พุทธพยากรณ์


ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล

ได้ทรงสุบินนิมิตประหลาดถึง 16ประการ ทรงเกรงว่าอันตรายจะเกิดกับ

พระองค์ จึงให้พราหมณ์ปุโรหิตทำนาย พราหมณ์ได้พยากรณ์ว่า

อันตราย จะเกิดมีแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ พระอัครมเหสีและราชสมบัติ

และได้ทูลแนะนำให้ฆ่าสัตว์บูชายัญสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อ ใน

ลัทธิของตน



แต่โชคดีที่พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีได้แนะนำให้

พระเจ้าปเสนทิโกศล ไปทูลถามพระบรมศาสดาก่อน

พระองค์ทรงมีพุทธฎีกา ทำนายว่า ผลของพระสุบินนิมิตจะไม่เกิดแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล

แต่จะเกิดขึ้น ในอนาคตกาล ถ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง

ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ชนทั้งหลายย่อหย่อนในศีลธรรม

จิตใจเสื่อมคลายจากกุศล ก็จะเกิด

เหตุวิปริตผิดธรรมชาติ บ้านเมืองจะเดือดร้อน แล้วทรงพยากรณ์

พระสุบินนิมิตเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้



ข้อ1 โคหนุ่ม4ตัว ตั้งท่าจะวิ่งมาชนกันจากทิศทั้ง4แต่แล้วก็ไม่ชนกัน

ต่างถอยหลีกออกไป



พุทธพยากรณ์ ในกาลที่ความดีลดน้อยถอยลงความชั่วหนาแน่น

เป็นกาลที่โลกเสื่อมถอย ฝนจะแล้ง ทำให้ข้าวกล้าแห้งเกิดทุพภิกขภัย

แม้จะมีมหาเมฆตั้งขึ้นจากทิศทั้ง 4 ตั้งเค้าจะตก แต่ก็ไม่ตก

กลับลอยหาย ไปเป็นเหมือนโคตั้งท่าจะชนกันแล้วไม่ชนฉะนั้น



ข้อ 2 ต้นไม้เล็กๆ แทรกแผ่นดินขึ้นมาได้คืบหนึ่ง ก็ผลิดอกออกผลไปตามกัน



พุทธพยากรณ์ ในกาลที่โลกเสื่อม มนุษย์มีอายุสั้นลง

ชนทั้งหลายจะมีราคะกล้า เยาวชนพากันมีเพศสัมพันธ์ มีครรภ์มีครอบครัว

ตั้งแต่ยังแรกรุ่นเป็นเหมือนต้นไม้เล็กๆ ผลิดอกออกผลฉะนั้น



ข้อ 3 แม่โคใหญ่พากันดื่มนมของลูกโค



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ชนทั้งหลายจะพากัน

กระด้างละทิ้งประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ยำเกรงเคารพนับถือในบิดา

มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย หาทรัพย์ได้แล้วไม่บำรุงบุพการีทั้งหลาย

ผู้ใหญ่ที่แก่เฒ่าหาเลี้ยงตนไม่ได้ ต้องอ้อนวอนลูกหลานเลี้ยงชีพ

เป็นเหมือนแม่โคใหญ่ พากันดื่มนมลูกโคฉะนั้น



ข้อ 4 ชนทั้งหลายไม่ใช้โคใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรง กลับใช้โครุ่นที่กำลัง

ฝึกใหม่ๆ โครุ่นเหล่านั้นไม่สามารถพาแอกไปได้ พากันสลัดแอกออก

ยืนเฉยอยู่



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง

ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ไม่แต่งตั้งผู้ใหญ่ที่เป็นบัณฑิต ฉลาดในการยังภาระ

กิจของชาติให้ลุล่วงไปได้ ฉลาดในการวินิจฉัยคดีในโรงศาล

ตรงกันข้ามกลับแต่งตั้งคนหนุ่ม ผู้อ่อนประสบการณ์ ไม่รู้สิ่งที่ควรไม่ควร

ไม่สามารถทำให้ภาระกิจทั้งหลายให้ลุล่วงไปได้

ผู้คนอ่อนประสบการณ์ต่างพากันทอดทิ้งภาระทั้งหลายที่ได้รับ

มอบหมาย ความเสื่อมจึงเกิดขึ้นแก่บ้านเมือง เป็นเหมือนคนจับเอาโครุ่นๆ

กำลังฝึก มาเทียบแอก ต่างก็ไม่สามารถพาแอกไปได้ ไม่เอาโคใหญ่ๆที่เคยพาแอกไปได้เทียมฉะนั้น



ข้อ 5 ม้าตัวหนึ่งมีปากสองข้าง ชนทั้งหลายให้หญ้าที่ปากทั้งสอง

ม้าก็เคี้ยวกินหญ้าที่ปากทั้ง2ข้าง



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหาร

บ้านเมืองไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม จะแต่งตั้งชนผู้ไม่หนักแน่นในธรรม

ไว้ในตำแหน่งวินิจฉัยคดี คนพาลเหล่านั้น ไม่ละอาย ไม่กลัวบาป

รับสินบนจากคู่คดีทั้งสองฝ่ายเป็นเหมือนม้ากินหญ้าด้วยปาก

ทั้งสองฉะนั้น



ข้อ 6 มหาชนขัดถูถาดทองคำมูลค่าเรือนแสน ไปให้สุนัขจิ้งจอกแก่

ถ่ายปัสสาวะใส่ในถาดทองนั้น



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหาร

บ้านเมือง ไม่ตั้งมั่นในศีลธรรมรังเกียจกุลบุตร ผู้มีตระกูลใหญ่ผู้

สมบูรณ์ด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ แล้วไม่แต่งตั้ง

ยศตำแหน่งให้ แต่กลับแต่งตั้งให้แก่คนพาลผู้ชั่วช้าทั้งหลายให้

เป็นใหญ่



เมื่อเป็นเช่นนี้ตระกูลใหญ่ๆ ทั้งหลาย ไม่อาจจะประกอบธุรกิจ

เลี้ยงชีพอยู่ได้ จึงพากันยกกุลธิดาให้แก่คนพาลผู้ต่ำช้า

การอยู่ร่วมของคนพาลผู้ต่ำช้ากับกุลธิดาเหล่านั้นเหมือนถาดทอง

รองปัสสาวะสุนัขจิ้งจอกฉะนั้น



ข้อ 7 บุรุษคนหนึ่งฟั่นเชือก แล้วหย่อนไปที่ใกล้เท้านางสุนัขจิ้งจอก

ผอมโซตัวหนึ่ง ที่อยู่ใต้ตั่งที่บุรุษหนึ่ง มันกัดกินเชือกนั้น โดยบุรุษนั้นไม่รู้ตัว



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล หญิงสาวจะพากันมั่วสุมส่ำส่อน

กับผู้ชาย ลุ่มหลงในอบายมุขทั้งหลายเป็นคนทุศีล นางจะนำทรัพย์ของ

สามีที่หามาได้ ไปเสพสุรากับชายชู้ แม้ทรัพย์ที่เตรียมสำหรับลงทุนใน

กิจการ ก็นำไปผลาญใช้จ่ายบำเรอตน เป็นเหมือนนางสุนัขจิ้งจอกผอมโซ

ที่นอนใต้ตั่งคอยกัดกินเชือกที่เขาฟั่นแล้ว หย่อนลงไว้ใกล้ๆ เท้าฉะนั้น



ข้อ 8 ตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมลูกใหญ่ใบหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ประตูเมือง ล้อมด้วยตุ่มเป็น

อันมาก ชนทุกชั้นเอาหม้อตักน้ำมาจากทุกทิศ เทใส่ลงในตุ่มที่เต็มแล้ว

น้ำก็ไหลล้นออกไป คนทั้งหลายก็ยังเทน้ำลงในตุ่มที่เต็มแล้วอยู่เรื่อยๆ

ไม่มีใครสนใจในตุ่มที่ว่างเปล่าเลย



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล โลกจะเสื่อมเมืองเล็กเมืองน้อย

จะหมดความหมาย ทรัพย์สำรองของแผ่นดินจะถดถอยมีเหลือเพียง

เล็กน้อย ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง จะเกณฑ์ให้ชาวเมืองแสวงหาทรัพย์มาส่งให้กับผู้ปกครองเมืองใหญ่ๆ จะไม่มีใครสนใจทรัพย์ที่จะสำรองไว้ในบ้านเรือนของตน เป็นเหมือนกับ

การเติมน้ำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่เหลียวแลตุ่มเปล่าๆ บ้างเลยฉะนั้น



ข้อ 9 สระโบกขรณีสระหนึ่ง เต็มไปด้วยดอกบัว5สี ลึกมีท่าโดยรอบด้าน

สัตว์ทั้งหลายพากันลงดื่มน้ำในสระนั้นโดยรอบ น้ำที่อยู่ในที่ลึกกลางสระนั้น

ขุ่นมัว แต่น้ำในที่ซึ่งสัตว์ทั้งหลายพากันย่ำเหยียบกลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง

ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ลุอำนาจด้วยอคติ วินิจฉัยคดีโดยไม่เป็นธรรม

มุ่งหวังแต่สินบนขาดพรหมวิหารธรรมต่อประชาชนทั้งหลาย

เป็นผู้หยาบคาย กักขฬะ เบียดเบียนขูดรีดทรัพย์ของประชาชนใน

เมืองทั้งหลาย จนประชาชนต้องพากันทิ้งเมืองไปอยู่ในชนบท

สร้างถิ่นฐานในที่นั้น ในศูนย์กลางเมืองใหญ่ก็ว่างเปล่า

แต่ชนบทกลับเป็นปึกแผ่นเป็นเหมือนน้ำกลางสระโบกขรณีขุ่น

น้ำที่ฝั่งโดยรอบกลับใส่ฉะนั้น



ข้อ 10 ข้าวสุกที่คนหุงในหม้อเดียวกัน แต่สุกไม่ทั่วถึงกัน บางส่วนแฉะ

บางส่วนดิบ บางส่วนสุกดี



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล เมื่อผู้เป็นใหญ่ปกครอง

บริการบ้านเมืองไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม แม้ข้าราชการ คหบดี

ประชาชนก็จะไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม แม้เทวดาทั้งหลายก็เช่นกัน

จึงยังฝนให้ตกไม่สม่ำเสมอ บางที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมข้าวกล้า

เสียหาย บางที่แห้งแล้งฝนไม่ตกจนข้าวกล้าเหี่ยวแห้ง บางที่ฝนตกดี

ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ ข้าวกล้าที่หว่านในแผ่นดินเดียวกันจะเป็น 3 ส่วน

เหมือนข้าวสุกที่หุงในหม้อเดียวกัน มีผลเป็น3อย่างฉะนั้น



ข้อ11 คนทั้งหลายเอาแก่นจันทร์ ราคาเรือนแสน ขายแลกกับนมส้มเน่า



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล เมื่อศาสนาของตถาคตเสื่อมโทรม

พวกภิกษุอลัชชีเห็นแก่ปัจจัย จะมีมาก ภิกษุเหล่านั้นจะพากันแสดงธรรม

มีตถาคตเพื่อปัจจัย4 ไม่แสดงธรรมเพื่อนำให้ชนทั้งหลายพ้นจากกองทุกข์

มุ่งตรงพระนิพพาน ภิกษุทั้งหลายจะพากันนั่งตามสี่แยก

ท้องถนนแสดงธรรมแลกปัจจัย เอาธรรมที่ตถาคตแสดงไว้

มีค่าควรแก่พระนิพพานไปแลกปัจจัย4

จะเป็นเหมือนฝูงชนเอาแก่นจันทร์มีราคาเรือนแสนไปขายแลกนมส้มเน่าฉะนั้น



ข้อ 12 กะโหลกน้ำเต้าจมน้ำได้



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล เมื่อโลกหมุนไปถึงยุคเสื่อมผู้เป็นใหญ่

ปกครองบริหารบ้านเมือง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ไม่แต่งตั้ง ผู้สมบูรณ์ด้วย ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ แต่ไปแต่งตั้งแก่ผู้ทุศีลไห้เป็นใหญ่ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งหลายจะยากจนลง ถ้อยคำของ พวกทุศีลจะเป็นที่หน้าเชื่อถือทั้งในที่ประชุมของผู้ปกครองแผ่นดิน

ในที่สาธารณชน แม้ในที่โรงศาล แม้ในที่ประชุมสงฆ์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหมือนกะโหลกน้ำเต้าจะจมลงฉะนั้น



ข้อ 13 แท่งหินทึบก้อนใหญ่ลอยน้ำได้เหมือนเรือ



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล เมื่อผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหาร

บ้านเมือง เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม จะแต่งตั้งผู้ไม่มีศีลให้เป็นใหญ่

ชนพวกมีคุณทั้งหลายจะตกยาก ชนทั้งหลายจะพากันเคารพใน

พวกที่เป็นใหญ่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำของชนผู้เป็นบัณฑิตฉลาดในการวิจัย

จะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือในที่ประชุมของผู้ปกครองแผ่นดิน ในที่สาธารณชน

ในที่โรงศาล แม้ในที่ประชุมสงฆ์ก็เช่นกัน ถ้อยคำของภิกษุผู้มีศีลจะไม่

หนักแน่นมั่นคง ไม่เป็นที่เชื่อถือ เป็นเหมือนแท่งหินทึบที่ลอยน้ำได้ฉะนั้น



ข้อ14
ฝูงลูกเขียด วิ่งไล่กวดงูเห่าตัวใหญ่กัดเนื้อจนขาดเหมือนตัด

ก้านบัวแล้วกลืนกิน



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล เมื่อโลกเสื่อมโทรมลง

คนทั้งหลายมีราคะจริตแรงกล้า ปล่อยตัวปล่อยใจตามอำนาจกิเลส

หลงไหลยอมตนอยู่ในอำนาจของภรรยาผู้อ่อนวัย คนรับใช้บริวาร

ทรัพย์สินเงินทอง จะอยู่ในครอบครองของเธอ เมื่อสามีถามถึง

ทรัพย์สินเงินทองว่าเก็บไว้ที่ใด ก็จะถูกภรรยาผู้อ่อนวัยด่าทอด้วย

คำหยาบคาย ประดุจทิ่มตำด้วยหยกคือปาก กดขี่ไว้ในอำนาจเหมือน

ทาสและคนรับใช้ เพื่อรักษาความเป็นใหญ่ของตน

เหมือนฝูงลูกเขียดพากันกัดกินฝูงงูเห่าซึ่งมีพิษร้ายฉะนั้น



ข้อ15 ฝูงพญาหงส์ทอง พากันแวดล้อมกาผู้ประกอบด้วยความชั่ว

เที่ยวหากินตามหมู่บ้าน



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหาร

แผ่นดิน จะเป็นผู้ไม่ฉลาดในกิจการทั้งปวง แต่งตั้งพวกรับใช้ใกล้ชิด

สนิทสนมให้เป็นใหญ่ ผู้ที่สมบูรณ์คุณทั้งหลายเมื่อไม่ได้รับการอุ้มชู

สนับสนุน ก็จะพากันปรนนิบัติรับใช้ ผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย

เหมือนฝูงหงส์ทอง แวดล้อมเป็นบริวารฉะนั้น



ข้อ 16
ฝูงแกะพากันไล่กวดฝูงเสือเหลือง กัดกินกันอย่างมูมมาม

เสือดาว เสือโคร่งเพียงแค่เห็นฝูงแกะอยู่ห่างๆ ก็สะดุ้งกลัว พากันวิ่งหนี

หลบซ่อนเข้าในป่ารก



พุทธพยากรณ์ ในอนาคตกาล ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง

ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม จะได้ที่ปรึกษาเป็นคนละโมบ ทุศีล

ผู้เป็นใหญ่จะเชื่อฟังถ้อยคำของที่ปรึกษาเหล่านั้น แม้ในที่ประชุม

ในโรงศาล พวกที่ปรึกษาจะพากันรุกยึดเอาที่ดินทรัพย์สินของชนทั้งหลาย

หากมีผู้ใดโต้เถียงก็จะถูกลงโทษ ถูกข่มขู่ ชนทั้งหลายต่างต้องยอมตาม

กลับไปนอนหวาดผวาอยู่บ้านไปตามๆกัน แม้ภิกษุผู้ชั่วช้าทั้งหลาย

ก็จะพากันเบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักตามชอบใจ ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

เมื่อถูกเบียดเบียน ต่างก็พากันเข้าป่า หลบซ่อนอยู่ เป็นเหมือนฝูงเสือเหลือง

เสือดาว และเสือโคร่งทั้งหลายพากันหลบหนีเพราะกลัวฝูงแกะฉะนั้น



พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ

อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2512

มีใจความตอนหนึ่งว่า

“สิ่งสำคัญในการปกครองคือ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี

ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมี

ปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่

การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี

ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความวุ่นวายได้”



แม้พระบรมศาสดาก็ได้ตรัสรับรองไว้ว่า เหตุประการสุดท้ายที่จะทำให้ตระกูลบ้านเมืองตั้งอยู่ได้นาน

ไม่ล้มละลาย

ล่มสลายไปก่อนคือ ไม่ตั้งคนพาลเป็นหัวหน้า

หมายเลขบันทึก: 259901เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท