อาหารสมอง ยามเช้า


สมอง

อาหารป้องกันสมองเสื่อม 

 

อาหารป้องกันสมองเสื่อม
 
 
 
 
 
 
 

  
อาหารป้องกันสมองเสื่อม

   การมีอายุยืนเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันอาจต้องประสบกับปัญหาสมองเสื่อม ซึ่งมีผลต่อความจำ ความเฉลียวฉลาด ความคิดเป็นเหตุเป็นผล และการทำงานของสมอง ซึ่งอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมสูงถึง 50-70% ซึ่งอัลซัลเมอร์เป็นเพียงชนิดหนึ่งของอาการสมองเสื่อมเท่านั้น  โรคสมองเสื่อมจึงไม่ได้หมายถึงโรคอัลไซเมอร์เสมอไป

  ลักษณะสำคัญของอัลไซเมอร์คือเซลล์สมองหรือเซลล์ประสาทเสื่อม และมีการสะสมโปรตีนชนิดหนึ่งในสมองเรียกว่า เบต้า-อะมีลอยด์พลัค เชื่อกันว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการอักเสบในสมองมีบทบาทสำคัญในการเกิดโรค ในขณะที่ปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจมีเพียง 5% แต่ปัจจัยสิ่งแวดล้อมรวมทั้งอาหารมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่า

  สมองเสื่อมจากระบบหลอดเลือดเป็นอีกรูปหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดสโตร๊คหรือเส้นเลือดในสมองตีบ ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง ความจำที่ถดถอยอาจมาจากการเกิดมินิสโตร๊คหลายครั้ง เกิดการตีบของหลอดเลือดขนาดเล็กซึ่งค่อยๆ ทำอันตรายเซลล์สมองอย่างช้าๆ อาหารจึงมีผลต่อการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างชัดเจน

  การวิจัยในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่บริโภคอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของหัวใจก็จะทำให้สมองได้รับอานิสงค์นั้นด้วย งานวิจัยหลายผลงานเปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลให้เซลล์สมองเสื่อมและนำไปสู่โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหลอดเลือด เบาหวานและโรคอ้วน และคนที่มีโรคเหล่านี้ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูง สิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของหลอดเลือดใหญ่ย่อมส่งผลต่อหลอดเลือดเล็กในสมอง และหากการไหลเวียนของเลือดในสมองลดลงก็จะก่อให้เกิดปัญหาหลงลืมเนื่องจากสมองเสื่อม การรักษาสุขภาพของหลอดเลือดซึ่งต้องอาศัยเรื่องของอาหารและการออกกำลังกายจึงช่วยดูแลสุขภาพสมองไปในตัว

• ไขมันเลว ศัตรูสมอง อาหารไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว นอกจากเป็นปฏิปักษ์กับโรคหัวใจแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ถึง 2 เท่าตัวด้วย เช่นเดียวกับที่ไขมันทรานซ์ (มาการีน) เพิ่มความเสี่ยง 2-3 เท่า
• คอเลสเทอรอลเพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อม ระดับคอเลสเทอรอลที่ขยับสูงขึ้นตอนวัยกลางคน เป็นตัวชี้วัดที่ดีของการเกิดโรคอัลไซเมอร์เมื่อแก่ตัวลง เพราะคอเลสเทอรอลสูงเป็นสาเหตุของเส้นเลือดแดงตีบ รวมทั้งเส้นเลือดในสมองตีบ และยังมีส่วนในการเกิดเบต้า-อะมีลอยด์พลัคอีกด้วย
• ความดันโลหิตสูงเร่งโรคสมองเสื่อม โรคความดันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อมจากสภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับความดันโลหิตต่ำซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง
• แอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ถ้าดื่มแต่น้อยจะช่วยป้องกันสมองเสื่อม แต่ถ้าดื่มชนิดไม่บันยะยันยังก็จะเร่งให้สมองเสื่อมและเกิดโรคอื่นๆได้   กฏในการดื่มคือผู้ชายวันละไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ ผู้หญิงไม่เกินวันละ 1 ดริ๊งค์ วันที่ไม่ดื่มไม่มีการยกยอดไปรวม (ปริมาณมาตรฐานของ 1 ดริ๊ง คือ  เบียร์ 360 มิลลิลิตร (1 กระป๋อง) หรือไวน์ 120 มิลลิลิตร หรือวิสกี้ 45 มิลลิลิตร)
• คุมเบาหวานไม่ดีเร่งสมองเสื่อม  สำหรับคนที่เป็นเบาหวาน หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอย่างชัดเจน มีบางงานวิจัยแสดงความสัมพันธ์ให้เห็นว่าแม้แต่อาการเตือนเบาหวานก่อนที่เบาหวานจะมาเยือนเต็มตัวก็เพิ่มปัญหาความจำเสื่อมเสียแล้ว ในทำนองเดียวกันระบบการทำงานของหลอดเลือดที่เพี้ยนไปจากปกติ เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น และระดับอนุมูลอิสระที่สูงขึ้นก็มีส่วนเร่งการทำลายสมองด้วยเช่นกัน

สารอาหารป้องกันสมองเสื่อม

• วิตามินบี วิตามินบีบางชนิด เช่น กรดโฟลิค บี6 บี12 ช่วยควบคุมระดับกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซิสเตอีน มีหลายงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่มีอัลไซเมอร์จะมีระดับของสารโฮโมซิสเตอีนในเลือดสูง อาหารที่ช่วยเพิ่มกรดโฟลิคและบี6 ได้แก่ ถั่วต่างๆ น้ำส้มคั้น กล้วย ธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียวจัด เนื้อสัตว์ สัตว์ปีกและอาหารทะเล ส่วนบี12 มีมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ไข่และนม
• สารแอนติออกซิแดนท์ ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสารแอนติออกซิแดนท์ เช่น วิตามินซีและอี มีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม ในแต่ละวันสมองของคนเราผลิตอนุมูลอิสระมากมายทำลายเซลล์สมอง โชคดีที่วิตามินซีและอีจากอาหารช่วยลดอนุมูลอิสระ ป้องกันอันตรายต่อเซลล์สมอง งานวิจัยในสัตว์พบว่าการเสริมวิตามินอี ช่วยให้ความจำ การเรียนรู้ดีขึ้นและลดอันตรายที่จะเกิดกับเซลล์ประสาท
   งานวิจัย CHAP (Chicago Health and Aging Project) ในสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์พบว่า วิตามินอีลดความเสี่ยงการเกิดอัลไซเมอร์ 67% และคนที่รับประทานอาหารที่มีวิตามิน ซีและอีสูง จะมีปัญหาโรคสมองเสื่อมน้อย
   ทุกวันนี้ ข้อมูลการวิจัยให้เครดิตกับอาหารที่มีแอนติออกซิแดนท์สูงมากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร งานวิจัย CHAP ยังพบว่า เฉพาะอาหารที่มีวิตามินอีสูงให้ประโยชน์ต่อการป้องกันสมองเสื่อม นักวิจัยเตือนว่าการเสริมผลิตภัณฑ์แอนติออกซิแดนท์ในปริมาณสูงอาจจะเป็นอันตรายกับร่างกายได้
   อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ บรรดาส้มทั้งหลาย ฝรั่ง มะเขือเทศ กีวี พริก กะหล่ำปลีและบร็อคโคลี เป็นต้น
   อาหารที่มีวิตามินอีสูง ได้แก่ น้ำมันพืช วีทเจิร์ม อะโวคาโด อัลมอนด์ ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอนัท และเมล็ดดอกทานตะวัน
• เสริมสมองด้วยอาหารปลา เยื่อหุ้มสมองของคนเรามีปริมาณไขมันสูงรองจากแหล่งสะสมไขมันในร่างกาย ส่วนของสมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงเป็นส่วนที่มีกรดโอเมกา 3 สูง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่มีในปลาทะเล
   ทั้งงานวิจัย CHAP และ Rotterdam พบว่า การกินปลาแม้สัปดาห์ละครั้งก็ช่วยลดความเสื่อมโรคอัลไซเมอร์ได้แล้ว เนื่องจากกรดโอเมกา3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของเซลล์สมอง
ผลิตภัณฑ์เสริมที่เสริมการทำงานของสมอง
• วิตามินรวม อายุที่มากขึ้นหรือการใช้ยาบางชนิดมีผลลดการดูดซึมสารอาหาร การเสริมวิตามินรวมจะช่วยเพิ่มสารอาหารที่สมองต้องการได้ วิตามินบี12
   การบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงและการใช้ยาประเภทยับยั้งกรด (acid blockers) จะยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12 ทำให้ระดับวิตามินในเลือดลดลง การตรวจเลือดจะช่วยให้ทราบว่ามีความจำเป็นในการเสริมบี12 หรือไม่
• สารสำคัญที่ควรจับตามอง
   ขมิ้น เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมากในอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาอัลไซเมอร์น้อยที่สุด ข้อมูลการวิจัยก่อนหน้านี้คาดว่าสารสีเหลืองในขมิ้นหรือเคอร์คิวมินจะช่วยยับยั้งการเกิดพลัคในสมองได้
   ฮิวเปอร์ซีนเอ  สมุนไพรจีนสกัด ช่วยยับยั้งการสลายตัวของสารอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อสมองช่วยในเรื่องของความจำ แต่สารตัวนี้ยังไม่มีข้อมูลการใช้ในระยะยาว
ข้อแนะนำเพื่อป้องกันสมองเสื่อม

   ข้อมูลการวิจัยทุกวันนี้ เน้นย้ำอาหารที่ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังอันประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว  (จากน้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ และน้ำมันจากปลา) ผักผลไม้ และเน้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลทะนุทะนอมหลอดเลือดอย่าให้มีปัญหาจะช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมไปได้ในตัว

 
 
 อ้างอิง   http://images.google.co.th/imgres?imgurl
A

คำสำคัญ (Tags): #สมอง
หมายเลขบันทึก: 260088เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท