หาสุขใส่ตัว : ตะบองเพชร


         ดิฉันมักโดนเพื่อนร่วมห้องทำงานเหน็บแนมทุกครั้งที่นำต้นไม้ต้นใหม่ๆ เข้ามาปลูกเพิ่ม แต่ดิฉันก็มีข้ออ้างต่างๆ นานาในการปลูกโดยเฉพาะเหตุผลที่ดิฉันต้องอยู่ที่ที่ทำงานวันนึงๆ หลายชั่วโมงเพราะฉะนั้นต้องมีมุมที่จะได้พักสายตาบ้างจนวันนี้เพื่อนร่วมห้องของดิฉันก็เลยบ่นกันไปโดยปริยาย

         เมื่อราวอาทิตย์ที่แล้ว  ต้นไม้ต้นเล็กๆ ของดิฉันก็ได้สร้างความสุขเล็กๆ ให้กับดิฉันโดยการออกดอกมาให้ได้เชยชม  ดิฉันค่อนข้างตื่นเต้นกับดอกสีชมพูอ่อนของมันเนื่องจาก  ต้นไม้ต้นนี้น่าจะเป็นต้นเดียวในบรรดาที่ดิฉันปลูกไว้ในห้องทำงานที่จะสามารถออกดอกมาได้  และมันก็เป็นการออกดอกครั้งแรกด้วย  cactus หรือที่เรามักเรียกว่า ตะบองเพชร ที่บางคนโดยเฉพาะเพื่อนร่วมห้องทำงานของดิฉันรู้สึกกลัวที่จะอยู่ใกล้เพราะหนามแหลมคม  และเราเองก็โดนหนามของมันตำอยู่หลายๆ ครั้ง จากบรรดาตะบองเพชรหลายๆ ต้นที่ดิฉันปลูกไว้  แต่จะไปโทษต้นไม้ต้นน้อยได้อย่างไรจริงมั้ยคะ  เพราะเค้าอยู่ของเค้าเฉยๆ เราเองต่างหากที่เอามือไปโดนหลามเอง (แต่ตอนนี้ดิฉันได้ย้ายต้นตะบองเพชรให้อยู่ในมุมที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นเรียบร้อยแล้วค่ะ) แต่ถ้าจะมองในมุมที่ดีการที่พวกเราในห้องโดนเจ้าหนามเล็กๆ ของต้นตะบองเพชรตำอยู่บ่อยๆ  (โดยเฉพาะต้นกลมๆ ที่ไม่มีดอกในภาพด้านล่างสุด) เนื่องจากหนามของต้นดังกล่าวเป็นหนามที่ค่อนข้างเล็ก  ติดแน่น  และเอาออกยาก  ทำให้เราได้ค้นพบวิธีในการนำหนามออกโดยการใช้สก็อตเทปติดที่ผิวหนังบริเวณที่โดนหนาม แล้วดึงเพื่อลอกเอาหนามออก  เนื่องจากแรกๆ เราคิดจะนำหนามออกโดยการไปล้างฟอกสบู่  หรือใช้แหนบดึงออกทีละหนามแต่ก็ล้วนไม่ได้ผลค่ะ

         แต่สำหรับดิฉันตอนนี้ ตะบองเพชรต้นน้อยๆ ที่ออกดอกให้ได้เชยชม  เป็นไม้ที่สร้างสุขให้ดิฉันได้ไม่น้อยโดยเฉพาะคุณสมบัติมากมาย เช่น เลี้ยงดูง่ายไม่ต้องเอาใจใส่มาก (น้อยถึงน้อยที่สุด)  มีน้ำอดน้ำทน และอายุยืน  บางทีมีวันหยุดหลายๆ วันดิฉันจะไม่ได้รดน้ำก็อยู่รอดได้ ไม่งอแง  ดิฉันจะนั่งเชยชมเจ้าดอกน้อยๆ นี้ไปจนถึงวันที่มันเหี่ยวแห้งไปเองเพื่อจดจำเอาไว้ว่าดอกสวยๆ ของมันเป็นอย่างไร  แต่ดิฉันจะไม่คิดต่อไปว่า  เจ้าตะบองเพชรต้นนี้จะออกดอกมาให้ดิฉันได้ชื่นใจอีกหรือไม่  เพราะกลัวว่ามันจะเป็นการสร้างทุกข์ให้กับตัวเองแทน ....

 เกร็ดความรู้ของตะบองเพชร (Cactus)

         แคคตัส เป็นคำมาจากภาษกรีกโบราณ เป็นชื่อเรียกไม้อวบน้ำที่มีรูปร่างแปลกๆ ไร้ใบ มีแต่หนาม แคคตัส มีถิ่นกำเนิดในภูมิประเทศแห้งแล้งทุรกันดาร จึงไม่มีใบเพื่อลดการคายน้ำ ใช้ลำต้นสีเขียวทำหน้าที่สังเคราะห์แสงแทนใบ น้ำเลี้ยงจะถูกดูดเก็บไว้ในลำต้นเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามที่ขาดน้ำ ในประเทศไทยทุกชนิดทุกสายพันธุ์ล้วนเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  และเป็นที่นิยมเพียงไม่กี่สายพันธุ์เช่น  “สลัดได”   “เสมา”   “โบตั๋น”  หรือ  “กระบองเพชร”  

         ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เริ่มมีผู้ใหญ่ในสมัยนั้นที่เป็นผู้รักต้นไม้ เช่น  ชาวสกุล  “สมบัติศิริ”   ได้เริ่มมีกระบองเพชร ชนิดใหม่ ๆ     ติดกลับมาจากต่างประเทศเพื่อการสะสม  มีการเริ่มเล่นในหมู่เพื่อนฝูงยิ่งนานไปความพึงใจในความงดงามประหลาดตา ของพันธุ์ไม้จากดินแดนทะเลทรายอันแสนไกลนี้ก็ยิ่งเพิ่มขยายขึ้นเรื่อย ๆ    เริ่มมีผู้สั่งเข้ามาจากต่างประเทศจนมีผู้นิยมกว้างขวางในประเทศไทยทุกวันนี้

         ตะบองเพชร เป็นพืชในตระกูล Cacteae ซึ่งเป็นพืชที่มีเนื้อเยื่อและน้ำมาก มันสามารถเก็บกักน้ำไว้ในใบและลำต้นกระบวนการสังเคราะห์แสงของตะบองเพชรช่วยลดกระบวนการคายน้ำและความชุ่มชื่นให้เกิดต่ำที่สุด ตะบองเพชรเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถทนความร้อนและแสงจากดวงอาทิตย์ จากกระบวนการนี้ตะบองเพชรจึงถูกนำไปเป็นส่วนประกอบที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมคอสเมติคสามารถเข้าไปศึกษาข้อแนะนำการดูแลตะบองเพชรโดยรวมได้ที่ 
www.ipst.ac.th

หมายเลขบันทึก: 260976เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2009 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท