สำคัญแต่บำรุงดิน อย่าลืมปรับปรุงดิน


ปรุงดินให้ดี ปลูกพืชมีกำไร

ถามเกษตรกร ว่า จะปรับปรุงดินได้อย่างไร ? ร้อยทั้งร้อยจะบอกว่า ใส่มูลสัตว์บ้าง ใส่ปุ๋ยหมักบ้าง ใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง ซึ่งไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด แท้จริงแล้วดินที่ผ่านการทำการเกษตรทุกๆแห่ง สูญเสียความสมบูรณ์ สูญเสียสภาพ และสมดุลที่เหมาะสมตามธรรมชาติ จากการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี จากดิน น้ำ แดด และลม จากการเปลื่อยหน้าดิน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทำการกู้ให้ฟื้นคืนเป็นดินที่มีชีวิต สมบูรณ์ เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืช แต่การฟื้นฟูดินไม่สามารถทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ยแต่ถ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยที่วิเศษ ครบถ้วนด้วยธาตุอาหารแค่ไหน ทั้งนี้เพราะ การสูญเสียของดินจากสภาพที่กล่าวข้างต้น สูญเสียถึง 2 ส่วน คือ สภาพของดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ฉนั้น การฟื้นฟูดินก็ต้องทำใน 2 ส่วน คือ การปรับปรุงสภาพของดิน และ การบำรุงดิน ไปในที่เดียวกัน ตามลำดับ 1. การปรับปรุงดิน คือ การแก้สภาพความเป็นกรด(ดินเปรี้ยว) หรือด่าง(ดินเฝื่อน)ที่เกิดจากการทำการเกษตรให้กลับมามีสภาพที่เหมาะสมสำหรับพืช คือ เป็นกรดอ่อนๆ หรือ เป็นกลาง ข้อนี้ทำได้ต้องมีการตรวจดิน(เดี๋ยวนี้ทำได้ง่ายด้วยน้ำยาตรวจอย่างง่าย ทำเองได้)เพื่อหาค่าความเป็นกรด หรือด่างของดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรด(ดินเปรี้ยว) จากนั้นก็ใส่ปูน เช่น ปูนขาว หินบด หรือปูนโดโลไมท์ เพื่อให้ปูนไปฆ่าฤทธิ์กรดของดิน การใส่ปูนต้องใส่น้ำตามด้วยทุกครั้ง เมื่อดินมีสภาพความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมดีแล้ว จึงทำการบำรุงดินต่อไป 2. การบำรุงดิน คือ การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ด้วยการใส่อินทรีย์วัตถุ ให้ดินมีความร่วนซุย โปร่ง มีช่องว่างน้ำ อากาศมากๆ และเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ทำได้โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และ/หรือ ปุ๋ยเคมี ที่ผ่านมามักพบเสมอว่าเกษตรกรบำรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยโดยไม่ผ่านการปรับปรุงสภาพดินก่อน ทำให้พืชไม่อาจดูดซับเอาปุ๋ยจากดินไปใช้ได้ บ่อยครั้งที่พบว่าในดินมีปุ๋ยตกค้างอยู่เป็นจำนวนมากแต่พืชกลับแสดงอาการขาดปุ๋ยเนื่องจากดินเป็นกรด นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้เกาตรกรใช้ปุ๋ยอย่างพร่ำเพรืออีกด้วย การปรับปรุงดินก่อนการบำรุงดินจึงเป็นขั้นตอนเล็กๆที่สำคัญที่ช่วยแก้ปัญหามากมาย แต่เป็นสิ่งที่เกษตรกรโดยทั่วไปไม่ให้ความสำคัญ จึงอยากเน้นว่าการปรับปรุงดินเป็นการแก้ดินให้หายป่วย เมื่อหายป่วยแล้วจึงบำรุงโดยการให้ปุ๋ย

หมายเลขบันทึก: 261850เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ครับ  ผมอยากให้เกษตรกรจริง ๆ เข้ามาอ่านนะครับ  อ่านแล้วเอากลับไปทำจริง  ๆ  จะได้ประโยชน์มากที่สุดเลยครับ

 

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท