม,พวกหมู่,คณะ,ประชาคม)อาตมาขอเสนอคำศัพท์ให้ผู้วิจารณ์หมั่นไส้เล่น ๆ ว่าสังฆมนิยมอย่าถือสาผู้รู้น้อยก็แล้วกัน

       เถรวาทนิยมความมีส่วนร่วมทางสังคมมากแม้แต่คำถวายทานและคำถวายประเภทอื่นๆโยมอาจารย์จะเห็นศัพท์ที่ท่านใช้และมีความหมายที่บ่งบอกถึงส่วนรวมทุกบทเลย ยิ่งพระวินัยบัญญัติด้วยแล้วจะมีบทที่บัญญัติไว้เป็นข้อบังคับเลยว่าต้องทำเป็นหมู่คณะมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ซึ่งเป็นส่วนรวมจะทำผู้เดียวไม่ได้จะเห็นได้ว่าสงฆ์ไม่นิยมความเป็นปัจเจกแต่ถ้าทางธรรมการบำเพ็ญจิตภาวนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็มีอิสระจะทำเป็นรายบุคคลได้แต่เมื่อมีกิจส่วนรวมต้องสละประโยชน์ตนมาดูแลจัดการส่วนรวมให้เรียบร้อยโดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทิ้งหน้าที่จะถูกปรับอาบัติลงโทษทางวินัยแล้วแต่กรณี เพราะความเป็นชุมชนจ๋าเกินไปหรือเปล่าไม่รู้จึงเคยมีผู้วิจารณ์ให้สะดุ้งสะเทือนอารมณ์ว่า สังคมวัดสังคมสงฆ์ระบบวัดนั้นเจ้าอาวาสเป็นใหญ่รวบอำนาจมากเกินไปคล้ายคอมมิวนิสต์วัดเป็นระบบคอมมิวนิสต์ดี ๆ นี่เองท่านว่าอย่างนั้นไม่มีความรู้เรื่องคอมมิวนิสต์เสียด้วยก็รับฟังไว้ด้วยใจอนุโมทนา

           ผู้คนในสังคมนิยมความเป็นปัจเจกมากเกินหรือเปล่านะโยมอาจารย์จึงทำให้ส่วนรวมหรือสังคมชุมชนของเราอ่อนกำลังลงขาดพลังสร้างสรรค์ทำให้มีสภาพทรุดโทรมอ่อนแอคนนิยมตนเองเป็นศูนย์กลางไม่สนใจผู้อื่นแม้แต่ส่วนรวมหรือชุมชนเห็นโยมอาจารย์ทำงานด้านชุมชนมาเยอะมีประสบการณ์มีความรู้มีจิตสาธารณะสูงก็เลยขอความรู้และแนววิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการทำงานให้กับชุมชนแบบคนมีจิตอาสาจิตสาธารณะบ้าง.

                                    ขอเจริญพร

                             พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ตามมาขอเรียนครับ 
  • ผมกำลังสนใจที่จะช่วยตามคำร้องขอของภาคประชาชนกลุ่มที่เขากำลังต่อสู้กับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และมีประเด็นที่เขาสะท้อนออกมาว่าอยากจะให้ช่วยพัฒนาให้ชาวบ้านเป็นนักวิชาการเองบ้างได้ไหม? เขาบอกว่มีแกนนำและลูกหลานของแกนนำตั้งหลายคนที่จบ ป.ตรีแล้ว บางคนถึงไม่จบก็ขอเป็นผู้ช่วยฯก็ได้ เขาสะท้อนออกมาเองนะครับ 
  • เมื่อถามกลับไปว่าทำไมถึงต้องการอย่างนั้น เพื่อตรวจสอบความคิดของเขา เขาก็ตอบว่้า เพราะเท่าที่ผ่านมานักวชาการจากข้งนอกไม่เข้าใจว่าเขต้องการอะไรที่แท้จริง เพื่อนำไปต่อสู้กับัญหานี้
  • และผมกำลังศึกษาดูว่า Research-Based Learning by Doing จะนำไปใช้ได้ไหม เหมาะไหม จะตรงกับที่เขาต้องการไหม 
  • ตอนนี้ผมมาขอเรียนจากอาจารย์พลาง ๆ และหากจะป็นพระคุณยิ่ง ผมจะขอความเห็น เพื่อชี้ทางสว่างสำหรับเรื่องนี้ด้วยครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า  พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)ครับ

  • ผมเคยใช้สังฆนิยม ซึ่งก็คล้ายกับที่พระคุณเจ้าใช้ สังฆมนิยม เหมือนกันครับ ตอนนั้นผมใช้เพื่อสานความคิดเรื่องประชาคมกับเรื่องความเป็นชุมชน ที่พอจะมีความเข้าใจของสังคมไทยให้ชาวบ้านสามารถใช้ความรู้ในบริบทของสังคมของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ แต่ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยเห็นประเด็นครับ 
  • โดยทั่วไปผู้คนมักหาความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆที่มีคำตอบเบ็ดเสร็จ ไม่ค่อยใช้การผุดประเด็นร่วมให้เป็นเครื่องมือสร้างความรู้ขึ้นจากการพูดคุยและปรึกษาหารือ ซึ่งก็จะได้ความรู้ที่ชัดแจ้งขึ้นมาพร้อมไปกับการเกิดกลุ่มก้อนและความเป็นชุมชนไปด้วย
  • ทางด้านศาสนานั้น ผมไม่ค่อยมีความรู้เลยครับ แต่ในเรื่องปัจเจกกับความเป็นส่วนรวมและความเป็นสังคม รวมไปจนถึงแนวคิดภายใต้ความเป็นกลุ่มแบบเสมอกันหรือแนวราบนั้น  เมื่อจะพูดถึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนและสังคม ก็มักเน้นให้ทุกคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองจนสามารถมีส่วนร่วมด้วยการลงมือปฏิบัติจากตนเองพร้อมกับเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองไปด้วยอยู่เสมอ ก็ต้องพูดให้เข้าใจโดยตลอดอย่างนี้กระมังครับ จึงจะเห็นบริบทที่ไปด้วยกัน และเมื่อจะต้องพูดถึงชุมชนและสังคมส่วนรวม ก็คงต้องเป็นในลักษณะเดียวกัน
  • ในการทำงานชุมชนและการทำงานแนวประชาคม มิใช่การทำให้สังคมเป็นไปตามกันทั้งหมด  ก็จะมุ่งไปยังกลุ่มคนและปัจเจก ที่มีสำนึกต่อส่วนรวม หรือมีภาวะผู้นำดีแต่อาจจะไม่มีอำนาจ เพื่อให้ภาคสาธารณะมีโอกาสได้การมีส่วนรวมที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งทำให้สังคมและชุมชนมีกลไกและช่องทางทำเรื่องส่วนรวมด้วยกันมากขึ้น ก็คงต้องขึ้นบริบทของเรื่องอย่างนี้ด้วยเช่นกันครับ
  • หรือบางทีก็ไม่จำเป็นต้องตอบหรือติดอยู่กับเรื่องเหล่านี้ครับ  เพราะเรื่องการทำงานปฏิบัติหลายเรื่องที่ต้องอาศัยแนวคิดอย่างนี้ไม่สามารถสำเร็จด้วยการพูดและหาความหมาย  ทว่า อยู่ที่การเรียนรู้ให้ทำงานปฏิบัติด้วยกันได้อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถริเริ่มและแก้ปัญหาที่จำเป็นให้กับตนเองได้ครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ

  • อันที่จริงมีเครือข่ายการวิจัยโดยประชาชนที่ภาคใต้อยู่หลากหลายนะครับ ทั้งการวิจัยแนวปฏิบัติการเชิงสังคม การวิจัยแนวชุมชนและสร้างความรู้ท้องถิ่น การวิจัยแนวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการรวิจัยเพื่อเคลื่อนไหวประเด็นสาธารณะ ดูเหมือนตั้งเป็นองค์กรและมีหน่วยงานสนับสนุน พัฒนาไปมากมาย เครือข่ายของอาจารย์ชายขอบก็คงจะเป็นส่วนหนึ่ง
  • หากสังคมและวงวิชาการ รวมไปจนถึงองค์กรการวิจัย และการวิจัยในกระแสหลัก ไม่ผูกขาดความเป็นการวิจัย ไม่ผูกขาดนิยามของสิ่งที่เรียกว่าความรู้ และความเป็นวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านและผู้คนทุกคนที่สามารถเรียนรู้ได้ ก็เชื่อว่าเป็นนักวิจัยได้ครับ
  • แต่การจะวิจัยแบบไหน มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และใครจะสามารถทำวิจัย อย่างนี้ต้องแยกพูดไปตามกรณีครับ 
  • ในเรื่องการให้กลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนที่จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาโท เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาและตั้งกลุ่มหรือองค์กรการทำงานของตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยและกิจกรรมทุกขั้นตอนของการวิจัยให้เป็นเวทีปฏิบัติการสังคมของกลุ่มชาวบ้านนั้น  ทำได้แน่นอนครับ
  • แต่ก็ต้องการการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปด้วย ในด้านการทำงานได้จริงนั้น ทำได้และดีมากๆด้วยครับ แต่ในแง่การทำวิจัยในแนวนี้ให้ขึ้นไปเป็นผู้นำทางวิชาการด้วยนั้น ในบ้านเราคงจะต้องรอเวลาและพัฒนาไปอีกระยะหนึ่่ง
  • แต่ถ้าหากนึกถึงการเป็นคุณูปการกับสังคมและชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆที่มีความจำเป็นต้องได้พัฒนาตนเอ ได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ และมีบทบาทต่อการเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นมาจากโลกทรรศน์ของตนเองไปด้วยในบางเรื่องมากกว่า ก็ควรมุ่งทำไปเถอะครับ
  • อดทน อดทน และอดทน หากยังไม่เจอทางสว่างก็อดทนอีก 

มีความสุขและมีไฟอยู่เสมอนะครับ

  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
  • ผมนำไปเขียนไว้ที่นี่ เพื่อจัดการต่อครับ http://gotoknow.org/blog/tri-paki/270191
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท