พยาบาลเวรดึก


สุขภาวะทางปํญญา

          วันนี้หลังจากลงเวรมา กลับมาบ้านด้วยความปิติสุข ไม่ง่วงนอน( ไม่ใช่เพราะแอบหลับนะคะ...ฮิ ฮิ..) แต่เป็นเพราะว่าผู้ป่วยหนักสูงอายุ 4 คนที่แพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่และญาติรับทราบความรุนแรงของโรค ที่คาดว่าวันนี้คงมีใครบ้างละที่ต้องกลับบ้านเก่า มีอาการดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ผู้ป่วยที่เป็น CA LARYNX ระยะสุดท้ายที่เจาะคอมีเสมหะกลิ่นเหม็นออกปาก ออกจมูก ต้องเจาะท้องให้อาหารที่นอนด้วยความหมดหวังท้อแท้ ไม่เคยเห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยรายนี้เลย ยิ้มได้ด้วยแววตาที่แจ่มใส...มันรู้สึกดีใจ ...อิ่มใจ.. เป็นอะไรที่บรรยายไม่ถูก...และอีก 3รายอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

       มาอ่านเรื่อง ระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์สุขด้วยปัญญาของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ท่านกล่าวถึงเรื่องแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาวะจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสีที่มองว่าอนาคตของมนุษย์ชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่ คือมีความรักเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง การมีจิตใจสูงจะทำให้เกิดสุขภาวะอันประณีตลึกซึ้ง สุขภาพดี อายุยืน และมีการอยู่ร่วมกันอย่าสันติสุข ประเด็นของแผนคือต้องการให้สังคมมีสามารถมีความสุขด้วยปัญญา หรือเข้าถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ คือรู้จักมีความสุขโดยใช้ปัญญา ไม่ใช่ความสุขด้วยการบริโภค ไม่ใช่เรื่องวัตถุ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ แพทย์และพยาบาลน่าจะมีความสุขเพราะงานที่ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการให้ เมื่อให้ตัวเองมีการพัฒนาจิตใจได้รับความสุขกลับมา

         แต่ความเป็นจริงแล้วในชีวิตการทำงานพยาบาลประจำวัน มีภาระงานมากมาย ทั้งต้องดูแลผู้ป่วย และ ต้องทำงานเกี่ยวกับเอกสารเพิ่มมากขึ้น จริงอยู่พยาบาลทุกคนทำงานด้วยหัวใจปฏิบัติงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถถ้ามองด้านคุณภาพจริงๆ คุณภาพมีแน่นอนเพราะผู้รับบริการพึงพอใจ ยินดี มีความสุขที่ ผู้ป่วยได้ นอนที่ตึกเราทุกคนมีความพอใจและประทับใจในบริการของตึกเรา แต่ถามถึงประสิทธิภาพท่านคิดอย่างไร? แค่ผู้ป่วยหนัก 4 รายที่ต้องดูแลอย่างน้อยทุกสองชั่วโมง การทำแผล ฉีดยา เช็ดตัว ป้อนอาหาร จัดยาแจกยา ตวงน้ำดื่มน้ำกิน พลิกตะแคงตัว ดูแลให้น้ำเกลือ เจาะเลือดฯลฯ และยังมีผู้ป่วยรายอื่นอีก 16 คน มีเพียงพยาบาลเวร 2คนที่ต้องดูแลงานหนัก จริงนะคะ

          จะเป็นไปได้ไหมคะหากจะมีจิตอาสาผู้ที่มีใจเป็นกุศลมาช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลเวรบ่าย-ดึกบ้างเพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพของงานด้านการพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 262699เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท