ปลูกไผ่ไว้กันลม


       ผู้เขียนสังเกตว่าในหมู่บ้านนาทราย อำเภอไชยา ชาวบ้านจะปลูกไผ่ไว้หน้าบ้าน รวมทั้งบ้านของแม่ด้วย ผู้เขียนถามแม่ว่า ทำไมถึงปลูกหน้าบ้านไม่ปลูกหลังบ้าน หรือข้างบ้าน การปลูกหน้าบ้านปิดบังทัศนียภาพ หรือพูดกับแม่ตรงๆว่าทำให้ไม่เห็นวิวสวยด้านหน้าบ้านเลย หน้าบ้านจะเป็นทุ่งนามองสุดลูกหูลูกตาสวยงามทีเดียว

       แม่ตอบว่า ไผ่ที่ปลูกไว้หน้าบ้านปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ หมู่บ้านของเราทิศตะวันออกติดต่อกับทะเล เป็นทิศทางที่ลมพัดมาจากทิศตะวันออก เป็นลมตะวันออก หรือลมว่าวและลมพายุ ไผ่เป็นต้นไม้ที่ดีที่สุดสำหรับกันลม ทำให้บ้านไม่พัง กระเบื้องไม่ปลิว เวลาลมแรงมากๆชาวบ้านทุกคนก็ไม่สบายใจ ทุกบ้านจะใช้มีดขัดร่อง(ร่องกระดานพื้นบ้าน)เป็นเคล็ดให้ลมเบาลงตามความเชื่อ

       แม่เล่าว่า คนโบราณเขาไม่ค่อยได้เรียนหนังสือแต่เขาก็มีประสบการณ์ชีวิต และสอนคนรุ่นหลังๆต่อๆกันมา แม่ก็ทำตามปู่ย่าตาทวดที่สอนแม่มา หน้าบ้านของเรานอกจากปลูกไผ่แล้วก็ยังปลูกพุทธรักษาด้วย ความหมายคือให้คุณพระพุทธคุ้มครองรักษาบ้าน รักษาคน ปลูกมะยมหน้าบ้าน เพื่อให้เพื่อนบ้านนิยมยกย่อง หลังบ้านก็ปลุกขนุนเพื่อให้มีผู้อุดหนุนส่งเสริม

       ต่อมาผู้เขียนได้เล่าเรียนหนังสือจึงอ๋อทันทีเลยว่า ลมตะวันออกของแม่ก็คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดจากผืนแผ่นดินสู่ทะเลผ่านภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลมมรสุมฤดูหนาวนี้จะพัดพาลมหนาวมาทำให้ภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคใต้จะหนาว ภาคใต้เองฝนจะตก ลมจะแรง อันเนื่องมาจากการพัดของลมและแนวปะทะระหว่างลมมรสุมฤดูร้อนกับหนาวทำให้เกิดร่องมรสุม ลมจะแรง ฝนจะตกหนัก ผนวกกับลมพายุจากทะเลจีนใต้ก็จะทำให้บ้านปะทะลมอย่างจัง จนทำให้บ้านพังกันมาแล้ว และหน้านี้เองที่เขาเล่นว่าวกัน

       ปัจจุบันบ้านเรือนสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรง คนก็เริ่มไม่ค่อยกลัวลม ตัดต้นไผ่ออกทำเป็นรั้วแทน แต่ที่สำคัญเรื่องราวของแม่ทำให้รู้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน

 

      

หมายเลขบันทึก: 259977เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2009 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วต้องบอกว่าชอบจัง เวลาที่พูดถึงเรื่องภูมิปัญญาไทยแล้ว เรื่องเล่าและคำอธิบายที่มี ถึงแม้จะไม่ได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์มากนัก แต่ก็เป็นเหตุและผลที่เกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งเวลาฟังทำให้นึกถึงคุณค่าการเรียนรู้ที่สืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลาน

ขอบคุณมากค่ะ ดิฉันได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณมะปรางเปรี้ยว

. ขอบคุณมากค่ะที่แวะเข้ามาทักทาย เยี่ยมเยียน และให้กำลังใจกัน แม่เรียนรู้จากประสบการณ์และการสั่งสอนเล่าต่อกันมา ส่วนคนในปัจจุบันก็ได้จากการเรียนรู้จากครูและตำรา หรือทั้งสองอย่าง แต่บางอย่างตำราไม่มีจึงต้องเอามาเล่าต่อเพราะคิดว่ามีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

จากธรรมชาติของไผ่สามารถนำไปสอนนักเรียนได้ตามโคลงนี้ค่ะ

ไม้ค้อมมีลูกน้อม   นวยงาม
คือสัปบุรุษสอนตาม   ง่ายแท้
ไม้ผุดังคนทราม   สอนยาก
ดัดก็หักแหลกแล้   ห่อนเรื้อโดยตาม๚ะ๛

 

 

.สวัสดีค่ะ พี่จุ๋ม

.ขอบคุณกัลยาณมิตรมากๆค่ะที่เข้ามาแนะนำ จะนำไปใช้ต่อไปค่ะ

ดีครับ ขอบคุณสำหรับสิ่งดีที่มีมาให้ตลอดครับ

สวัสดีค่ะคุณ ดร.เมธา สุพงษ์

.ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามาเยี่ยมเยือน และดีใจที่ให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท