ร่วมอนุโมทนาบุญในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาวิสาขบูชา..


 

 

 

พระรัตนตรัย

สัญลักษณ์สูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ พระรัตนตรัยในฐานะที่เป็นองค์รวมสูงสุดแห่งมนุษย์ ธรรมชาติและสังคมเป็นแม่แบบแห่งความสมบูรณ์สูงสุด และเป็นองค์คุณธรรมที่สัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะเป็นแบบอย่างและเป็นอุดมคติชีวิต พิธีกรรมการแสดงถึงความเป็นพุทธศาสนิกชน ก็คือการปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยโดยการเปล่งวาจา 3 ครั้ง ดังนี้

1. พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า

2. ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า

3. สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า

พระรัตนตรัยแปลว่า ดวงแก้วอันประเสริฐ 3 ดวงคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึงอาจจำแนกอธิบายได้ดังนี้

ก. พระรัตนตรัยในฐานะสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

1. พระพุทธเจ้า

องค์แห่งพระรัตนตรัยที่ 1 คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงคุณลักษณะ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง พระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลหรือมนุษย์ในประวัติศาสตร์ พระนามว่าสิทธัตถะ ทรงเป็นราชโอรสของพระมหากษัตริย์ พระนามว่าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายาเผ่าพันธุ์ศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประสูติ ณ สวนลุมพินีวันในวันเพ็ญเดือน 6 ณ ชมพูทวิป อายุ 16 พรรษา อภิเษกสมรสกับพระนางสิริยโสธรา มีพระโอรส 1 พระองค์ พระนามว่า ราหุล

 

ประการที่สอง พระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ผู้มีตนอันพัฒนาสูงสุด และเป็นแม่แบบที่มนุษย์ทั้งปวงที่จะต้องถือไว้เป็นตัวอย่าง เพราะทรงมีพัฒนาการสูงสุดในความเป็นมนุษย์ โดยทรงคุณสมบัติ 9 ประการ กล่าวคือเป็นพระอรหันต์

1.         ตรัสรู้เองโดยชอบ

2.         ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

3.         เสด็จไปดีแล้ว

4.         เป็นผู้รู้แจ้งโลก

5.         เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า

6.         เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

7.         เป็นผู้มีโชค

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถย่นย่อได้ 3 อย่างคือ

1.         พระปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญาคือ ความรู้สัพพัญญูญาณ

2.         พระกรุณาคุณ ทรงคุณความดี คือความกรุณาในฐานะที่เป็นคุณธรรมที่ทำให้ความดีอื่น ๆ ทั้งหลาย และประโยชน์สุขเกิดขึ้นแก่คนอื่น

3.         พระวิสุทธิคุณ ทรงบริสุทธิ์ทั้งพระชาติ และความประพฤติทางกาย วาจา ใจ โดยทรงประกอบด้วย

วิมุติ

 

 

2. พระธรรม

พระธรรมคือความจริงที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้ผู้ค้นพบเป็นพุทธะ และถ้าเป็นผู้นำพระธรรมนั้นมาประกาศสั่งสอนผู้อื่น เผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ตามหรือตั้งศาสนาได้ เรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าค้นพบเอง แต่ถ้าไม่ได้เผยแพร่พระธรรมนั้นแก่คนอื่น เรียกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะไม่สามารถจะตั้งศาสนาได้ ถ้าเป็นผู้รู้ธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนนั้น เรียกว่าอนุพุทธหรือสาวก                                                                      

คุณของพระธรรมมี 6 อย่างคือ

1.) เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

2.) เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง

3.) เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกล (หรือกาลเวลา)

4.) เป็นธรรมอันควรเรียกให้มาดู (พิสูจน์ได้)

5.) เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน

6.) เป็นธรรมอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

ความหมายของพระธรรมอาจแยกได้ 5 ประการคือ

1.) ตัวธรรมชาติ คือ กลุ่มหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย

2.) ตัวกฎธรรมชาติ คือ กฎแห่งเหตุผล กฎแห่งกรรม เป็นต้น

3.) หน้าที่ตามธรรมชาติ คือ การทำหน้าที่ให้ผลอย่างตรงตัวและพันธกรณีในทิศทั้ง 6

4.) ผลที่เกิดจากหน้าที่ คือความสุข ทุกข์ บาป บุญ เกิดขึ้นตามการปฏิบัติทั้งในส่วนตัว และสังคมมีลักษณะเป็นธรรมาธิปไตย เพราะถือหลักการหรือธรรมเป็นใหญ่

5.) ธรรมวินัย คือคำแนะนำสั่งสอนและข้อบัญญัติห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดพลาด ทางกายวาจาใจ

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นคุณชาติที่ทำให้ปุถุชนผู้ปฎิบัติตามกลายเป็นพระอริยบุคคลมี 4 ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ พระธรรมมีวิมุติเป็นแก่น และความพ้นทุกข์เป็นรส

พระคัมภีร์รองรับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว เรียกพระไตรปิฎกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยระเบียบวินัยและศีล พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยหลักธรรมที่แสดงแก่บุคคลต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ และพระอภิธรรมปิฎกว่าด้วยองค์แห่งสภาวธรรมล้วน ๆไม่ปรารภบุคคลหรือสถานที่  พระธรรมทั้งปวงรวมเป็นสามอย่างคือ ปริยัติธรรม การศึกษาเล่าเรียน อันเป็นส่วนเบื้องต้น ปฏิบัติธรรม ได้แก่ความประพฤติตามธรรมที่ตนได้สดับมา และปฏิเวธธรรม คือผลของการปฏิบัติที่เรียกว่า อริยมรรค อริยผล มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น มีอรหันต์ผลเป็นที่สุด

 

3. พระสงฆ์

พระสงฆ์ คือผู้ที่เข้าถึงธรรมตามที่ทรงแสดง โดยอาศัยพระกรุณาคุณ ของพระพุทธเจ้าทำให้เข้าถึงธรรม มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นองค์แรก และต่อมาได้สำเร็จมรรคผล เรียกอริยสงฆ์ที่ยังไม่สำเร็จมรรคผลอย่างพระภิกษุทั่วไป เรียกว่าสมมติสงฆ์  เพราะท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าและเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตาม และได้สั่งสอนธรรมต่อมาจึงเป็นที่ควรเคารพนับถือ พระสงฆ์ คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติถูกต้อง ตรงกับพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้

พระสงฆ์คือ บุคคลที่เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว จะมีฐานะแตกต่างไปจากคฤหัสถ์หรือบุคคลทั่วไปถือเพศเป็นสมณะ ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มีหน้าที่ 2 ประการคือ

1. ทำหน้าที่ตนเอง คือการศึกษาพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และทรงบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมวินัยถูกต้องตามความเป็นจริง

2. หน้าที่ต่อสังคม พระสงฆ์นอกจากจะปฏิบัติในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วพระสงฆ์ในฐานะกัลยาณมิตรของสังคม มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ 6 ประการ กล่าวคือ

2.1) แนะนำอบรมชี้แจงให้เขาละเว้นความชั่ว

2.2) แนะนำสั่งสอนเชิญชวนให้เขาปฏิบัติดี

2.3) สงเคราะห์เขาด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตากรุณา มุ่งดี ปรารถนาดีต่อเขา

2.4) ให้เขาได้ยินได้ฟังเรื่องที่เขาไม่เคยได้ยินได้ฟัง

2.5) อธิบายสิ่งที่เขาได้ฟังมาแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจชัดเจนให้เข้าใจชัดเจน                                                                       

2.6) บอกทางสุข ทางเจริญ และทางสวรรค์แก่เขา

พระสงฆ์ทรงคุณลักษณะ 9 ประการ คือ

1. เป็นผู้ปฏิบัติดี มุ่งปฏิบัติชอบด้วยพระวินัย พัฒนาตนเองไปตามลำดับไม่เป็นข้าศึกต่อผู้อื่น พยายามขัดเกลาจิตใจ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนไปตามลำดับความสามารถของตน

2. เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือพยายามทำตนให้ตรงต่อคำสอนเหล่านั้น เป็นผู้ตรงต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อภารกิจการงานที่ต้องจัดต้องทำ

3. เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม คือ ปฏิบัติมุ่งให้สงบกาย วาจา ใจ จนถึงหลุดพ้นจากความทุกข์

4. เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ ปฏิบัติตามสมควรแก่สมรเพศ สมควรแก่ฐานะจนสามารถขจัดกิเลสได้โดยลำดับจนถึงหมดสิ้น

5. เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา คือ ปฏิบัติตนดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งหลาย

6. เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ เป็นผู้เมื่อประชาชนต้อนรับแล้ว ย่อมเกิดความสุขสบายใจคือประสบบุญ อันมีผลเป็นความสุขทั้งในปัจจุบันและกาลภายหน้าด้วย

7. เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน คือ เป็นผู้ปฏิบัติดีงามเหมาะสมเป็นรับทักษิณาทาน เพราะช่วยให้ทานที่เขาบริจาคมีผล มีอานิสงส์มาก

8. เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ เป็นผู้ปฎิบัติชอบ ควรแก่การประณมมือไหว้ท่านด้วยความเคารพ เป็นการแสดงความเคารพต่อท่านผู้มีคุณความดี

9. เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าเพราะคุณความดีองท่าน ดังกล่าวมาแล้ว เป็นเหมือนกับนาที่ดี ชาวโลกที่ต้องการความดีอันเป็นสุข ย่ิอมคบหาสมาคมเพราะความเป็นกัลยาณมิตรบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวงเมื่อเข้าสามาคมย่อมได้รับสิ่งที่เป็นกุศล และความสุขเต็มที่                                                                                             

ดังนั้น พระสงฆ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม

 

 

บทบาทของพระรัตนตรัย

1. พระรัตนตรัยในฐานะแม่แบบความสมบูรณ์สูงสุด

โลกและชีวิตเมื่อแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์กันแล้วจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

เมื่อทั้งสามส่วนทรงตัวอยู่อย่างสมดุลกัน โลกและชีวิตจึงดำเนินไปถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางแห่งส่วนทั้งสาม เพราะมนุษย์สามากระทำการต่าง  ๆ ได้อย่างอิสระ และกระทำทุกกอย่างด้วยเจตนา เลือกปฏิบัติต่อตนเองและส่วนอื่น ๆ ได้คุณค่าแห่งการกระทำของมนุษย์ จึงเกิดขึ้นมาบนมาตรฐานตัดสินว่า การกระทำอย่างใดถือว่า ดี กระกระทำอย่างใดถือว่า ไม่ดี หรือชั่ว ตรงกับคำว่าบุญหรือบาป

มนุษย์ประกอบขึ้นด้วยการกับจิต มีชีวิตดำเนินไปในท่ามกลางธรรมชาติและสังคม จึงกลายเป็นผู้มีพันธกรณี หรือหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้อง และนำสังคมอันเป็นผลรวมแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ไปอย่างกลมกลืน ซึ่งจะต้องพัฒนาตนเองก่อนส่วนอื่น ๆ

ธรรมชาติ คือสิ่งแวดล้อมตัวมนุษย์ หรือระบบนิเวศนั่นเอง เมื่อแยกมนุษย์ออกเป็นส่วนเฉพาะต่างหากแล้ว ส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมก็คือธรรมชาติ อันที่จริงธรรมขาติเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ เพราะมนุษย์ก็คือธรรมชาติ และต้องอิงอาศัยธรรมชาติอยู่อย่างมีอิทธิพลต่อกันไม่ยิ่งหย่อนกล่าวคือ ในภาคปฏิบัติมนุษย์ มนุษย์แม้จะเลือกกระทำต่อธรรมชาติได้แต่จำเป็นต้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความฉลาด ไม่ให้ธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ เพราะว่าเมื่อใดธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ ผลร้ายก็จะตามมากระทบมนุษย์และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สังคม คือ กลุ่มความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกันในหลายระบบ เช่น ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ความเชื่อ การศึกษา และวัฒนธรรม เป็นต้น ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มารวมกันนี้ ย่อมแสดงออกตามคุณภาพของจิตใจแต่ละคน มนุษย์ยิ่งอยู่รวมมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนแห่งความสัมพันธ์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้นและ                                                                                      แสดงตัวออมาในรูปธรรมในฐานะสถาบันต่าง ๆ เป็นจุดศูนย์ประสานโยงหน่วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกัน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา เป็นต้น รวมเรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม

มนุษย์ในฐานะเป็นส่วนที่มีการกำหนดบทบาทของตนได้ จะต้องทำหน้าที่ คือการประสานอย่างกลมกลืน ส่วนทั้ง 3 นี้ เมื่อเข้ามาผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละส่วนแล้ว จะทำให้เกิดผลดีและผลร้ายที่เรียกว่า ทำให้ขาดความสมดุลกันขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง มนุษย์จะต้องพัฒนาทุกส่วนในลักษณะองค์รวมอย่างเอกภาพ เพื่อบรรลุความสมบูรณ์สูงสุด

2. พระรัตนตรัยในฐานะองค์รวมสูงสุด

มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ตามที่กล่าวมาแล้ว มีส่วนสุดยอดตรงกันในแต่ละอย่าง องค์ที่ต่างกันกับ 3 ส่วนนั้นก็คือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธ ธรรมชาติเมื่อเราเข้าถึงแล้ว ตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์คือ ธรรมะ หรือพระธรรม และสังคมที่พัฒนาถึงขั้นอุดมคติแล้ว ก็เป็นหมู่ชนที่เรียกว่าพระสงฆ์

จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ก็คือองค์แห่งความสมบูรณ์ในระดับแห่งพัฒนาการสูงสุดแห่งส่วนทั้งสามของโลกและชีวิต กล่าวคือ พระพุทธเจ้าก็คือมนุษย์ผู้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว โดยได้ค้นพบพระธรรมแบะเปิดเผยแก่สังคม เพราะทรงมีการพัฒนาแล้ว 4 ด้าน กล่าวคือ

1. มีการพัฒนากายคือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ไม่เฉพาะพัฒนาร่างกายให้เข็มแข็งมีสุขภาพดี หรือพัฒนาทักษะเท่านั้น

2. มีการพัฒนาศีล คือการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เป็นการพัฒนาการในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม

3. มีจิตพัฒนา คือ พัฒนาการจิตใจให้เป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลสทั้งปวง (วิมุติ)

4. มีพัฒนาการทางปัญญา ที่เรียกว่าตรัสรู้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้พัฒนาตนที่สมบูรณ์ ได้ค้นพบธรรมะ และเปิดเผยธรรมแก่สังคมพระธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติที่เปิดเผยขึ้นโดย                                                                      การค้นพบ และประกาศของพระพุทธองค์ พระสงฆ์ คือสังคมมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วด้วยการปฏิบัติ หรือเข้าถึงธรรมตามอยางพระพุทธเจ้า ความเป็นเอกภาพของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นในลักษณะอิงอาศัยกัน ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมะก็ไม่ปรากฏ และสงฆ์ก็ไม่อาจจะพัฒนาให้เกิดสังฆะได้ถ้าไม่มีธรรมะ มนุษย์ก็ไม่พัฒนาเป็นพุทธะและสังฆะก็ไม่อาจเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสังฆะก็ไม่มีเครื่องยืนยันความเป็นพุทธและธรรมก็คงไม่ปรากฏอยู่ต่อไป แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปตามกฏปฏิจจสมุปบาท

3. พระรัตนตรัยในฐานะองค์ความสัมพันธ์ของโลกและชีวิต

ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับโลกและชีวิตอธิบายได้ดังนี้

1. พระพุทธเจ้าทรงพระคุณ 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ และพระบริสุทธิ์คุณ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคม คือ

ก. ทรงสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีปัญญารู้เข้าใจค้นพบความจริงในธรรมชาติ และได้ตัวธรรมะขึ้นมาด้วยปัญญาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระธรรมในพระรัตนตรัย

ข. การที่ทรงค้นพบธรรมะในธรรมชาติด้วยปัญญาคุณนั้น ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลส และความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ เป็นคุณสมบัติข้อที่สอง คือ พระปริสุทธิคุณประจำพระองค์

ค. เมื่อทรงค้นพบธรรมะก็กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วก็เกิดมีคุณธรรมต่าง ๆ ขึ้น คุณธรรมเหล่านี้แสดงออกต่อสังคมโดยผ่านคุณธรรมที่เป็นตัวนำ แสดงออกต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดพระสงฆ์มีรูปแบบอยู่ได้เพราะหลักการใหญ่ 3 ประการคือ

1. พระวินัย คือฐานและเป็นตัวควบคุมให้ก่อเป็นรูปสงฆ์ได้

2. สามัคคี คือ พลังยึดเหนี่ยว

3. กัลยาณมิตร คือ เนื้อหาของสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ในเมื่อเนื้อหาของสงฆ์ก็คือตัวบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์จึงเป็นแหล่งของกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมจะต้องเข้าพบหา แล้วก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมะ และมาร่วมกันเป็นสมาชิกของสงฆ์ต่อ ๆ ไป                                                                       

ดั้งนั้น หลักของสงฆ์จึงมีวินัยเป็นพื้นฐาน มีความสามัคคีเป็นพลังยึดเหนี่ยว แล้วมีกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ เป็นเนื้อหา กัลยาณมิตรธรรมคือ

3.1 น่ารัก คือเข้าใจถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนให้ผู้สมาคมอยากเข้าไปปรึกษาหารือ

3.2 น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

3.3 น่าเจริญใจ คือ ความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอเป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ผู้คบหาเอ่ยอ้าง และรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้งใจ มั่นใจและภาคภูมิใจ

3.4 รู้จักพูดให้ได้ผล คือ พูดเป็นรู้จักชี้แจงแสดงธรรมให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนเป็นที่ปรึกษาที่ดี

3.5 ทนต่อถ้อยคำ คือพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ซักถาม แม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ฟ อดทนฟังได้ไม่เชื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์

3.6 แถลงเรื่องสำคัญได้ คือกล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่กลิ้งซับซ้อนให้เข้าใจได้และนำประชาชนให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งขึ้นไป

3.7 ไม่ชักนำในอฐานะ คือไม่ชักจูงในทางเสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

4. พระรัตนตรัยสัมพันธ์กับมนุษย์

ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับมนุษย์สามารถอธิบายได้ดังนี้

มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าโดยที่ว่า พระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้มนุษย์เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนจนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ จึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นสัตว์ฝึกฝนได้ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้ ศรัทธาในองค์พระพุทธก็หมายถึงการศรัทธาในศักยภาพของตนเอง  (ตถาคตโพธิสัทธา) คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะซึ่งโยงความสามารถของตัวมนุษย์เองว่าด้วยมนุษย์เราสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพระพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์   

 

ภาพบรรยากาศงานปฏิบัติธรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาวิสาขบูชา

เมื่อวันที่ ๑- ๕ พฤษภาคม ที่วัดกลางเขาไชยราช ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย

จ.ประจวบคีรีขันธ์

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านในกาลทุกเมื่อเทอญ..ธรรมรักษา

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 259798เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการค่ะ

ได้อ่านบทความเหมือนได้รับรสพระธรรม ใจเบิกบาน

อีกทั้งภาพที่เหล่าศาสนิกชนร่วมกุศลเดินจงกลม เป็นสุขใจนัก

กราบลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ค่ะ

ธรรมสวัสดีโยม Krutoi

อนุโมทนาสาธุกับโยมด้วย

ธรรมรักษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท