ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

การนิคมฯเดี้ยง ปรับแผนถี่ยิบ


ขณะเดียวกัน กนอ. ได้สรุปพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชพื้นที่ 25,200 ไร่ วงเงินที่รัฐบาลต้องลงทุนในการพัฒนาโครงการพื้นฐาน ท่าเรือ วงเงิน 71,074 ล้านบาท รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและน้ำมัน

 

การนิคมฯเดี้ยง

ปรับแผนถี่ยิบ

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 เมษายน 2552 00:00

โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20090407/30606/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AF%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%9A.html

ความเชื่อมั่นที่หดหาย สังเกตได้จากยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่อาการน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการนิคมฯที่ปรับแผนไปแล้วถึง 3 รอบ

มณฑา ประณุทนรพาล  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เล่าให้ฟังว่า ในปี 2552  กนอ.ได้ปรับเป้าหมายการขายพื้นที่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 2,000-2,300 ไร่ ลงเหลือ 1,500-1,800  ไร่  ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเหตุ ทำให้นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนออกไป 

เธอระบุว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ต้นตอของปัญหาเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศต้นธารของปัญหา ถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ประเทศอื่นๆทั่วโลกสะเทือนไปทั่ว การลงทุนชะงักงัน 

 ...แต่โชคร้ายที่ประเทศไทยมีมรสุมการเมืองเข้ามาอีก ยิ่งทำลายบรรยากาศและซ้ำเติมการลงทุนเข้าไปอีก

วิกฤติครั้งนี้หนักกว่าปี 2540 มาก ในปีนั้นเรายังพอส่งออกไปได้ เพราะประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในเอเชีย แต่พอมาถึงวิกฤติครั้งนี้ผลกระทบกว้าง กระทบทุกประเทศทั่วโลกเหมือนกันหมด ไม่มีกำลังซื้อ แต่ในช่วงของต้มยำกุ้งหลายๆ ประเทศมีเงินซื้อ มีเงินใช้กันอยู่มณฑา ขยายภาพ

เธอบอกอย่างวิตกว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ "ยาก" สำหรับกนอ. เพราะผ่านไปเพียง 2 เดือน ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่แล้วถึง 3 รอบ เพราะแรงกดดันจากปัญหาภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก เพื่อให้แผนรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากที่สุด

จะว่าไปแล้ว กนอ.จัดเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี ที่มีความสามารถในการทำกำไร ทว่าปัญหาที่แก้ไม่หาย คือ อัตราการเติบโตของรายได้ชะลอตัวต่อเนื่อง

มณฑา ระบุว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการเงินโลก กนอ.มีรายได้รวมโดยเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 3,000 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท แต่เมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้  ยอมรับว่าเหนื่อยกับการทำรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะกำไรที่จะต้องทำให้ได้เกิน 1,000  ล้านบาท

ยอมรับว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ รายได้ของกนอ.ลดลงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า และท่าเรือ ซึ่งปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่กนอ.ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการยังมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ขณะที่ลูกค้าสามารถลดการลงทุนหรือชะลอการทำงานออกไปได้

ผู้ว่าการนิคมฯ เล่าว่า กนอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้พยายามหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเสริมเพื่อสนับสนุน เช่น การเข้าไปซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้า 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ หรือจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ที่ขายไฟเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 40-110 เมกะวัตต์

คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี  ซึ่ง กนอ.จะประกาศเชิญชวนนักลงทุนก่อนโดยจะเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยกนอ.อาจจะเข้าไปถือหุ้นราวๆ 10-15% ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าจะคุ้มค่ากับการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือบริเวณ Inner Basin ซึ่งเป็นโครงการของบมจ.ปตท. ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

โดยทั้งสองโครงการนี้จะดำเนินการได้ในต้นปี 2553 และจะเปิดดำเนินการได้ในราวปี 2555

ขณะที่ในปี 2552 จะมีการขยายงานด้านโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจำนวน 5 แห่ง และตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ กนอ.จะพยายามแก้เกมเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าแบบสะดุดน้อยที่สุด แต่ก็ทำท่าว่าจะยังไม่เพียงพอหากรายได้หลัก มีเพียงค่าเช่า และผลตอบแทนจากการถือหุ้น เท่านั้น

การมองหาธุรกิจใหม่ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับ กนอ. โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์  และการให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง

นอกจากนี้ กนอ.ยังมีการปรับระบบบัญชี และการเงินในองค์กรเพื่อลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมไปถึงการมองหาช่องทางการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ให้มากที่สุด

มณฑา ระบุว่า การบริหารจัดการด้าน "คน" ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เธอกล่าวว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเกิดการถ่ายโอนอำนาจการบริหารงานขนานใหญ่ เพราะผู้บริหารชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลง ถ้าไม่เตรียมคนองค์กรก็อาจจะไปไม่รอด เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีปัญหาการเงินจนรัฐต้องเข้าไปอุ้ม

เมื่อเอ่ยถึงความสามารถด้านการแข่งขันของการนิคมอุตสาหกรรมกับประเทศอื่นๆ เธอให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ประสิทธิภาพการแข่งขันของโลกมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เช่น ภาษี  แต่สิ่งที่นักลงทุนจะพิจารณาเข้ามาลงทุนที่ใดนั้น คือ ความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนมากที่สุด

เธอยอมรับว่า ปัญหาภายในประเทศทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ขยาดที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่กับนักลงทุนเก่าอย่างญี่ปุ่นแล้วย่อมมีความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน กนอ. ได้สรุปพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชพื้นที่ 25,200 ไร่ วงเงินที่รัฐบาลต้องลงทุนในการพัฒนาโครงการพื้นฐาน ท่าเรือ วงเงิน 71,074 ล้านบาท รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและน้ำมัน

แบ่งเป็นที่อำเภอสิชล 11,000 ไร่ วงเงิน 32,564 ล้านบาท  อำเภอท่าศาลา 12,600 ไร่ วงเงิน 36,001 ล้านบาท และอำเภอนาบอน 1,600 ไร่ วงเงิน 2,509 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 261241เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท