บทบาท2


Role

                สำเริง  กล้าหาญ  (2549, หน้า 12) ได้รวบรวมทฤษฎีบทบาทและได้อธิบายโดยสรุปในแต่ละทฤษฎีไว้ ดังต่อไปนี้

                           1. ทฤษฎีของลินตัน (Linton’s role theory) บทบาท หมายถึง ตำแหน่งหรือสถานภาพเป็นตัวกำหนดบทบาท เช่น บุคคลที่มีตำแหน่งเป็นครูต้องแสดงพฤติกรรม  เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์

                                 2. ทฤษฎีของนาเดล (Nadel’s role theory) บทบาท หมายถึง ส่วนประกอบที่ส่งผลต่อพฤติกรรม 3 ลักษณะ คือ ส่วนประกอบที่ส่งเสริมบทบาท เช่น ครูต้องพูดเก่งหรือ  มีอารมณ์ขัน ส่วนประกอบที่มีผลสำคัญต่อบทบาทและขาดมิได้ เช่น เป็นแพทย์ต้องรักษาคนไข้  เป็นครูต้องสอนหนังสือ  และส่วนประกอบที่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ครูต้องเป็นสมาชิกคุรุสภา

                           3. ทฤษฎีของโฮแมน (Homan’s role theory) บทบาท หมายถึง บุคคล จะเปลี่ยนแปลงบทบาทไปตามตำแหน่งเสมอ เช่น ตอนกลางวันแสดงบทบาทสอนหนังสือเพราะมีตำแหน่งเป็นครู  ตอนเย็นแสดงบทบาทเรียนหนังสือเพราะมีตำแหน่งเป็นนิสิตภาคสมทบเป็นต้น

                           4. ทฤษฎีของพาร์สัน (Parson’s role theory) บทบาท หมายถึง บทบาทเป็นความสำคัญระหว่างมนุษย์ในสังคม ทำให้มนุษย์ต้องเพิ่มบทบาทของตนเช่น บุคคลที่มีเพื่อมากก็ต้องแสดงบทบาทมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

                           5.  ทฤษฎีของเมอร์ตัน (Merton’s role theory) บทบาท หมายถึง บุคคลแต่ละคนจะต้องมีตำแหน่งและมีบทบาทควบคู่กันไปซึ่งไม่เหมือนกัน  บทบาทมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับบทบาททางสังคมที่เขาสังกัดอยู่  ตลอดจนลักษณะของบุคคลในสังคมนั้น

                           6. ทฤษฎีของกู๊ด (Good’s role theory) บทบาท หมายถึง แบบแผนของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของแต่ละบุคคล และบทบาทดังกล่าวควรเป็นไปตามข้อตกลงที่มีต่อสังคมนั้นๆ และ

                           7. ทฤษฎีของกัสคิน (Guskin’s role theory) บทบาท หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลแต่ละคน คือ ผลที่ได้จากตำแหน่งทางสังคมของเขานั่นเอง และทฤษฎีบทบาทจัดเป็นข้อตกลงประการแรกที่สถาบันต่างๆ ในสังคมหวังว่าบุคคลที่ได้รับตำแหน่งต่างๆ    ควรปฏิบัติอย่างไร

                     จากที่นักทฤษฎีทั้งหลายกล่าวมาสรุปได้ว่า ทฤษฎีบทบาท คือ การแสดงออกหรือการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ  และการปฏิบัติตามตำแหน่งตามสถานภาพที่ตนเองเป็นอยู่  ถ้าตำแหน่งหรือสถานภาพเปลี่ยนแปลงไปบทบาทที่มีอยู่ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

                   3.  ความสำคัญ

                     บทบาทมีความสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลที่มีผลกระทบ  มีคุณค่าหรือมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น  เริ่มตั้งแต่เกิดมา  และดำรงชีวิตอยู่ในสังคม  ล้วนมีบทบาทแตกต่างกันไปหลายสถานะ  นักการศึกษาได้กล่าวถึงความสำคัญของบทบาทไว้ ดังต่อไปนี้

           ชาญ  สีหราช  (2542, หน้า 23-25) กล่าวถึง สเตเฟน (Stephen) ได้กำหนดความสำคัญบทบาทของคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ 17 บทบาท ได้แก่

                 1. บทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทาง (direction setter) หมายถึง การเป็น  ผู้กำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษา  เพื่อเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา

                 2. บทบาทเป็นผู้กระตุ้นความเป็นผู้นำ (leader catalyst) หมายถึง การเป็นผู้นำในงานด้านต่างๆ ของสถานศึกษา  เป็นผู้มีอิทธิพลและจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตาม

                 3. บทบาทเป็นนักวางแผน (planner) เป็นแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ร่วมกับกรรมการสถานศึกษา

                     4. บทบาทเป็นผู้ตัดสิน (decision maker) เป็นผู้ตัดสินใจต่อการบริหารงานในสถานศึกษา

                 5. บทบาทเป็นนักจัดองค์การ (organizer) เป็นผู้กำหนดโครงสร้าง        การบริหารงานในสถานศึกษา

                 6. บทบาทเป็นผู้จัดการเปลี่ยนแปลง  (change manager) เป็นผู้นำ         การเปลี่ยนแปลงการจูงใจในการเปลี่ยนแปลง

                     7. บทบาทเป็นผู้ประสานงาน (coordinator) เป็นผู้ที่บุคลากรในสถานศึกษาติดต่อ และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

                     8. บทบาทเป็นผู้สื่อสาร (communicator) เป็นผู้ที่บุคลากรในสถานศึกษาติดต่อและประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

                 9. บทบาทเป็นผู้แก้ความขัดแย้ง (conflict manager) เป็นผู้คอยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลและกลุ่มภายในสถานศึกษา

                     10. บทบาทเป็นผู้แก้ปัญหา (problem manager) เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสถานศึกษา

                 11. บทบาทเป็นผู้จัดระบบงาน (system manager) เป็นผู้นำในการจัดระบบงานและการพัฒนาสถานศึกษา

                 12. บทบาทเป็นผู้บริหารการเรียนการสอน  (instructional manager)เป็นผู้นำด้านวิชาการ  การจัดการเรียนการสอน  และการบริหารหลักสูตรในสถานศึกษา

                 13. บทบาทเป็นผู้บริหารบุคคล (personnel manager) เป็นผู้สรรหา  คัดเลือก  รักษา  และพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา

                 14. บทบาทเป็นผู้บริหารทรัพยากร (resource manager) เป็นผู้นำทรัพยากรทั้งทรัพย์สินสิ่งของและบุคคล  มีใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูง

                 15. บทบาทเป็นผู้ประเมินผล (appraiser) เป็นผู้ประเมินผลการทำงาน  และโครงการต่างๆ ของสถานศึกษา

                 16. บทบาทเป็นประธานในพิธี  (ceremonial head) เป็นผู้นำทางด้านการจัดการและพิธีต่างๆ ของหน่วยงานทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานที่  และ

                 17. บทบาทเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน (public relater) เป็นผู้นำในการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก  การประชาสัมพันธ์  การติดต่อประสานงาน  รวมทั้งการให้บริการแก่หน่วยงานอื่นๆ

           ดิอุทส์  และเคร้วส์  (Deutsch  & Krauss, 1965, p. 405) มีความเห็นว่า บทบาทมีความสำคัญสิ่งต่างๆ 4 ด้าน ได้แก่

                     1. บทบาททางเพศ (sex roles) เป็นบทบาทที่สำคัญมาก เพศมีความสัมพันธ์ต่อสภาพสังคมโดยทั่วไป ทั้งเพศหญิงและเพศชาย เริ่มตั้งแต่มีการกำหนดหน้าที่กัน         ตามธรรมชาติ  เพศหญิงมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นแม่ เพศชายมีบทบาทสำคัญในการเป็นพ่อ  และการเป็นผู้นำของครอบครัว ในบางสังคมนั้นอาจจะเป็นการกีดกันทางเพศ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญทางเพศลดลง

                 2. บทบาทเกี่ยวพันทางเครือญาติ  (kinship roles)  เนื่องจากสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน  มีการเคารพนับถือภายในเครือญาติ  แต่ละคนมีบทบาทแตกต่างกันไป  ทำให้เกิดอิทธิพลในการเคารพเชื่อถือ  และเชื่อฟังกันและกัน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก เป็นต้น

                     3. บทบาททางสังคม  (social roles) เป็นบทบาทหรือหน้าที่ที่สังคมกำหนดขึ้นไว้ให้บุคคลในสถานภาพต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติหรือคาดหมายว่าจะปฏิบัติ  โดยมีปทัสถานทางวัฒนธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน  ฉะนั้นเมื่อบุคคลจะมีการเกี่ยวข้องกัน ทุกคนจึงควรจะได้เรียนรู้และปฏิบัติตามปทัสถานทางวัฒนธรรม  แต่ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม  ก็จะต้องมีการบังคับหรือลงโทษ  เพื่อความสงบสุขของสังคมส่วนใหญ่ต่อไป และ

                 4. บทบาททางอาชีพ  (occupation roles)  เป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุด  ที่จะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้  และจะอยู่ได้อย่างมีความสุข  ผู้แสดงบทบาทจะต้องคำนึงถึงขอบเขต  และหลักการสำคัญของอาชีพนั้น เช่น กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ  จรรยาบรรณ และกฎหมาย เป็นต้น

                     จากที่นักการศึกษากล่าวมาสรุปได้ว่า ความสำคัญของบทบาท  ได้แก่ บทบาทมีความสำคัญต่อสถานภาพ การดำรงชีวิต การดำเนินกิจกรรมของสังคม การสร้างองค์กร    ในด้านต่างๆ เช่น ด้านหน้าที่ของเพศ  ความเกี่ยวพันทางเครือญาติ ความเกี่ยวข้องทางสังคม  การดำเนินอาชีพ ความเป็นผู้นำองค์กร ความสำเร็จขององค์กร และความเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพล้วนแต่เกิดจากความสำคัญของบทบาท

       4.  องค์ประกอบ

            อรุณ  รักธรรม  (2526, หน้า 18) กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญของบทบาท  ประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

                 1. บทบาทที่คาดหวัง มี 2 ลักษณะคือ บทบาทที่ถูกคาดหวัง (prescribed role) เป็นบทบาทที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ และบทบาทตามที่คาดหวัง (role expectation) เป็นบทบาทที่สังคมคาดหวังหรือคนในสังคมกำหนดขึ้น (enacted  role) หรือบทบาทในอุดมคติ (the  social  prescribed or ideal  role) ที่มีกำหนดสิทธิหน้าที่ตามตำแหน่งในสังคมให้บุคคลปฏิบัติ

                 2. บทบาทที่รับรู้จากตำแหน่ง (subjective role) หรือบทบาทที่ควรกระทำ (perceived  role) หรือบทบาทที่องค์กรกำหนด (role  prescription) เป็นบทบาทที่คนรับรู้ และเชื่อว่าควรกระทำตามตำแหน่งที่ได้รับหรือตามขอบเขตรับผิดชอบที่องค์กรกำหนดให้ และ

                 3. บทบาทที่กระทำจริง (perform role) เป็นบทบาทที่บุคคลได้กระทำไปจริง  ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ  ความคาดหวัง  การรับรู้ของแต่ละบุคคล  ตลอดจนความกดดันและโอกาสในแต่ละสังคมในระยะเวลาหนึ่ง  รวมถึงบุคลิกภาพและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

                     จันทร์ฉาย  ปันแก้ว (2546, หน้า 10-11) ; สังคม  ศุภรัตนกุล  (2546, หน้า  28)  กล่าวถึง  องค์ประกอบของบทบาทไว้โดยอ้างถึงอัลพอร์ต (Allport, 1964, p. 184) ได้กล่าวไว้ว่า  การแสดงบทบาทของบุคคลนั้น  ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ  4 ประการ  ได้แก่

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 259735เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท