Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ปัญหาการรับเด็กอายุ ๓ ขวบ ซึ่งเป็นบุตรของชาวพม่าเป็นบุตรบุญธรรม


ratcha987 ได้อีเมลล์มาหารือ Subject: รบกวนสอบถามเรื่องจดทะเบียนรับรองบุตร Date: Wed, 6 May 2009 07:06:42 +0700 ความว่า “เรียนท่านอ.พันธุ์ทิพย์ผมมีเรื่องอยากรบกวนสอบถามท่านอ.ดังนี้ครับ มีเด็กคนหนึ่งอายุ ๓ ขวบ เป็นชาวพม่า ถูกแม่ชาวพม่าทิ้งเอาไว้กับสองสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งแม่คนนี้ได้เคยมาทำงานรับจ้างที่บ้านนี้ แล้วก็ได้หายตัวไปติดต่อไม่ได้ ซึ่งสามีเป็นคนเชื้อชาติอินเดีย ไม่มีสัญชาติไทย แต่ภรรยาเป็นคนไทย ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทั้งสองคนต้องการจดทะเบียนรับเด็กพม่าคนนี้เป็นลูกบุญธรรม ซึ่งสิ่งที่ผมอยากเรียนถามท่านอ.ก็คือว่า - ถ้าเด็กคนนี้ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับตัวเองใดๆเลย เช่นหลักฐานการเกิด หรือหลักฐานการเข้าเมือง สองสามี-ภรรยาคู่นี้จะสามารถจดทะเบียนรับรองเป็นลูกบุญธรรมได้หรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไรบ้างครับ ผมสามารถดำเนินการติดต่อที่ไหนได้บ้างเพื่อหาข้อมูลและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วถ้าสามารถจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรมได้แล้ว จะขอสัญชาติไทยให้เด็กคนนี้ต้องทำอย่างไรครับ - แล้วถ้ามีหลักฐานว่าเด็กคนนี้เกิดในประเทศไทย แต่แม่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายหรือเข้าเมืองมาโดยถูกกฎหมาย ผลจะแตกต่างกันอย่างไร แล้วจะจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ อย่างไร รบกวนเรียนถามท่านอ.เท่านี้นะครับ ด้วยความนับถือ”

เรื่องของการรับบุตรบุญธรรมเป็นเรื่องภายใต้กฎหมายครอบครัว และเป็นเรื่องภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจมีข้อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

ในประการแรก มนุษย์ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนที่จะก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมาย ทั้งนี้ ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งข้อ ๑๖ (๑) บัญญัติว่า “ชายและหญิงเมื่อเจริญวัยบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและที่จะสร้างครอบครัวโดยไม่มีการจำกัดใด ๆ เนื่องจาก เชื้อชาติ, สัญชาติ, หรือศาสนา” และข้อ ๑๖ (๓) บัญญัติว่า ครอบครัวคือ กลุ่มซึ่งเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคมและชอบที่จะได้รับการคุ้มครองโดยสังคมและรัฐ ครอบครัวตามกฎหมายเกิดขึ้นได้ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติ และ (๒) การก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม  ดังนั้น จึงมีคำตอบในประการแรกได้ว่า สามีภริยาตามข้อเท็จจริงที่ถามมาย่อมมีสิทธิที่จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมได้ สิทธิดังกล่าวมีอยู่โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติหรือลักษณะการเข้าเมืองไทยของบิดามารดาของเด็ก

ในประการที่สอง สำหรับการพิจารณาความเป็นไปได้ในการรับบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน และหากฟังข้อเท็จจริงว่า เด็กเป็นบุตรของชาวพม่า เด็กก็น่าจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และสามีก็เป็นคนต่างด้าว กรณีจึงเป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ กรณีนี้จึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ดังนั้น จะต้องมีปัญหาการเลือกกฎหมายเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้นี้ ซึ่งการเลือกกฎหมายนี้ย่อมเป็นต้องกระทำโดยกลไกที่กำหนดโดยกฎหมายภายในไทยว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “กฎหมายขัดกัน”  ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น สำหรับกลไกการเลือกกฎหมายว่าการรับบุตรบุญธรรม ก็คือ มาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ กำหนดว่า

ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติอันเดียวกัน การรับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น ๆ

ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย   แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม      ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม

สิทธิและหน้าที่ระหว่างบุตรบุญธรรมกับครอบครัวของตนตามกำเนิดนั้นให้  เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม

โดยพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่า ความเป็นไปได้ที่จะรับเด็กตามข้อเท็จจริงเป็นบุตรบุญธรรมย่อมเป็นไปตาม   กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น ๆ” หรือ “กฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย  ดังนั้น คำถามต่อไป ก็คือ เด็กมีสัญชาติอะไร ? และใครคือผู้รับบุตรบุญธรรม สามีหรือภริยาหรือทั้งคู่ ? แล้วผู้รับบุตรบุญธรรมมีสัญชาติอะไร ?

        ข้อเท็จจริงนี้ต้องมีมาก่อนจึงจะพิจารณาเลือกกฎหมายที่มีผลกำหนดความเป็นไปได้ของการรับบุตรบุญธรรมที่จะเกิดขึ้น

        หากการเลือกกฎหมายในที่สุดนำไปสู่การใช้กฎหมายไทย ก็หมายความว่า จะต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ซึ่งมาตรา

ในประการที่สาม เมื่อประเด็นตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวฟังได้แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรับบุตรบุญธรรม จึงจะไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ แต่หากไม่มีความเป็นไปได้ที่จะรับบุตรบุญธรรม จึงจะไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้ กระบวนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ซึ่งหากจะจดทะเบียนในประเทศไทย ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ (๑) พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒  ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๓ และ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒

โดยมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า “การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีการทดลองเลี้ยงดูและได้รับอนุมัติให้รับเป็นบุตรบุญธรรมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้”  ซึ่งรายละเอียดเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๓)

        ในประการสุดท้าย เรื่องของสัญชาติไทยนั้น หากเด็กเกิดในประเทศไทย ก็อาจร้องขอสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน (มาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง[1] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไข พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ศ.๒๕๕๑) หรือหากเด็กเกิดนอกไทย ก็อาจจร้องขอสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  (มาตรา ๑๒/๑ (๓)[2]  แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไข พ.ศ.๒๕๕๑) หากมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลได้เห็นชอบที่จะให้สัญชาติไทยแก่ “กรณีบุคคลที่ไม่ทราบแหล่งที่มา” กล่าวคือ (๑)  ให้บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ได้รับสัญชาติไทย   เมื่อมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการและอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ ปีขึ้นไป  ทั้งนี้บุคคลดังกล่าวต้องมีความประพฤติดี  และ/หรือประกอบอาชีพสุจริต และ (๒)  สำหรับบุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่ได้รับสถานะเป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งของศาลให้ได้รับสัญชาติไทย

        ขอตอบแค่นี้ก่อนแล้วกันค่ะ มีอะไรที่อยากแลกเปลี่ยนกันว่ากันอีก



[1] “ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

[2] ผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีและมีหลักฐานแสดงให้เชื่อได้ว่าเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)”

หมายเลขบันทึก: 260316เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2009 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ.แหววครับ

1.ตามพ.ร.บ.สัญชาติ ม.12/1(3)ผมอ่านไปอ่านมาสับสน คือในกรณีที่เด็กไม่ได้เกิดในประเทศไทย ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่สามารถขอแปลงสัญชาติให้แก่บุตรได้ เนื่องจากบุตรนั้นต้องมี คุณสมบัติตามม.10(1)(3)ใช่ไหมครับ แต่หากเด็กคนนั้นเป็นคนไร้รากเหง้าด้วย จะต้องมีคุณสมบัติตามม.10(1)(3) ด้วยหรือไม่เนื่องจากในยุติศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 18 ม.ค.2548ไม่ได้กล่าวไว้

2.กรณีตามตัวอย่างจาก e-mail หากภรรยาคนไทยจะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากชายอินเดีย ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาตามกฎหมายอินเดียว่ามีเงื่อนไขในการให้ความยินยอมแก่คู่สมรสเป็นอย่างไรด้วยใช่ไหมครับ

ดังนั้นการรับบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทยที่เป็นโสด(ไมว่าจะโดยพฤตินัย หรือนิตินัย)ย่อมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากน้อยกว่าการรับบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทยที่จดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ เพราะไม่ต้องพิจารณาเงื่อนไขให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมด้วย

3.หากเด็กไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ว่าตนเองมีสัญชาติอะไรก็ไม่ต้องพิจารณาตามพ.ร.บ.ขัดกัน ใช่หรือไม่ครับ เพราะโดยข้อเท็จจริงเด็กที่ถูกทอดทิ้งในประเทศไทยอาจไม่มีหลักฐานประจำตัวอะไรสักอย่าง แม้แต่ท.ร.1/1 หรือเอกสารใด ๆ ที่บ่งบอกว่าเกิดในต่างประเทศ

4.กรณีตามตัวอย่างหากเด็กคนนี้ยังไม่มีเลข 13 หลัก เมื่อได้รับการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมเรียบร้อยแล้ว มารดาบุญธรรมจะนำเด็กเข้าสู่ทะเบียนราษฏร และให้ใช้นามสกุลของมารดาบุญธรรมโดยอาศัยช่องทางใด

สวัสดีค่ะ ดิฉันถูกพ่อแม่ที่เป็นต่างด้าว(เข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย)ทอดทิ้งตั่งแต่เยาว์วัยซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีรับไปเป็นบุตรบุญธรรมและทั้งสองท่ายนั้นมีสัญชาติไทยที่สำคัญตอนนี้ได้หนังสือรับรองบุตรบุญธรรมเรียบร้อยแล้วค่ะ ดิฉันมีแต่ใบเกิด ซึ่งในใบเกิดไม่มีชื่อพ่อที่แท้จริง ดิฉันจะต้องทำยังไงถึงจะได้เข้าทะเบียนบ้านของพ่อแม่บุญธรรมที่มีสัญชาติหรือค่ะ แล้วจะทำยังไงถึงจะได้รับสัญชาติไทย ช่วยดิฉันด้วยนะค่ะ

ตอนนี้ประสบปัญหาเช่นเดียวกันค่ะ อุปการะเด็กต่างด้าว เลี้ยงมาตั้งแต่ 2 เดือน (สัญชาติพม่า) น้องเกิดในประเทศไทย พ่อและแม่ติดต่อไม่ได้ น้องไม่มีเอกสารใดๆ นอกจากใบเกิด ตอนนี้น้องเรียนอยู่ ป.6 จะขึ้น ม.1 แล้ว กลัวน้องเรียนต่อไม่ได้ ทำอย่างไรดีค่ะ ร้อนใจมากๆ

ตอนนี้ประสบปัญหาเช่นเดียวกันค่ะ อุปการะเด็กต่างด้าว เลี้ยงมาตั้งแต่ 2 เดือน (สัญชาติพม่า) น้องเกิดในประเทศไทย พ่อและแม่ติดต่อไม่ได้ น้องไม่มีเอกสารใดๆ นอกจากใบเกิด ตอนนี้น้องเรียนอยู่ ป.6 จะขึ้น ม.1 แล้ว กลัวน้องเรียนต่อไม่ได้ ทำอย่างไรดีค่ะ ร้อนใจมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท