คุยกันฉันเพื่อน.....สถานการณ์ ไข้หวัดแม็กซิโก ในไทย


ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติด “หวัดเม็กซิโก”

ด่วน! ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติด “หวัดเม็กซิโก” หลังเดินทางมาจากเมืองจังโก้ รพ.จุฬาฯ เตรียมแถลง 16.00 น.นี้ กรมวิทย์เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์แยกเชื้อไข้หวัดใหญ่ เม็กซิโก ประสานเครือข่ายฯ ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ มีศักยภาพสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสพันธ์ใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อต้นแบบจากฮู อาศัยถอดรหัสพันธุกรรมเทียบได้ ชี้ต้องตรวจยืนยันผลรอบคอบ 2 ครั้ง มั่นใจก่อนประกาศผลหากพบผู้ติดเชื้อ สธ.เพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มข้น สกัดไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกไม่ให้ขยับเป็นระดับ 5 ชี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถือเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของศูนย์ ปฏิบัติการทั้งหมด โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศ เม็กซิโก โดยการพัฒนาวิธีการตรวจชันสูตรและจัดตั้งระบบการเฝ้าระวังโรคให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ โดยในส่วนกลางได้มีการประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์ประสานกฎอนามัยระหว่างประเทศด้านห้องปฏิบัติการ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการที่อ้างอิงระดับชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจาก องค์การอนามัยโลก รวมถึงโรงพยาบาลที่เป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจพิสูจน์เชื้อ ไวรัส ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนในภูมิภาคมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งที่สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้อย่างครอบคลุมทั่ว ประเทศ รวมถึงรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ หรือรถโมบายแล็บที่สามารถให้บริการทราบผลภายในเวลา 4 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งประสานโรงพยาบาลมหาวิทยาแพทย์ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น

“เมื่อ พบผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่เม็กซิโกจะมีการตรวจหาสาร พันธุกรรมและแยกเชื้อเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะส่งเชื้อเพื่อตรวจยืนยันผลอีกครั้งที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะสามารถรายงานผลได้ในระเวลา 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่ได้รับตัวอย่าง และหากยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แน่นอนแล้วจะนำข้อมูลและเชื้อ ไวรัสเหล่านี้แลกเปลี่ยนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมทั้งแจ้งไปยังศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณ สุข (วอร์รูม) เป็นผู้ประกาศยืนยันพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง”นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า การตรวจยืนยันผลว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศหรือไม่ ต้องมีความแม่นยำและชัดเจน เนื่องจากเมื่อประกาศออกไปจะส่งกระทบเป็นวงกว้างไม่เฉพาะสุขภาพเท่านั้น แต่ยังต้องปรับมาตรการในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ซึ่งหากเกิดการตื่นตระหนกอาจผลกระทบกับสังคม และเศรษฐกิจด้วย

**ไทยตรวจพบเชื้อได้โดยไม่ต้องใช้เชื้อต้นแบบ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ตามเกณฑ์การเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคจะมีการแยกผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงรุนแรงไว้อยู่แล้ว เช่น เป็นผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจทุกคน ซึ่งขั้นตอนจากนั้นจะมีการตรวจหาสารพันธุกรรมและแยกเชื้อโดยจะสามารถทราบได้ ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอหรือไม่ ภายใน 4 ชั่วโมง แล้วจึงตรวจสอบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ สายพันธุ์ใด ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ถ้าตรวจสอบว่ามีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่กลายพันธุ์ ก็จะมีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือต้องรู้ตัวผู้ป่วยคนแรกให้เร็วที่สุด

“ขณะ นี้ไทยไม่จำเป็นต้องรอเชื้อไวรัสต้นแบบขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์แยกเชื้อมีหลายรูปแบบที่จะยืนยันว่าเป็น สารพันธุกรรมเดียวกันกับเชื้อไวรัสต้นแบบหรือไม่ โดยมีความสามารถในการถอดรหัสพันธุ์กรรมว่าเป็นไข้หวัดชนิดเอหรือไม่ สายพันธุ์ไหน เป็นสายพันธุ์ที่มีตามฤดูกาลอยู่แล้ว หรือสายพันธุ์ใหม่ โดยนำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุ์กรรมของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ แล้วเกือบ 10 ตัว ดังนั้น ขอให้สบายใจได้”ศ.นพ.ยง กล่าว

กรมควบคุมโรคเพิ่มมาตรการคัดกรองเข้ม
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และ สาธารณสุข จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มาจาก เม็กซิโก เป็นระดับ 4 ว่า การยกระดับขึ้นเป็นระดับ 4 คือ มีการติดต่อจากคนสู่คนเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม -ปัจจุบัน โดยมีการแพร่ระบาดขยายพื้นที่ในเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก และชายแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการแพร่ระบาดระดับ 4 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความสำคัญ หากควบคุมการระบาดไม่ได้ และขยับระดับเป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นการระบาดข้ามประเทศในทวีปเดียวกัน จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ จะต้องให้การสนับสนุนในการป้องกันเชื้อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้างด้วย

นพ.คำนวณ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย หลังจากมีการประกาศยกระดับสถานการณ์ แม้จะยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทยก็จะต้องใช้มาตรการป้องกันที่เพิ่มขึ้น โดยการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเข้ามาในประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเดินทางเข้าประเทศ หากพบผู้ต้องสงสัย หรือผู้ป่วย จะต้องสามารถสกัดและควบคุมการแพร่เชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นผู้ที่เดินทางที่มาจากพื้นที่เสี่ยงซึ่งโรคอาจอยู่ในระยะฟักตัวซึ่ง ต้องสังเกตอาการในช่วง 7-10 วันหลังจากเดินทางกลับมา ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มีการเรียกประชุม สมาคมนักท่องเที่ยว ในวันที่ 29 เมษายนนี้ เพื่อชี้แจงมาตรการการดูแลลูกทัวร์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังหากมีอาการเจ็บป่วย ให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

นพ.คำนวณ กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เพิ่มการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จากเดิมที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดนก 3 ข้อ เป็น 5 ข้อ คือ 1. อยู่ในพื้นที่ที่มีการป่วยตายของสัตว์ปีก 2.มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก 3.ใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วย 4.เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดเม็กซิโก และ5.เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หากผู้ป่วยมีประวัติเข้าข่ายนิยามโรคก็จะต้องแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยอื่น และทำการส่งเชื้อตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม การรายงานตัวเลขผู้ป่วยของประเทศต่างๆ เช่น สเปน นิวซีแลนด์ ในขณะนี้ยังเป็นเพียงผู้ป่วยต้องสงสัยเท่านั้น เนื่องจากมีอาการไข้หลังจากเดินทางกลับประเทศเสี่ยง ซึ่งต้องรอการยืนยันผลที่ชัดเจนเช่นกัน จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก

” ขณะที่ในเม็กซิโกมีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเต็มที่ โดยห้ามกิจกรรมการชุมนุมทุกประเภท เช่น โรงภาพยนตร์ การเข้าโบสถ์ ปิดโรงเรียน ป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากาก และคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก มีการประชุมประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา หากพบว่ามีการแพร่ระบาดข้ามทวีปที่ไม่ใช่เป็นการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจาก ประเทศเม็กซิโก ก็อาจจะมีการยกระดับสถานการณ์การระบาดเป็นระดับที่ 5 แต่หากไม่พบผู้ป่วยเพิ่มหลังจากพบผู้ป่วยสุดท้ายทิ้งช่วงนาน 2-3 สัปดาห์ อาจมีการลดระดับการระบาดเพราะถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว”นพ.คำนวณ กล่าวว่า

**พบบุคลากร “จุฬาฯ”เข้าข่ายเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีคนไทย 2 คนต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไข้หวัดเม็กซิโก หรือไข้หวัดหมูเนื่องจากมีประวัติเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวในช่วงต้นเดือน เม.ย. นั้น

นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นทาง รพ.จุฬาฯได้รับผู้ป่วยหญิงวัย 42 ปี ซึ่งเป็นบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมารักษาในโรงพยาบาล 1 ราย โดยผู้ป่วยมาด้วยอาการไข้สูง จากการซักประวัติ ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่า ได้เดินทางไปร่วมประชุมที่ประเทศเม็กซิโกระหว่างวันที่ 3-11 เมษายนที่ผ่านมา และเริ่มมีไข้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลด จนกระทั่งเช้าวันที่ 28 เม.ย.มีไข้ขึ้นสูงมาก จึงมาพบแพทย์ที่ รพ. หลังซักประวัติแพทย์รับตัวไว้รักษาและส่งเสมหะเพื่อตรวจยืนยันเชื้อทางห้อง ปฏิบัติการ แต่ยังไม่สรุปว่าผู้ป่วยรายนี้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดเม็กซิโกหรือไข้หวัดหมูไม่

ทั้ง นี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะแถลงข่าวดังกล่าว ในเวลา 16.00 น.ที่ รพ.จุฬาฯ อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ฯ (อปร.) โดย ASTVผู้จัดการฯ จะติดตามรายละเอียดมานำเสนอต่อไป

หมายเลขบันทึก: 260185เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เฝ้าระวังต่อไป พบว่าเป็นต้องรีบรักษา และป้องกันภาวะแทรกว้อน ที่สำคัญคนที่สัมผัส ต้องเฝ้าระวังต่อค่ะ

เราก็ต้องระวังมันรามมาถึงไทยของเราแล้วนะค่ะ.........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท