ปากคาดปากยิ้ม
สำนักงานเกษตรอำเภอปากคาด สำนักงานเกษตรอำเภอปากคาด

ยางกระทบแล้ง


ยางพารายืนต้นตาย โดยลักษณะอาการจะตายจากยอดลงมา ใบเริ่มเหลือง แห้ง และร่วงจนหมดต้น

         ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอปากคาดว่า " ยางพารายืนต้นตาย โดยลักษณะอาการจะตายจากยอดลงมา ใบเริ่มเหลือง แห้ง และร่วงจนหมดต้น จากนั้นปลายยอดและกิ่งจะเริ่มแห้งและลุกลามจากส่วนบนของลำต้นเรื่อยลงมาจน ยืนต้นตายในที่สุด จากการวิเคราะห์เบื้องต้นไม่น่าจะเกิดจากเชื้อโรคเพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสม ต่อการเกิดโรค ประเด็นที่น่าสนใจคือ สภาพดินและอากาศน่าจะเกี่ยวข้อง  เพื่อความชัดเจน  สำนักงานฯ จึงประสานไปยังศูนย์วิจัยยางหนองคาย คำตอบที่ได้คือ "ยางพารากระทบแล้ง"  เกิดอาการช็อกเนื่องจากเจอฝนหลอก (ฝนหลอกในที่นี้หมายถึง ยางพาราได้รับความชื้นจากฝนที่ตกในช่วงประมาณปลายเมษายน 1 ครั้ง ส่งผลให้ยางพาราผลิใบอ่อน  แต่แล้วสภาพอากาศก็เปลี่ยนมาแห้งแล้งอย่างหนัก  ส่งผลให้ใบอ่อนที่เพิ่งแตกออกมาใหม่เจอสภาพอากาศที่ร้อนระอุ แดดจัดเกิดอาการใบไหม้ ดังที่เห็นในภาพ

          อาการเหล่านี้เห็นชัดเจนในแปลงของเกษตรกรชื่อ นางสมเพียร เตรียมกรม เกษตรกรบ้านโสกบง ตำบลนาดง อำเภอปากคาด พื้นที่ปลูกยางประมาณ 30 ไร่ อายุ 3-4 ปี พบอาการดังกล่าว ประมาณ 70% ของแปลงปลูก มีสาเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายกับแปลงเกษตรกรรายนี้

  1. สภาพดินไม่เหมาะสม
  2. การใส่ปุ๋ยไม่ถูกต้อง (นำปุ๋ยสูตรยางใหญ่มาใส่)
  3. ขาดการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี (ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน)

        นอกจากนี้ยังมียางพาราของเกษตรกรแปลงข้างเคียง มีลักษณะอาการเช่นนี้อีก 4-5 ราย และยังพบอีก 1 รายที่ตำบลหนองยองแต่เป็นยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว ลักษณะอาการใบเหลืองทั่วทั้งต้น ใบร่วง กิ่งเริ่มแล้งลงมาจากปลายยอดจนถึงลำต้น ข้อแนะนำเบื้องต้น มีดังนี้

  1. ตัดส่วนที่แห้งทิ้ง โดยให้ห่างจากจุดที่แห้งประมาณ 10 cm.
  2. ทาแผลด้วยปูนขาวผสมน้ำในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก. : น้ำเปล่า 1 ลิตร เพื่อลดการระเหยของน้ำ
  3. ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ

       มีเหตุผลที่สนับสนุนว่าอาการผิดปกติกับยางพาราที่พบในพื้นที่ตำบลนาดงและหนองยอง เกิดจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งจริง กล่าวคือ ยางพาราบางต้น (ที่เคยใบเหลือง ร่วง) ดูสดชื่นขึ้น มีการแตกใบอ่อนหลังจากได้รับน้ำฝน 1 - 2 ครั้ง ที่ตกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม  

หมายเลขบันทึก: 261685เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าเห็นใจเกษตรกรนะครับ ช่วยเหลืออย่างไรบ้างครับ ต้องประกาศเป็นภัยพิบัติหรือไม่

เพราะทราบว่าน้ำท่วม แห้งแล้ง ผู้ว่าต้องประกาศภัย จึงจะนำเงินงบประมาณที่นายอำเภอมีอำนาจอนุมัติผ่านความเห็นของ คณะกรรมการระดับอำเภอ มาช่วยเหลือได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท