ผู้นำ...ในหลากมุมมอง


ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า "ดีแล้ว ๆ ที่ไปเจอความหลากหลายมาก ๆ" แล้วท่านก็บอกว่า "ผู้นำ" ในมุมมองของท่านนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า "Emerging leadership" หรือการก่อเกิดขึ้นของผู้นำตามธรรมชาติ

ผมลองทบทวนความหมายของคำว่า "ผู้นำ" หรือ "ภาวะผู้นำ" เพราะรู้สึกว่าเมื่อคุยกับผู้คนต่าง ๆ ก็จะมีนิยามความหมาย ความเข้าใจหรืออุดมคติเกี่ยวกับสิ่งนี้แตกต่างกันมาก...ลองสำรวจคร่าว ๆ ผมแบ่งเอาเองว่า แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องภาวะผู้นำในยุคสมัยนี้ อาจเป็นออกเป็นได้เป็น 2-3 กลุ่มซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็ไม่ได้แยกขาดกันมากนัก คือ

1. ผู้นำ/ภาวะผู้นำ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหน่วยงาน องค์กรหรือธุรกิจ ต้นฉบับแนวคิดก็น่าจะมาจากบรรดา Business school ทั้งหลาย ซึ่งเน้นในเรื่องการจัดการที่มีการนำศาสตร์หรือแนวคิดทางการทหารมาใช้ด้วย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลยุทธ การแข่งขัน หรืองานของ Nortan & Kaplan, Michael Porter เป็นต้น

2. ผู้นำ/ภาวะผู้นำ ที่ได้รับอิทธิผลจากการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่ วิทยาศาสตร์ใหม่ จิตสำนึกใหม่ การศึกษาด้านสมอง การศึกษาด้านจิตวิญญา เช่น งานของ Otto Charmer, Steven Covey, Peter Senge, Margaret Wheatley, วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นต้น

3. ผู้นำ/ภาวะผู้นำ ตามปรัชญาตะวันออก เช่น แนวคิดเรื่องภาวะผู้นำตามพุทธศาสนาของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือในคำภีร์ เต๋าเต๊กเก็ง ฉบับที่คุณประชา หุตานุวัตร ถอดความ เป็นต้น

แนวความคิดเรื่องผู้นำ/ภาวะผู้นำคงมีมากกว่านี้อีก และที่แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ นี้ก็ไม่ได้แยกขาดกันทีเดียว เช่นในกลุ่มกระบวนทัศน์ใหม่ก็มีการเชื่อมประสานกับปรัชญาตะวันออก และมีการนำศาสตร์การจัดการสมัยใหม่มาผสมผสานกันด้วย

ปัญหาของผมจึงมีต่อไปว่า...ถ้าเราจะทำความเข้าใจกับเรื่องผู้นำ/ภาวะผู้นำนี้จริง ๆ จัง ๆ จะทำได้อย่างไร

ก่อนการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง (Steering Committee) ของโครงการ คศน. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2552 ผมได้นำความงุนงงนี้ไปปรึกษาท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ อาจารย์ฟังผมเล่าสิ่งที่ผมลองไปทบทวนและจัดกลุ่ม บวกกับความงุนงงของผม ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า "ดีแล้ว ๆ ที่ไปเจอความหลากหลายมาก ๆ" แล้วท่านก็บอกว่า "ผู้นำ" ในมุมมองของท่านนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า "Emerging leadership" หรือการก่อเกิดขึ้นของผู้นำตามธรรมชาติ

คุณสมบัติของผู้นำตามธรรมชาตินี้ท่านสรุปได้ 5 ประการซึ่งต้องมีพร้อมในคน ๆ นั้นได้แก่

1. ฉลาด

2. มีคามซื่อสัตย์สุจริต

3. เห็นแก่สังคม

4. มีความสามารถในการสื่อสาร

5. เป็นที่ยอมรับ

ท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพลังนิวเครียอยู่ภายใน การจะก่อเกิดผู้นำขึ้นได้จะต้องมี "การระเบิดออกของจิตสำนึก" ซึ่งจะพัฒนาได้โดย

1. ต้องสัมผัสกับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสัมผัสกับความทุกข์ยากจึงนำไปสู่การตรัสรู้ได้...ซึ่งการสัมผัสนี้ต้อง "เอาใจนำ" อย่างเอาความรู้นำ

2. ต้องส่งเสริมให้ทำ ต้องมีแรงบันดาลใจ ฝันให้เต็มที่ว่าอยากทำอะไรให้สำเร็จ แล้วลงมือปฏิบัติ

ฟังแล้วจึงได้แนวคิดว่าในการพัฒนาผู้นำนั้นต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้มีโอกาสได้ใช้ "ใจ" สัมผัสกับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ เปิดโอกาสให้ฝันอย่างเต็มที่และต้อสนับสนุนช่วยเหลือให้ได้ทำตามที่ฝันที่ตั้งใจนั้น...กระบวนการแบบนี้จึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ การเติบโตภายใน และนำไปสู่การระเบิดออกของจิตสำนึกใหม่ได้

...นี่คงเป็นปฐมบทของการทำความเข้าใจเรื่อง "ผู้นำ" สำหรับ คศน. เพราะแนวคิดที่อาจารย์อยากพูดถึงต่อไปแต่ไม่มีเวลาเนื่องจากต้องเริ่มประชุมแล้ว ก็คือแนวคิดเรื่อง Social Neuron หรือการที่แต่ละคนทำหน้าที่เป็นเซลล์สมองของสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้ขีดจำกัด เกิดเป็นเครือข่ายที่ทรงพลัง...นี่คือความท้าทายของ คศน. ที่จะสานเครือข่ายให้เกิดพลังของการเรียนรู้และการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน

...แน่นอนว่า ความท้าทายนี้ก็เป็นโอกาสเรียนรู้สำคัญของทุกคนด้วยเช่นกัน 

 

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 262066เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2009 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดี ครับ

P นพ. วิรุฬ ลิ้มสวาท

 

ผมเข้ามาอ่าน คุณสมบัติ ของผู้นำ ครับ

ชอบภาวะ ผู้นำที่คุณหมอ เขียนถึง

และชอบมากขึ้น ถ้าสิ่งที่ถูกเขียน นำไปปฏิบัติกันอย่างทั่วถึง ทุกองค์กร

ขอบพระคุณมาก ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท